ปัญญาเพียงดังปราสาท
วันหนึ่ง พระมหากัสสปเถระอยู่ในปิปผลิคูหา เที่ยวไปบิณฑบาต ภายหลังภัต นั่งเจริญอาโลกกสิณ ตรวจดูสัตว์ทั้งหลายผู้ประมาทแล้วและไม่ประมาทแล้วซึ่งจุติและเกิดในที่ทั้งหลาย มีในน้ำ บนแผ่นดิน และภูเขาเป็นต้น อยู่ ด้วยทิพยจักษุ
พระศาสดาประทับนั่งในพระเชตวันนั่นแล ทรงตรวจดูด้วยทิพยจักษุ ทรงทราบว่าพระเถระตรวจดูการจุติและการเกิดของสัตว์ทั้งหลายอยู่ จึงตรัสว่า
ชื่อว่าการจุติและการเกิดแห่งสัตว์ทั้งหลาย แม้พุทธญาณไม่ทรงกำหนด ใคร ๆ ไม่สามารถจะทำการกำหนดสัตว์ทั้งหลายผู้ถือปฏิสนธิในท้องของมารดา อันมารดาบิดายังไม่ทันรู้ก็จุติเสียแล้วได้ การรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์เหล่านั้นไม่ใช่วิสัยของพระเถระ วิสัยของท่านมีประมาณน้อย ส่วนการรู้การเห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้จุติและเกิดอยู่โดยประการทั้งปวง เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น
แล้วทรงแผ่พระรัศมีไป ประหนึ่งว่าประทับนั่งอยู่ในที่เฉพาะหน้า ตรัสพระคาถานี้ว่า
เมื่อใด บัณฑิตบรรเทาความประมาท ด้วยความไม่ประมาท เมื่อนั้น บัณฑิตนั้นขึ้นสู่ปัญญาเพียงดังปราสาท ไม่เศร้าโศก ย่อมพิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้มีความเศร้าโศก
ปราชญ์ย่อมพิจารณาเห็นคนพาลทั้งหลายได้ เหมือนคนผู้ยืนอยู่บนยอดเขา มองเห็นชนผู้ยืนอยู่บนพื้นดินได้
ในกาลจบคาถา ชนเป็นอันมากกระทำให้แจ้งแล้วซึ่งพระอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล
อ่าน
คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรค
อรรถกถาเรื่อง พระมหากัสสปเถระ