Main navigation

ก่อนสอนผู้อื่น

ว่าด้วย
พระอุปนันทศากยบุตร
เหตุการณ์
พระศาสดา ประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระอุปนันทศากยบุตร

พระอุปนันทศากยบุตรเถระนั้นฉลาดกล่าวธรรมกถา ภิกษุเป็นอันมากฟังธรรมกถาอันปฏิสังยุตด้วยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยของท่านแล้ว จึงบูชาท่านด้วยจีวรทั้งหลาย สมาทานธุดงค์ พระอุปนันทะนั้นรูปเดียวรับเอาบริขารที่ภิกษุเหล่านั้นสละแล้ว

เมื่อฤดูฝนใกล้เข้ามา ท่านได้ไปสู่ชนบท ภิกษุหนุ่มและสามเณรในวิหารแห่งหนึ่งกล่าวขอให้ท่านเข้าพรรษาในที่นี้ด้วยความรักในธรรมกถึก

พระอุปนันทะถามว่าในวิหารนี้ได้ผ้าจำนำพรรษากี่ผืน พวกภิกษุตอบว่าได้ผ้าสาฎกองค์ละผืน พระเถระจึงวางรองเท้าไว้ในวิหารนั้น

ได้ไปถึงวิหารที่ ๒ แล้วถามว่า วิหารนี้ภิกษุทั้งหลายได้อะไร พวกภิกษุตอบว่า ได้ผ้าสาฎก ๒ ผืน พระเถระจึงวางไม้เท้าไว้

ถึงวิหารที่ ๓ ถามว่า ในวิหารนี้ ภิกษุทั้งหลายได้อะไร พวกภิกษุตอบว่า ได้ผ้าสาฎก ๓ ผืน พระเถระจึงวางลักจั่นน้ำไว้  

เมื่อถึงวิหารที่ ๔ ถามว่าในวิหารนี้ ภิกษุทั้งหลายได้อะไร พวกภิกษุตอบว่า ได้ผ้าสาฎก ๔ ผืน พระเถระกล่าวว่า ท่านจักอยู่ที่นี้ จึงได้เข้าพรรษาในวิหารนั้น กล่าวธรรมกถาแก่คฤหัสถ์และภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์และภิกษุเหล่านั้นบูชาท่านนั้นด้วยผ้าและจีวรเป็นอันมาก

เมื่อออกพรรษา พระเถระส่งข่าวไปในวิหารก่อนหน้าว่า ท่านควรได้ผ้าจำนำพรรษา เพราะท่านวางบริขารไว้ ให้ภิกษุทั้งหลายจงส่งผ้าจำนำพรรษาให้ท่าน เมื่อได้ผ้าจำนำพรรษาทั้งหมดแล้ว บรรทุกยานน้อยขับไป

ครั้งนั้น ภิกษุหนุ่ม ๒ รูปในวิหารแห่งหนึ่งได้ผ้าสาฎก ๒ ผืนและผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ไม่อาจจะแบ่งกันได้ นั่งทะเลาะกันอยู่ใกล้หนทาง ภิกษุหนุ่ม ๒ รูปนั้น เห็นพระเถระเดินมา จึงขอท่านช่วยแบ่งให้เพราะไม่สามารถแบ่งกันเองได้ พระเถระถามว่าพวกท่านจักตั้งอยู่ในคำของท่านหรือ

ภิกษุนั้นตอบว่า พวกเขาจักตั้งอยู่

พระเถระกล่าวว่า ดีละ แล้วได้ให้ผ้าสาฎก ๒ ผืนแก่ภิกษุหนุ่ม ๒ รูปนั้น แล้วกล่าวว่าผ้ากัมพลผืนนี้เป็นผ้าห่มของเราผู้กล่าวธรรมกถา แล้วถือเอาผ้ากัมพลมีค่ามากหลีกไป

พวกภิกษุหนุ่มเป็นผู้เดือดร้อน ไปสู่สำนักพระศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้น

บุรพกรรมของพระอุปนันทะ

พระศาสดาตรัสว่าอุปนันทะถือเอาของ ๆ พวกเธอ กระทำให้พวกเธอเดือดร้อนในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็ได้ทำแล้วเหมือนกัน

แล้วทรงนำอดีตนิทานมาว่า

ในอดีตกาล นาก ๒ ตัว คือนากเที่ยวหากินตามริมฝั่ง ๑ นากเที่ยวหากินทางน้ำลึก ๑ ได้ปลาตะเพียนตัวใหญ่ ถึงความทะเลาะกันว่า ศีรษะจงเป็นของเรา หางจงเป็นของท่าน เมื่อไม่อาจจะแบ่งกันได้ เห็นสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง จึงขอสุนัขจิ้งจอกช่วยแบ่งปลานี้ให้แก่พวกเขา

สุนัขจิ้งจอกกล่าวว่า เราเป็นผู้ที่พระราชาตั้งไว้ในตำแหน่งผู้พิพากษา เรานั่งในที่วินิจฉัยนั้นนานแล้ว จึงมาเสียเพื่อต้องการเดินเที่ยวเล่น นี่ไม่ใช่เวลาของเราที่จะต้องวินิจฉัย

นากได้ร้องขอให้สุนักจิ้งจอกโปรดช่วยแบ่งให้พวกเขาเถิด

สุนักจิ้งจอกกล่าวว่า พวกเจ้าจักตั้งอยู่ในคำของเราหรือ นากกล่าวว่า พวกเขาจักตั้งอยู่

สุนักจิ้งจอกจึงกล่าวว่า ดีละ และได้ตัดทางหัวไว้ข้างหนึ่ง ทางหางไว้ข้างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า

ตัวใดเที่ยวไปริมฝั่ง ตัวนั้นจงได้ทางหาง ตัวใดเที่ยวไปในน้ำลึก ศีรษะจงเป็นของตัวนั้น ส่วนท่อนกลางนี้จักเป็นของเรา ซึ่งเป็นผู้วินิจฉัย

แล้วคาบเอาท่อนกลางหลีกไป แม้นาคทั้งสองนั้นเดือดร้อน ได้ยืนแลดูสุนัขจิ้งจอกนั้น

ครั้นทรงแสดงอดีตนิทานแล้ว ตรัสว่า  แม้ในอดีต อุปนันทะนี้ได้กระทำพวกเธอให้เดือดร้อนอย่างนี้เหมือนกัน แล้วได้ตรัสว่าธรรมดาผู้จะสั่งสอนผู้อื่น พึงให้ตนตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อนทีเดียว

แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า

บัณฑิตพึงตั้งตนนั่นแลในคุณอันสมควรก่อน พึงสั่งสอนผู้อื่นในภายหลัง จะไม่พึงเศร้าหมอง

บุคคลใดประสงค์จะสั่งสอนผู้อื่น ด้วยคุณมีความปรารถนาน้อยเป็นต้น หรือด้วยปฏิปทาของอริยวงศ์เป็นต้น บุคคลนั้นพึงยังตนให้ตั้งอยู่ในคุณนั้นก่อน ครั้นตั้งตนไว้อย่างนั้นแล้ว พึงสั่งสอนผู้อื่นด้วยคุณนั้นในภายหลัง

ด้วยว่าบุคคลเมื่อไม่ยังตนให้ตั้งอยู่ในคุณนั้น สอนผู้อื่นอย่างเดียวเท่านั้น ได้ความนินทาจากผู้อื่นแล้ว ชื่อว่าย่อมเศร้าหมอง

บุคคลเมื่อยังตนให้ตั้งอยู่ในคุณนั้นแล้ว สั่งสอนผู้อื่นอยู่ ย่อมได้รับความสรรเสริญจากผู้อื่น เพราะฉะนั้น ชื่อว่าย่อมไม่เศร้าหมอง

บัณฑิตเมื่อทำอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าไม่พึงเศร้าหมอง

ในกาลจบเทศนา ภิกษุสองรูปนั้นดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล เทศนาได้เป็นไปกับด้วยประโยชน์แม้แก่มหาชน

 

 

อ่าน
คาถาธรรมบท อัตตวรรค
อรรถกถาเรื่อง พระอุปนันทศากยบุตร

 

อ้างอิง
คาถาธรรมบท อัตตวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๒๒/๒๕ และอรรถกถาเรื่อง พระอุปนันทศากยบุตร พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๒ หน้าที่ ๑๙๕-๑๙๙
ลำดับที่
15

สถานที่

วิหารเชตวัน

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ