Main navigation

โฆฏมุขสูตร

ว่าด้วย
โฆฏมุขพราหมณ์
เหตุการณ์
โฆฏมุขพราหมณ์กล่าวกับท่านพระอุเทนว่าการบวชอันชอบธรรมย่อมไม่มี ท่านพระอุเทนว่ามีความเห็นเช่นไร ท่านพระอุเทนแสดงธรรมแก่โฆฏมุขพราหมณ์ เมื่อแสดงธรรมจบโฆฏมุขพราหมณ์ขอเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยสรณะตลอดชีวิตและได้ขอสร้างวิหารถวายให้ท่านพระอุเทน ท่านไม่รับแต่ได้ให้จัดสร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตรด้วยเบี้ยเลี้ยงที่ตนได้รับประจำ โรงเลี้ยงนั้นเรียกว่าโฆฏมุขี

สมัยหนึ่ง ท่านพระอุเทนอยู่ ณ เขมิยอัมพวัน ใกล้เมืองพาราณสี พราหมณ์ชื่อว่าโฆฏมุขะไปหาท่านพระอุเทนและได้กล่าวความเห็นว่า การบวชอันชอบธรรมย่อมไม่มี แต่เพราะท่านพระอุเทนไม่เห็นข้อนั้น หรือไม่เห็นธรรมในเรื่องนี้

ท่านพระอุเทนกล่าวว่าถ้าโฆฏมุขพราหมณ์พึงยอมคำที่ควรยอม และพึงคัดค้านคำที่ควรคัดค้าน หากไม่พึงรู้เนื้อความแห่งภาษิตใด พึงซักถาม ก็จะการเจรจาปราศรัยในเรื่องนี้กันได้

บุคคล ๔ จำพวก

พระอุเทนกล่าวว่า มี บุคคล ๔ จำพวกนี้ ปรากฏอยู่ในโลกนี้ ได้แก่

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ๑

บางคนเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ๑

บางคนเป็นผู้ทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ขวนขวายในการทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ๑

บางคนไม่เป็นผู้ทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ขวนขวายในการทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ผู้นั้นเป็นผู้ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ ในปัจจุบัน ๑

แล้วถามพราหมณ์ว่า ในบรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ บุคคลไหนยังจิตของพราหมณ์ให้ยินดี และเพราะเหตุไร

โฆฏมุขพราหมณ์ตอบว่าบุคคล ๓ จำพวกแรกไม่ยังจิตตนให้ยินดี ส่วนบุคคลจำพวกที่ ๔ ยังจิตตนให้ยินดี เพราะบุคคล ๓ จำพวกแรกทำตนและผู้อื่นผู้รักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้เร่าร้อน ส่วนบุคคลจำพวกที่ ๔ ไม่ทำตนและผู้อื่นซึ่งรักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้เร่าร้อน

บริษัท ๒ จำพวก

แล้วกล่าวต่อไปว่า บริษัท ๒ จำพวก คือ

บริษัทพวกหนึ่งในโลกนี้ กำหนัดยินดีในแก้วมณีและกุณฑล ย่อมแสวงหาบุตรและภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงิน

ส่วนบริษัทพวกหนึ่งในโลกนี้ ไม่กำหนัดยินดีในแก้วมณีและกุณฑล ละบุตรและภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงิน แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต

แล้วถามว่าบุคคลผู้ไม่ทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ขวนขวายในการทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้เย็น เสวยความสุข มีตนเป็นดั่งพรหม เห็นอยู่ในบริษัทไหนมากกว่า

พราหมณ์ตอบว่ามีมากในบริษัทไม่กำหนัดยินดีในแก้วมณีและกุณฑล ละบุตรและภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงิน แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต

พระอุเทนจึงกล่าวว่าพราหมณ์ย่อมรู้แล้วว่าท่านพระอุเทนมีความเห็นในเรื่องการบวชอันชอบธรรมย่อมไม่มีอย่างไร

โฆฏมุขพราหมณ์กล่าวว่าวาจาที่ท่านอุเทนกล่าวนั้น เป็นวาจามีเหตุสนับสนุนการบวชอันชอบธรรมมีจริง และได้ขอให้จำแนกบุคคล ๔ จำพวกนี้เพิ่มเติม

บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน ความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเปลือย ไร้มารยาท เลียมือ เขาเชิญให้มารับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่ยินดีรับภิกษาที่เขานำมาให้ ที่เขาทำเฉพาะ ไม่ยินดีรับนิมนต์ ไม่รับภิกษาปากหม้อ จากปากกระเช้า คร่อมธรณีประตู คร่อมท่อนไม้ คร่อมสาก ไม่รับภิกษาของคนสองคนกำลังบริโภคอยู่ ของหญิงมีครรภ์ ของหญิงผู้กำลังให้ลูกดูดนม ของหญิงผู้คลอเคลียชาย ไม่รับภิกษาที่แนะนำทำกันไว้ ไม่รับภิกษาในที่ที่เขาเลี้ยงสุนัข ในที่มีแมลงวันตอมเป็นกลุ่ม ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย หรือไม่ดื่มน้ำหมักดอง

เขารับภิกษาที่เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียวบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๒ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๒ คำบ้าง ฯลฯ รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๗ คำบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อย ใบเดียวบ้าง ๒ บ้าง ฯลฯ ๗ บ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้วันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ฯลฯ ๗ วันบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการบริโภคภัตที่เวียนมาตั้งกึ่งเดือนเช่นนี้ด้วยประการฉะนี้

เป็นผู้มีผักดอง มีข้าวฟ่าง ลูกเดือย กากข้าว สาหร่าย รำ ข้าวตัง ข้าวไหม้ หญ้า โคมัย เหง้ามันและผลไม้ในป่าเป็นอาหารบ้าง หรือบริโภคผลไม้หล่นเยียวยาอัตภาพบ้าง

เขานุ่งห่มผ้าป่าน ผ้าแกมกัน ผ้าห่อศพ ผ้าบังสุกุล ผ้าเปลือกไม้ หนังเสือ หนังเสือทั้งเล็บ ผ้าคากรอง ผ้าเปลือกไม้กรอง ผ้าผลไม้กรอง ผ้ากัมพลทำด้วยผมคน ผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์ หรือผ้าทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง

เป็นผู้ถือการถอนผมและหนวด คือ ประกอบความขวนขวายในการถอนผมและหนวดบ้าง เป็นผู้ถือการยืน คือ ห้ามอาสนะบ้าง เป็นผู้ถือกระโหย่ง คือ ประกอบความเพียรในการเดินกระโหย่งบ้าง เป็นผู้ถือการนอนบนหนาม คือ สำเร็จการนอนบนหนามบ้าง เป็นผู้ถือการอาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง คือ ประกอบความขวนขวายในการลงน้ำบ้าง เป็นผู้ขวนขวายในการประกอบเหตุเครื่องทำกายให้เดือดร้อน ให้เร่าร้อน ด้วยวิธีเป็นอันมากเช่นนี้อยู่

บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน

บุคคลผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนฆ่าแกะ คนฆ่าหมู คนฆ่านก คนฆ่าเนื้อขายเลี้ยงชีพ เป็นพราน เป็นคนฆ่าปลา เป็นโจร เป็นคนรับจ้างฆ่าโจร เป็นใหญ่ในเรือนจำ หรือแม้ใคร ๆ อื่นผู้มีการงานอันหยาบช้า

บุคคลนี้เรียกว่า เป็นคนทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

บุคคลผู้ทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ขวนขวายในการทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นพระราชามหากษัตริย์ หรือเป็นพราหมณ์มหาศาล เขาสั่งให้สร้างสันถาคารใหม่ไว้ด้านตะวันออกแห่งนคร แล้วปลงผม และหนวด นุ่งหนังเสือทั้งเล็บ เอาน้ำมันเจือเนยใสทากาย เกาหลังด้วยเขาสัตว์ เข้าไปยังสันถาคารพร้อมด้วยมเหสี และพราหมณ์ปุโรหิต เขานอนบนพื้นดินอันไม่มีเครื่องลาด ซึ่งไล้ทาด้วยของเขียวสด พระราชาเยียวยาอัตภาพด้วยน้ำนมในเต้าที่หนึ่ง พระมเหสีเยียวยาอัตภาพด้วยน้ำนมในเต้าที่ ๒ พราหมณ์ปุโรหิตเยียวยาอัตภาพด้วยน้ำนมในเต้าที่ ๓ บูชาไฟด้วยน้ำนมในเต้าที่ ๔ ลูกโคเยียวยาอัตภาพด้วยน้ำนมที่เหลือแห่งแม่โคลูกอ่อนตัวเดียว

เขาสั่งอย่างนี้ว่า จงฆ่าโคผู้ ลูกโคผู้ ลูกโคเมีย แพะ หรือแกะเท่านี้ เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ จงตัดต้นไม้เท่านี้ เพื่อประโยชน์แก่การทำโรงบูชายัญ จงถอนหญ้าเท่านี้เพื่อลาดพื้น

ชนเหล่าใดเป็นทาส คนใช้ หรือกรรมกรก็ดี ของพระราชาหรือพราหมณ์มหาศาลนั้น ชนเหล่านั้นถูกอาชญาคุกคาม ถูกภัยคุกคาม ร้องไห้น้ำตานองหน้า ทำการงานตามกำหนดสั่ง

บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ขวนขวายในการทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน

บุคคลผู้ไม่ทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ขวนขวายในการทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน

พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี ทรงทราบโลก ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง

คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี หรือบุคคลผู้เกิดภายหลังในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ได้ฟังธรรมนั้น ครั้นได้ฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคต เขาประกอบด้วยศรัทธานั้น ย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งกิเลสธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัดแล้ว ไม่ใช้ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด สมัยต่อมา เขาละโภคสมบัติ ละเครือญาติ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต

เมื่อเขาบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและอาชีพเสมอด้วยภิกษุ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง จะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือเอาไปได้เอง ประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นของพระอริยะนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่มีโทษเฉพาะตน

เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่เป็นผู้ยึดถือนิมิต ไม่ยึดถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์

เธอฟังเสียงด้วยหูแล้ว ไม่เป็นผู้ยึดถือนิมิต ไม่ยึดถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมโสตินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัส ครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาโสตินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในโสตินทรีย์

เธอสูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ไม่เป็นผู้ยึดถือนิมิต ไม่ยึดถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวม
ฆานินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัส ครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาฆานินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในฆานินทรีย์

เธอลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ไม่เป็นผู้ยึดถือนิมิต ไม่ยึดถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมชิวหินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัส ครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาชิวหินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในชิวหินทรีย์

เธอถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ไม่เป็นผู้ยึดถือนิมิต ไม่ยึดถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมกายินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัส ครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษากายินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในกายินทรีย์

เธอรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่เป็นผู้ยึดถือนิมิต ไม่ยึดถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์.

เธอประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นของพระอริยะนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันบริสุทธิ์เฉพาะตน

เป็นผู้กระทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป ในการถอยกลับ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการแล ในการเหลียว ย่อมทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ย่อมทำความรู้สึกในการทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร ย่อมทำความรู้สึกตัวในการฉัน ในการดื่ม ในการเคี้ยว ในการลิ้ม ย่อมทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน ในการยืน ในการนั่ง ในการหลับ ในการตื่น ในการพูด ในการนิ่ง

ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อันเป็นของพระอริยะด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นของพระอริยะ และด้วยสติสัมปชัญญะอันเป็นของพระอริยะเช่นนี้ เสพเสนาสนะอันสงัด กลับจากบิณฑบาต ในเวลาภายหลังภัต นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

ละความโลภ คือ อภิชฌา มีใจปราศจากความโลภอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา

ละความประทุษร้าย คือ พยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาท

ละถีนมิทธะ ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ

ละอุทธัจจกุกกุจจะ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ

ละวิจิกิจฉา ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทำปัญญาให้ทุรพลเหล่านี้แล้ว สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน บรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวแล้วอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ

ระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง ๒ ชาติบ้าง… ๑๐ ชาติบ้าง... ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เราได้มีชื่อ มีโคตร มีผิวพรรณ มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีมีโคตร มีผิวพรรณ มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข เสวยทุกข์ อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวแล้วอย่างนี้ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย

เห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า

สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ถือมั่นการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป จึงต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ส่วนสัตว์เหล่านั้นประกอบด้วยกายสุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ถือมั่นการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไป ได้เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

เห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้

ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวแล้วอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณเป็นเหตุสิ้นอาสวะ

ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เหล่าอาสวะ นี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงความดับอาสวะ

เมื่อรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก มิได้มี

บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่ทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ขวนขวายในการทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบันเทียว

โฆฏมุขพราหมณ์ประกาศตนเป็นอุบาสก

เมื่อท่านพระอุเทนกล่าวอย่างนี้แล้ว โฆฏมุขพราหมณ์ได้กล่าวกะท่านพระอุเทนว่าภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านอุเทนประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ฉะนั้น

พราหมณ์ขอถึงท่านอุเทน กับทั้งพระธรรม และภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

พระอุเทนกล่าวว่าอย่าได้ถึงท่านเป็นสรณะเลย แต่ให้ถึงพระผู้มีพระภาคเป็นสรณะ

โฆฏมุขพราหมณ์ได้ถามว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน เมื่อได้ทราบว่าเสด็จปรินิพพานเสียแล้ว ก็กล่าวว่าถ้าตนได้ฟังว่า ท่านพระโคดมประทับอยู่ในหนทางแม้ ๑๐ โยชน์ ๑๐๐ โยชน์ ก็พึงไปเฝ้าท่านพระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แล้วได้ขอถึงพระพุทธเจ้าแม้เสด็จปรินิพพานแล้วเป็นสรณะ กับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ ตลอดชีวิต

พราหมณ์ได้ขอถวายเบี้ยเลี้ยงประจำกหาปณะ ๕๐๐ ที่พระเจ้าอังคราชพระราชทานให้ทุกวันนั้นแก่ท่านอุเทน ท่านพระอุเทนไม่รับเพราะทองและเงินไม่ควรแก่สมณะ พราหมณ์จึจะสร้างวิหารถวายท่านอุเทน ซึ่งท่านอุเทนขอให้สร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตร โฆฏมุขพราหมณ์จึงได้ให้จัดสร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ ด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนนี้และส่วนอื่น โรงเลี้ยงนั้น เดี๋ยวนี้เรียกว่าโฆฏมุขี

 

อ่าน โฆฏมุขสูตร

 

อ้างอิง
โฆฏมุขสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๖๓๐-๖๔๕
ชุดที่
ลำดับที่
3

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ