Main navigation

มิจฉาวายามะ

ว่าด้วย
ภิกษุมีภัณฑะมาก
เหตุการณ์
พระศาสดา ประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้มีภัณฑะมาก

กุฎุมพีชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่ง เมื่อภรรยาของเขาเสียชีวิต จึงคิดจะบวช เขาให้สร้างบริเวณเรือนไฟและห้องเก็บภัณฑะเพื่อตน บรรจุห้องเก็บภัณฑะทั้งหมดให้เต็มด้วยวัตถุทั้งหลาย มีเนยใสและน้ำมันเป็นต้นแล้ว จึงบวช ครั้นบวชแล้ว เรียกพวกทาสของตนมาหุงต้มอาหารตามที่ตนชอบใจ แล้วบริโภค ได้เป็นผู้มีภัณฑะมากและมีบริขารมาก ผ้านุ่งผ้าห่มในราตรีมีชุดหนึ่ง กลางวันมีอีกชุดหนึ่ง อยู่ในวิหารหลังสุดท้าย

วันหนึ่ง เมื่อภิกษุนั้นตากจีวรและผ้าปูที่นอนอยู่ ภิกษุทั้งหลายเดินเที่ยวจาริกไปตามเสนาสนะ เห็นจึงถามว่า จีวรและผ้าปูที่นอนเหล่านี้ของใคร ภิกษุนั้นได้ตอบว่า เป็นของตน

ภิกษุผู้ถามกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตจีวร เพียง ๓ ผืน ก็ท่านบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้มีความปรารถนาน้อยอย่างนี้ ทำไมจึงเป็นผู้มีบริขารมากอย่างนี้ แล้วได้นำภิกษุนั้นไปสู่สำนักพระศาสดา

พระศาสดาได้ทรงสอบถามแล้ว ตรัสว่า ก็เหตุไร เมื่อเราแสดงธรรมเพื่อความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยแล้ว เธอจึงกลับเป็นผู้มีภัณฑะมากอย่างนี้เล่า

ภิกษุนั้นโกรธ คิดว่า บัดนี้ เราจักเที่ยวไป โดยทำนองนี้ แล้วเปลื้องผ้าห่ม มีจีวรผืนเดียว ได้ยืนอยู่ในท่ามกลางบริษัท

พระศาสดา เมื่อจะทรงอุปถัมภ์ภิกษุนั้น จึงตรัสว่า ในกาลก่อน เธอแสวงหาหิริและโอตตัปปะ แม้ในกาลเป็นรากษสน้ำ ก็แสวงหาหิริโอตตัปปะอยู่ถึง ๑๒ ปี มิใช่หรือ แต่บัดนี้ ได้บวชในพระพุทธศาสนาที่เคารพอย่างนี้แล้ว เปลื้องผ้าห่ม ละหิริและโอตตัปปะ ยืนอยู่ในท่ามกลางบริษัท ๔ เพราะเหตุไร

ภิกษุนั้นฟังพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว กลับตั้งหิริและโอตตัปปะขึ้นได้ ห่มจีวรนั้น ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำอดีตนิทานเล่า

ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์พระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี ชนทั้งหลายขนานพระนามว่า มหิสสาสกุมาร พระกนิษฐภาดาของพระองค์ได้มีพระนามว่า จันทกุมาร เมื่อพระชนนีของพระราชกุมารทั้งสองนั้นสิ้นพระชนม์แล้ว พระราชาก็ทรงสถาปนาสตรีอื่นไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี พระนางประสูติพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง พระนามว่า สุริยกุมาร

พระราชาทอดพระเนตรเห็นสุริยกุมาร แล้วก็ทรงพอพระทัย ตรัสกับพระเทวีว่าเราให้พรแก่บุตรของเธอ ฝ่ายพระเทวีนั้นกราบทูลว่าตนจักรับพรในเวลาที่ต้องการ

ในกาลที่พระราชโอรสเจริญวัย จึงทูลพระราชาว่า พระองค์ได้พระราชทานพรไว้ในเวลาบุตรของพระนางประสูติ ขอพระองค์โปรดพระราชทานราชสมบัติแก่บุตรของพระนางเถิด

พระราชาทรงห้ามว่า บุตรทั้งสองของพระองค์กำลังรุ่งเรืองดุจกองไฟ เที่ยวไป ไม่อาจให้ราชสมบัติแก่สุริยกุมารนั้นได้ แต่ทรงเห็นพระนางยังขืนอ้อนวอนอยู่บ่อย ๆ จึงทรงดำริว่า พระนางจะพึงทำความฉิบหายแก่บุตร จึงรับสั่งให้เรียกพระราชโอรสทั้งสองมา ตรัสว่า ทรงได้ให้พรไว้ในเวลาสุริยกุมารประสูติ บัดนี้ มารดาของเขาทูลขอราชสมบัติ พ่อไม่อยากจะให้แก่เขาเลย มารดาของเขาจะพึงทำแม้ความฉิบหายแก่เจ้าทั้งสอง เจ้าจงไปอยู่ในป่า แล้วค่อยกลับมารับราชสมบัติในกาลที่พ่อล่วงไป”

ส่วนสุริยกุมารเล่นอยู่ที่พระลานหลวง เห็นพระราชกุมารทั้งสองถวายบังคมพระราชบิดาแล้วลงจากปราสาท ทราบเหตุนั้นแล้ว จึงออกไปกับพระราชกุมารเหล่านั้นด้วย

ในกาลที่พระราชกุมารเหล่านั้น ไปสู่หิมวันตประเทศ พระโพธิสัตว์เสด็จแยกออกจากทาง นั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง แล้วตรัสกะสุริยกุมาร ให้สุริยกุมารไปสู่สระนั่น อาบน้ำและดื่มน้ำ แล้วเอาใบบัวนำน้ำมาเพื่อพี่ทั้งสอง

ก็สระนั้น เป็นสระที่รากษสน้ำตนหนึ่งได้จากสำนักแห่งท้าวเวสวัณ และท้าวเวสวัณได้รับสั่งกะรากษสน้ำไว้ว่า เว้นชนผู้รู้เทวธรรมเท่านั้น ชนเหล่าอื่นลงสู่สระนี้ รากษสย่อมได้เคี้ยวกินชนเหล่านั้น ตั้งแต่นั้นมา รากษสน้ำนั้นจะถามเทวธรรมกะคนผู้ลงสู่สระนั้น แล้วย่อมเคี้ยวกินคนผู้ไม่รู้เทวธรรม

ฝ่ายสุริยกุมารได้ถูกรากษสนั้นถามว่า ท่านรู้เทวธรรมหรือ และสุริยกุมารตอบว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์ชื่อว่าเทวธรรม ลำดับนั้น รากษสกล่าวว่า ท่านไม่รู้เทวธรรม แล้วก็ฉุดลงน้ำไปพักไว้ในภพของตน

พระโพธิสัตว์เห็นสุริยกุมารนั้นช้าอยู่ จึงส่งจันทกุมารไป แม้จันทกุมารก็ถูกรากษสถามเช่นนั้นว่า ท่านรู้เทวธรรมหรือ และจันทกุมารได้ตอบว่า ทิศ ๔ ชื่อว่าเทวธรรม รากษสน้ำก็ฉุดแม้จันทกุมารนั้นลงน้ำไปพักไว้อย่างนั้นเหมือนกัน

แม้เมื่อจันทกุมารนั้นช้าอยู่ พระโพธิสัตว์จึงคิดว่า อันตรายจะพึงมี จึงไปเอง พระโพธิสัตว์ได้เห็นรอยเท้าของกุมารทั้งสอง ก็ทราบว่า สระนี้มีรากษสรักษา ท่านจึงสอดพระขรรค์ไว้ ถือธนูแล้วยืนคอยอยู่ รากษสเห็นพระโพธิสัตว์นั้นไม่ลงสู่สระ จึงแปลงเพศเป็นชายชาวป่า กล่าวว่า ท่านเดินทางอ่อนเพลีย ทำไมจึงไม่ลงสู่สระนี้ อาบน้ำ ดื่มน้ำ เคี้ยวกินเหง้าบัว ประดับดอกไม้

พระโพธิสัตว์พอเห็นก็ทราบว่า ผู้นี้เป็นยักษ์ จึงถามว่า ท่านจับเอาน้องชายทั้งสองไว้หรือ

รากษสตอบว่า จับไว้ เพราะตนเองได้รับอนุญาตให้กินผู้ที่ลงสู่สระนี้ เว้นผู้รู้เทวธรรม คนที่เหลือ ย่อมกินได้

พระโพธิสัตว์จึงกล่าวกะรากษสว่า ต้องการด้วยเทวธรรมหรือ ท่านจะกล่าวให้ฟัง แต่ตัวท่านสกปรก ไม่อาจกล่าวได้ รากษสได้ให้พระโพธิสัตว์อาบน้ำ ให้ดื่มน้ำอันควรดื่ม ตบแต่งแล้ว เชิญขึ้นสู่บัลลังก์ในท่ามกลางมณฑปอันแต่งไว้ ตัวเองหมอบอยู่แทบบาทมูลของพระโพธิสัตว์นั้น

พระโพธิสัตว์บอกให้รากษส จงฟังโดยเคารพ แล้วจึงตรัสพระคาถานี้ว่า

นักปราชญ์เรียกคนผู้ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะ ตั้งมั่นดีแล้วในธรรมขาว เป็นผู้สงบ เป็นสัตบุรุษในโลกว่า ผู้ทรงเทวธรรม

รากษสฟังธรรมเทศนานี้แล้ว เลื่อมใส จะให้น้องชายคนหนึ่ง จะนำคนไหนไป พระโพธิสัตว์ ขอให้นำน้องชายคนเล็กมา

รากษสจึงกล่าวว่า ท่านรู้เทวธรรมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ท่านไม่ประพฤติในเทวธรรมเหล่านั้น เพราะท่านให้นำน้องชายคนเล็กมา เว้นคนโตเสีย ย่อมไม่ชื่อว่าทำอปจายิกกรรมต่อผู้เจริญ

พระโพธิสัตว์ตรัสว่าทรงรู้ทั้งเทวธรรม ทั้งประพฤติในเทวธรรมนั้น เพราะอาศัยน้องชายคนเล็ก จึงต้องเข้าป่านี้ เหตุว่ามารดาของน้องชายคนเล็กทูลขอราชสมบัติกะพระราชบิดาของเราทั้งสองเพื่อประโยชน์แก่น้องชายนั้น

ก็พระบิดาของเราไม่พระราชทานพรนั้น ทรงอนุญาตการอยู่ป่าเพื่อประโยชน์แก่การตามรักษาเราทั้งสอง หากกุมารนั้นไม่กลับมากับพวกเรา เมื่อจะกล่าวว่ายักษ์ตนหนึ่งในป่าเคี้ยวกินน้องชายคนเล็กนั้น ใคร ๆ ก็จักไม่เชื่อ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าผู้กลัวต่อภัยคือการครหา จึงให้นำน้องชายคนเล็กนั้นผู้เดียวมาให้

รากษสเลื่อมใสต่อพระโพธิสัตว์ สรรเสริญว่าท่านทั้งรู้เทวธรรม ทั้งประพฤติในเทวธรรม จึงได้นำเอาน้องชายแม้ทั้งสองคนมาให้

พระโพธิสัตว์ตรัสพรรณนาโทษในความเป็นรากษสแล้ว ให้รากษสนั้นดำรงอยู่ในศีล ๕ พระโพธิสัตว์อยู่ในป่านั้น โดยความอารักขาของรากษส

เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว พระโพธิสัตว์พารากษสไปยังกรุงพาราณสี ครอบครองราชสมบัติ พระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่จันทกุมาร ตำแหน่งเสนาบดีแก่สุริยกุมาร โปรดให้สร้างที่อยู่ในรัมณียสถานแก่รากษส และได้ทรงทำโดยประการที่รากษสนั้นจะถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ

รากษสน้ำในกาลนั้นได้เป็นภิกษุผู้มีภัณฑะมาก
สุริยกุมาร เป็นพระอานนท์
จันทกุมาร เป็นพระสารีบุตร
มหิสสาสกุมาร ได้เป็นเรา ตถาคต

แล้วได้ตรัสว่า ในกาลก่อน เธอแสวงหาเทวธรรม ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะเที่ยวไปอย่างนั้น บัดนี้ เธอยืนอยู่โดยทำนองนี้ ในท่ามกลางแห่งบริษัท ๔ กล่าวอยู่ต่อหน้าเราว่า ฉันมีความปรารถนาน้อย ชื่อว่าได้ทำกรรมอันไม่สมควรแล้ว เพราะว่า บุคคลจะชื่อว่าเป็นสมณะ ด้วยเหตุสักว่า ห้ามผ้าสาฎก เป็นต้น ก็หามิได้

เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

การประพฤติเป็นคนเปลือย ก็ทำสัตว์ให้บริสุทธิ์ไม่ได้ การเกล้าชฎาก็ไม่ได้ การนอนเหนือเปือกตมก็ไม่ได้

การไม่กินข้าวก็ดี การนอนบนแผ่นดินก็ดี ความเป็นผู้มีกายหมักหมมด้วยธุลีก็ดี ความเพียรด้วยการนั่งกระหย่งก็ดี หาทำสัตว์ผู้ยังไม่ล่วงสงสัยให้บริสุทธิ์ได้ไม่


ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น

 

 

อ่าน
คาถาธรรมบท ทัณฑวรรค
อรรถกถาเรื่อง ภิกษุมีภัณฑะมาก

 

อ้างอิง
คาถาธรรมบท ทัณฑวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๒๐/๒๓ และอรรถกถาเรื่อง ภิกษุมีภัณฑะมาก พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๒ หน้าที่ ๑๐๔-๑๑๒
ลำดับที่
19

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ