อรติสูตร
ท่านพระวังคีสะอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ เขตเมืองอาฬวี กับท่านพระนิโครธกัปปะผู้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านพระนิโครธกัปปะกลับจากบิณฑบาต เข้าไปสู่วิหาร จะออกในเวลาเย็นหรือในวันรุ่งขึ้นหรือในเวลาภิกษาจารบ้าง สมัยนั้น ความกระสันได้บังเกิดขึ้นกับท่านพระวังคีสะ ความกำหนัดได้รบกวนจิตของท่าน ท่านพระวังคีสะมีความคิดดังนี้ว่า
ไม่เป็นลาภของท่าน ไม่ใช่ลาภของท่าน ท่านได้ชั่วเสียแล้ว ไม่ได้ดีเสียแล้วที่เกิดความกระสันขึ้น ที่ความกำหนัดรบกวนจิตท่าน จะไปหาที่ไหนให้คนอื่น ๆ บรรเทาความกระสันและยังความยินดีให้เกิดขึ้นในความกำหนัดที่เกิดขึ้นแล้ว อย่ากระนั้นเลย ท่านพึงบรรเทาความกระสัน แล้วยังความยินดีให้เกิดขึ้นแก่ตนด้วยตนเอง
ท่านพระวังคีสะบรรเทาความกระสันแล้ว ยังความยินดีให้เกิดขึ้นแก่ตนด้วยตนเอง ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า
บุคคลใดละความไม่ยินดี (ในศาสนา) ความยินดี (ในกามคุณทั้งหลาย) และวิตกอันอาศัยเรือนโดยประการทั้งปวงแล้ว ไม่พึงทำป่าใหญ่คือกิเลสในอารมณ์ไหน ๆ เป็นผู้ไม่มีป่าคือกิเลส เป็นผู้ไม่น้อมใจไปแล้ว ผู้นั้นแลชื่อว่าเป็นภิกษุ
รูปอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้ ที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินก็ดี ทั้งตั้งอยู่ในเวหาสก็ดี ที่อยู่ในแผ่นดินก็ดี ย่อมทรุดโทรม เป็นของไม่เที่ยงทั้งหมด บุคคลทั้งหลายผู้สำนึกตน ย่อมถึงความตกลงอย่างนี้เที่ยวไป
ชนทั้งหลายเป็นผู้ติดแล้วในอุปธิทั้งหลาย คือ ในรูปอันตนเห็นแล้ว ในเสียงอันตนได้ฟังแล้ว ในกลิ่นและรสอันตนได้กระทบแล้ว และในโผฏฐัพพารมณ์อันตนรู้แล้ว ท่านจงบรรเทาความพอใจในกามคุณ ๕ เหล่านั้น เป็นผู้ไม่หวั่นไหว บุคคลใดไม่ติดอยู่ในกามคุณ ๕ เหล่านั้น บัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลนั้นว่า เป็นมุนี
วิตกของคนทั้งหลายอาศัยปิยรูป สาตรูป ๖๐ เป็นอันมาก ตั้งลงแล้วโดยไม่เป็นธรรมในหมู่ปุถุชน บุคคลไม่พึงถึงวังวนกิเลสในอารมณ์ไหน ๆ และบุคคลผู้ไม่พูดจาชั่วหยาบ จึงชื่อว่าเป็นภิกษุ
บัณฑิตผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วตลอดกาลนาน ผู้ไม่ลวงโลก ผู้มีปัญญาแก่กล้า ผู้ไม่ทะเยอทะยาน เป็นมุนี ผู้ถึงบทอันระงับแล้ว อาศัยพระนิพพาน เป็นผู้ดับกิเลสได้แล้ว ย่อมรอคอยกาล (เป็นที่ปรินิพพาน)
อ่าน อรติสูตร