Main navigation

คนฉลาดเหมือนลิ้นรู้รสแกง

ว่าด้วย
ภิกษุชาวเมืองปาฐา
เหตุการณ์
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุชาวเมืองปาฐา ประมาณ ๓๐ รูป (สหายภัททวัคคีย์)

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมคราวแรกในป่าไร่ฝ้ายแก่สหาย ๓๐ ผู้แสวงหาหญิงอยู่ ในกาลนั้น สหายทั้งหมดถึงความเป็นเอหิภิกขุ เมื่อเวลาผ่านไป ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระศาสดาอีก ฟังอนมตัคคธรรมเทศนา ดังนี้ว่า

สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ

เหมือนอย่างว่า บุรุษตัดทอนหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้ว พึงกระทำให้เป็นมัด ๆ ละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่า นี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเรา โดยลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่า หญ้าไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป

ข้อนั้นเพราะสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน

ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้

ภิกษุเหล่านั้นก็บรรลุพระอรหัต ณ อาสนะนั้นนั่นเอง

ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาว่า น่าอัศจรรย์หนอ ภิกษุเหล่านี้รู้แจ้งธรรมทันที

พระศาสดาทรงสดับกถานั้นแล้ว ตรัสว่า ไม่ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ในกาลก่อน ภิกษุเหล่านี้เป็นนักเลง เป็นสหายกันประมาณ ๓๐ คน ฟังธรรมเทศนาของสุกร ชื่อมหาตุณฑิละ ในตุณฑิลชาดก รู้แจ้งธรรมได้ฉับพลันทีเดียว สมาทานศีล ๕ แล้ว เพราะอุปนิสัยนั้นนั่นเอง เขาเหล่านั้น จึงบรรลุพระอรหัต ณ อาสนะที่ตนนั่งแล้วทีเดียวในกาลบัดนี้

ตุณฑิลชาดก ว่าด้วย ธรรมเหมือนน้ำ บาปธรรมเหมือนเหงื่อไคล

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้ถือปฏิสนธิในท้องของแม่สุกร แม่สุกรคลอดลูก ๒ ตัว วันหนึ่งได้พาลูก ๒ ตัวนั้นไปนอนที่หลุมแห่งหนึ่ง ครั้งนั้น หญิงชราคนหนึ่งเก็บฝ้ายได้เต็มกระบุงจากไร่ฝ้าย แม่สุกรได้ยินเสียงนั้นแล้วกลัวตาย จึงทิ้งลูกน้อยหนีไป

หญิงชราเห็นลูกสุกรคิดว่าเป็นลูก จึงเอาใส่กระบุงไปสู่เรือน แล้วตั้งชื่อตัวพี่ว่า มหาตุณฑิละ ตัวน้องว่า จุลตุณฑิละ เลี้ยงมันเหมือนลูก

ในเวลาต่อมา มันเติบโตขึ้น มีร่างกายอ้วน หญิงชราถูกทาบทามให้ขายหมูเหล่านี้ นางก็บอกว่านี่ลูกของตน แล้วไม่ให้ใคร

วันหนึ่ง เป็นวันมหรสพ พวกนักเลงดื่มสุรากันอยู่ เมื่อเนื้อหมด จึงพากันถือเหล้าไปที่บ้านหญิงชรา แล้วพูดขอให้ขายสุกรตัวหนึ่งแก่พวกเขา หญิงชรานั้น ปฏิเสธว่า จะขายให้คนที่จะกินลูกของตนไม่ได้หรอก

พวกนักเลงแม้จะอ้อนวอนแล้วอ้อนวอนเล่า ก็ไม่ได้สุกร จึงให้หญิงชราดื่มสุรา เมื่อนางเมาแล้ว ก็พูดให้หญิงชราเอาเงินไป แล้วขายหมูให้พวกตน

หญิงชรารับเงินแล้ว พูดว่าไม่อาจให้สุกรชื่อมหาตุณฑิละได้ ให้เอาจุลตุณฑิละไป

หญิงชราจัดซื้อข้าวเทไว้เต็มรางข้าวเพื่อเรียกจุลตุณฑิละ แล้วยืนอยู่ใกล้ ๆ ราง ส่งเสียงเรียกลูกจุลตุณฑิละ นักเลงประมาณ ๓๐ คน ถือบ่วงยืนอยู่ ณ ที่นั้น

มหาตุณฑิละได้ยินเสียงนั้น แล้วคิดว่า ที่ผ่านมา แม่ตนไม่เคยร้องเรียกจุลตุณฑิละก่อนตน วันนี้คงจักมีภัยเกิดขึ้นแก่พวกตนแน่แท้ มหาตุณฑิละจึงเรียกจุลตุณฑิละมา แล้วบอกให้ไปดูว่าเรียกทำไม

เมื่อจุลตุณฑิละเห็นพวกนักเลงยืนอยู่ใกล้รางข้าว คิดว่า วันนี้พวกตนตายแน่

เมื่อถูกมรณภัยคุกคาม จึงหันกลับ ตัวสั่นไปหาพี่ชาย ไม่อาจจะยืนนิ่งอยู่ได้ ตัวสั่นหมุนไปรอบ ๆ

มหาสัตว์ได้ฟังเรื่องราวจากจุลตุณฑิละแล้ว พูดว่า

ธรรมดาแม่ของเราเมื่อเลี้ยงสุกรไว้ ย่อมเลี้ยงเพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์อันนั้นของท่านถึงที่สุดแล้วในวันนี้ น้องอย่าคิดมากเลย จะสะดุ้งหัวหมุนไปไย เจ้าประสงค์จะหลีกหนีไป เจ้าไม่มีผู้ต้านทาน จักไปไหน

น้องจุลตุณฑิละเอ๋ย เจ้าจงเป็นผู้ขวนขวายแต่น้อย กินไปเถิด พวกเราถูกเขาขุนเพื่อต้องการเนื้อ เจ้าจงลงสู่ห้วงน้ำที่ไม่มีโคลนตม ชำระล้างเหงื่อไคลทั้งหมด แล้วถือเอาเครื่องลูบไล้ใหม่ ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมามีกลิ่นหอมไม่ขาดสาย

มหาตุณฑิละมหาสัตว์รำลึกถึงบารมีทั้งหลาย แล้วทำเมตตาบารมีให้เป็นอารมณ์ ส่งเสียงดังไปทั่วนครพาราณสี ทั้งสิ้น ๑๒ โยชน์ ชาวนครพาราณสีตั้งแต่พระราชาและพระอุปราช เป็นต้น ได้พากันมาตามเสียง ฝ่ายผู้ไม่ได้มา อยู่ที่บ้านตนเองก็ได้ยิน ราชบุรุษทั้งหลายพากันถางพุ่มไม้ ปรับพื้นที่ให้เสมอแล้วเกลี่ยทรายลง ผู้ให้สุราแก่นักเลงทั้งหลายก็งดให้ พวกนักเลงพากันทิ้งบ่วงแล้ว ได้ยืนฟังธรรมกันทั้งนั้น ฝ่ายหญิงชราก็หายเมา

จุลตุณฑิละได้ยินคำนั้นแล้วคิดว่า วงศ์ของพวกตนไม่มีการลงสระโบกขรณีแล้วอาบน้ำชำระล้างเหงื่อไคลออกจากร่างกาย การนำเอาเครื่องลูบไล้เก่าออกไป แล้วเอาเครื่องลูบไล้ใหม่ที่มีกลิ่นหอมฟุ้งลูบไล้ ไม่มีในกาลไหนเลย พี่ชายของตนพูดอย่างนี้ หมายถึงอะไรกันหนอ จึงถามว่า

ห้วงน้ำอะไรหนอที่ไม่มีโคลนตม
อะไรหนอเรียกว่าเหงื่อไคล
อะไรเรียกว่าเครื่องลูบไล้ใหม่
กลิ่นอะไรไม่ขาดหายมาแต่ไหนแต่ไร

พระมหาสัตว์ได้ยินคำถามนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถาว่า

ห้วงน้ำคือพระธรรมไม่มีโคลนตม
บาปเรียกว่าเหงื่อไคล
และศีลเรียกว่าเครื่องลูบไล้ใหม่
แต่ไหนแต่ไรมา กลิ่นของศีลนั้นไม่ขาดหายไป

เหล่าชนผู้ไม่รู้ ผู้ฆ่าสัตว์กินเป็นปกติ จะเพลิดเพลินใจ ส่วนผู้รักษาชีวิตสัตว์ ไม่ฆ่าสัตว์เป็นปกติ จะไม่เพลิดเพลินใจ

เมื่อวันเดือนเพ็ญมีพระจันทร์เต็มดวงแล้ว เหล่าชนผู้รื่นเริงใจอยู่เท่านั้น จึงจะสละชีพได้

มหาสัตว์แสดงธรรมด้วยเสียงอันไพเราะ ด้วยพุทธลีลาอย่างนี้แล้ว ชุมนุมชนมีการปรบมือและการชูผ้าจำนวนพัน ท้องฟ้าได้เต็มไปด้วยเสียงสาธุการ

พระเจ้าพาราณสีทรงบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยราชสมบัติ ประทานยศแก่หญิงชรา ทรงรับเอาสุกรทั้ง ๒ ตัวไว้ ทรงให้อาบด้วยน้ำหอม ให้ห่มผ้า ให้ไล้ทาด้วยของหอม เป็นต้น ให้ประดับแก้วมณีที่คอ แล้วทรงนำเข้าไปสู่พระนคร สถาปนาไว้ในตำแหน่งราชบุตร ทรงประคับประคองด้วยบริวารมาก

พระโพธิสัตว์ได้ให้ศีล ๕ แก่ข้าราชบริพาร ชาวนครพาราณสีและชาวกาสิกรัฐพากันรักษาศีล ๕ ศีล ๑๐ ทุกคน ฝ่ายมหาสัตว์ได้แสดงธรรมแก่ชนเหล่านั้นทุกวันปักษ์ นั่งในที่วินิจฉัยศาลพิจารณาคดี เมื่อมหาสัตว์นั้นยังมีชีวิตอยู่ ขึ้นชื่อว่าการโกง ไม่มีแล้ว

ในกาลต่อมาพระราชาสวรรคต ฝ่ายมหาสัตว์ให้ประชาชนถวายพระเพลิงพระสรีระพระองค์ แล้วให้จารึกคัมภีร์วินิจฉัยคดีไว้ บอกให้ชนทั้งหลายต้องดูคัมภีร์นี้พิจารณาคดี แล้วแสดงธรรมแก่มหาชน โอวาทด้วยความไม่ประมาท เข้าป่าไปพร้อมกับจุลตุณฑิละ ทั้ง ๆ ที่คนทั้งหมดพากันร้องไห้และคร่ำครวญอยู่นั่นเอง โอวาทของพระโพธิสัตว์ครั้งนั้น เป็นไปถึง ๖ หมื่นปี

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะ แล้วทรงประชุมชาดกว่า

พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็น พระอานนท์
นักเลง ๓๐ คนนั้น ได้เป็นภิกษุเหล่านี้
ส่วนมหาตุณฑิละ คือ เราตถาคต 

แล้วตรัสพระคาถาว่า

ถ้าวิญญูชนเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิต แม้ครู่เดียว เขาย่อมรู้แจ้งธรรมได้ฉับพลัน เหมือนลิ้นรู้รสแกง

ในกาลจบเทศนา ภิกษุเป็นอันมากบรรลุพระอรหัตแล้ว ดังนี้แล

 

 

 

อ่าน :
ภิกษุชาวเมืองปาฐา พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๑ หน้าที่ ๑๙๒ - ๑๙๓
ติณกัฏฐสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๒๑
อรรถกถา ตุณฑิลชาดก พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๕๙ หน้าที่ ๑๓๗ - ๑๔๙
 

 

อ้างอิง
คาถาธรรมบท พาลวรรค และอรรถกถาเรื่อง ภิกษุชาวเมืองปาฐา
ลำดับที่
10

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ