อนังคณสูตร
พระสารีบุตรกล่าวถึงบุคคล ๔ จำพวก
บุคคลบางคน มีกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า มีกิเลสในภายใน เป็นบุรุษเลวทราม เพราะเขาจะไม่พยายาม จะไม่ทำความเพียร เพื่อละกิเลส เขาจะเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีกิเลส มีจิตเศร้าหมองทำกาละ
บุคคลบางคนมีกิเลส รู้ตามเป็นจริงว่า มีกิเลสในภายใน เป็นบุรุษประเสริฐ เพราะเขาจะพยายาม จะทำความเพียร เพื่อละกิเลส เขาจะเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลส มีจิตไม่เศร้าหมองทำกาละ
บุคคลบางคน ไม่มีกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า ไม่มีกิเลสในภายใน เป็นบุรุษเลวทราม เพราะเขาจักมนสิการสุภนิมิต เพราะมนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักครอบงำจิตได้ เขาจักเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีกิเลส มีจิตเศร้าหมอง ทำกาละ
บุคคลบางคนไม่มีกิเลส รู้ตามเป็นจริงว่าไม่มีกิเลสในภายใน เป็นบุรุษประเสริฐ เพราะเขาจะไม่มนสิการสุภนิมิต เพราะไม่มนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจึงครอบงำจิตไม่ได้ เขาจะเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลส มีจิตไม่เศร้าหมองทำกาละ
นี้แลเป็นปัจจัย ที่เป็นเครื่องทำให้บุคคลสองพวกที่มีกิเลสเหมือนกันนี้ คนหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทราม คนหนึ่ง บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษประเสริฐ
นี้แลเป็นปัจจัย ที่เป็นเครื่องทำให้บุคคลสองพวกที่ไม่มีกิเลสเหมือนกันนี้ คนหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทราม คนหนึ่ง บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษประเสริฐ
พระโมคคัลลานะถามพระสารีบุตรต่อไปว่า ที่เรียกว่า อนังคณะ คืออะไร
พระสารีบุตรตอบว่า อนังคณะ เป็นชื่อของอิจฉาวจร ที่เป็นบาปอกุศล มีความโกรธ ความไม่แช่มชื่นเป็นอารมณ์
หากภิกษุรูปใดยังละอนังคณะไม่ได้แล้ว แม้ภิกษุนั้นจะเป็นผู้อยู่ในป่ามีเสนาสนะอันสงัด ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ทรงจีวรเศร้าหมอง เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายก็ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น
หากภิกษุรูปใดรูปหนึ่งละอนังคณะได้แล้ว แม้จะอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน รับนิมนต์ ทรงคฤหบดีจีวร เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายก็ยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น
ความน่าเคารพนับถือของภิกษุไม่ได้ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตนภายนอกแต่ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ภายใน
พระโมคัลลานะสรรเสริญพระสารีบุตรที่แสดงธรรมให้บุคคลออกจากอกุศล ตั้งอยู่ในกุศล มีศรัทธา ออกบวชเป็นบรรพชิต ไม่เป็นคนโอ้อวด ไม่มีมารยา ไม่หลอกลวง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตน ไม่กลับกลอก ไม่ปากกล้า ไม่มีวาจาเคลือบแคลง คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียร มีความเพ่งเล็งในสามัญคุณ มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสิกขา ไม่เป็นคนมักมาก ไม่ย่อหย่อน ทอดธุระในการท้อถอย เป็นหัวหน้าในความสงัด ปรารภความเพียร มีตนส่งไป มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตมั่นคง มีจิตแน่วแน่ มีปัญญา ไม่เป็นดุจคนใบ้
---------------
พระสารีบุตรยกตัวอย่างอังคณะ ดังนี้
ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า
เราพึงเป็นผู้ต้องอาบัติ แต่ภิกษุทั้งหลาย อย่าพึงรู้เราว่าต้องอาบัติเลย เมื่อภิกษุทั้งหลายพึงรู้ภิกษุนั้นว่า ต้องอาบัติ เธอก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่นเพราะคิดว่า ภิกษุทั้งหลายรู้เราว่าต้องอาบัติ นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้งสองนี้ ชื่อว่าอังคณะ
เราพึงเป็นผู้ต้องอาบัติ ภิกษุทั้งหลายพึงโจทเราในที่ลับ ไม่พึงโจทเราในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายพึงโจทภิกษุนั้นในท่ามกลางสงฆ์ ไม่โจทในที่ลับ เธอก็จะโกรธไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่าภิกษุทั้งหลายโจทเราในท่ามกลางสงฆ์ ไม่โจทในที่ลับ นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้งสองนี้ ชื่อว่าอังคณะ
เราพึงเป็นผู้ต้องอาบัติ บุคคลที่เสมอกันพึงโจทเรา บุคคลที่ไม่เสมอกันไม่พึงโจทเรา บุคคลที่ไม่เสมอกันพึงโจทภิกษุนั้น บุคคลที่เสมอกันไม่พึงโจทภิกษุนั้น นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เธอก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า บุคคลที่ไม่เสมอกันโจทเรา บุคคลที่เสมอกันไม่โจทเรา ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้งสองนี้ชื่อว่า อังคณะ
พระศาสดาพึงทรงซักถามสอบถามเราเท่านั้น แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงทรงซักถาม สอบถามภิกษุอื่น แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายเลย เมื่อพระศาสดาพึงทรงซักถาม สอบถามภิกษุอื่น แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุอื่น หาทรงซักถามสอบถามภิกษุนั้น แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายไม่ นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เธอก็จะโกรธไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่าพระศาสดาทรงซักถาม สอบถามภิกษุอื่น แล้วทรงแสดงธรรม แก่ภิกษุทั้งหลาย หาทรงซักถาม สอบถามเรา แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายไม่ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้งสอง นี้ชื่อว่าอังคณะ
ภิกษุทั้งหลายพึงแวดล้อมเราเท่านั้นเข้าบ้าน เพื่อภัตตาหาร อย่าแวดล้อมภิกษุอื่นเข้าบ้าน เพื่อภัตตาหารเลย เมื่อภิกษุทั้งหลายแวดล้อมภิกษุอื่นเข้าบ้าน เพื่อภัตตาหาร ไม่พึงแวดล้อมภิกษุนั้นเข้าบ้าน เพื่อภัตตาหาร นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เธอก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ภิกษุทั้งหลายแวดล้อมภิกษุอื่นเข้าบ้าน เพื่อภัตตาหาร หาแวดล้อมเราเข้าบ้านเพื่อภัตตาหารไม่ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้งสองนี้ ชื่อว่าอังคณะ
เราเท่านั้นพึงได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศในโรงฉัน ภิกษุอื่นไม่พึงได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศในโรงฉันเลย ภิกษุอื่นได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศในโรงฉัน ภิกษุนั้นไม่ได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ ในโรงฉัน นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เธอก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่าภิกษุอื่นได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ ในโรงฉัน เราไม่ได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ ในโรงฉัน ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้งสองนี้ ชื่อว่า อังคณะ
เราเท่านั้นพึงฉันในโรงฉันแล้วอนุโมทนา ภิกษุอื่นไม่พึงฉันในโรงฉันแล้วอนุโมทนา ภิกษุอื่นพึงฉันในโรงฉันแล้วอนุโมทนา ภิกษุนั้นไม่พึงฉันในโรงฉันแล้วอนุโมทนา นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เธอก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่าภิกษุอื่นฉันในโรงฉัน แล้วอนุโมทนา เราไม่ได้ฉันในโรงฉันแล้วอนุโมทนา ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้งสองนี้ ชื่อว่า อังคณะ
เราเท่านั้นพึงแสดงธรรมแก่ ภิกษุ / ภิกษุณี / อุบาสก / อุบาสิกา ทั้งหลายผู้ไปถึงอาราม ภิกษุอื่นอย่าพึงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ไปถึงอารามเลย นี้เป็นฐานะที่จะมีได้. ภิกษุอื่นพึงแสดงธรรมแก่ภิกษุ / ภิกษุณี / อุบาสก / อุบาสิกา ทั้งหลายผู้ไปถึงอาราม ภิกษุนั้นไม่พึงแสดงธรรมแก่ภิกษุ / ภิกษุณี / อุบาสก / อุบาสิกา ทั้งหลายผู้ไปถึงอาราม นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เธอก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่าภิกษุอื่นแสดงธรรมแก่ภิกษุ / ภิกษุณี / อุบาสก / อุบาสิกาทั้งหลายผู้ไปถึงอาราม เราไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ / ภิกษุณี / อุบาสก / อุบาสิกาทั้งหลายผู้ไปถึงอาราม ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้งสองนี้ ชื่อว่าอังคณะ
ภิกษุ / ภิกษุณี / อุบาสก / อุบาสิกา ทั้งหลายพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราเท่านั้น ไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือบูชาภิกษุอื่น ภิกษุ / ภิกษุณี / อุบาสก / อุบาสิกา ทั้งหลายพึงสักการะ เคารพ นับถือบูชาภิกษุอื่น ไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ เธอก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ภิกษุ ภิกษุณี / อุบาสก / อุบาสิกาทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุอื่น ไม่สักการะ เคารพ นับถือบูชาเรา ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้งสองนี้ ชื่อว่า อังคณะ
เราเท่านั้นพึงได้จีวร / บิณฑบาต / เสนาสนะ/ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ที่ประณีต ภิกษุอื่นไม่พึงได้จีวร / บิณฑบาต / เสนาสนะ/ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ที่ประณีต ภิกษุอื่นพึงได้จีวร / บิณฑบาต / เสนาสนะ / คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ที่ประณีต ภิกษุนั้นไม่พึงได้จีวร / บิณฑบาต / เสนาสนะ/ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ที่ประณีต นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เธอก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่าภิกษุอื่นได้จีวร / บิณฑบาต / เสนาสนะ / คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ที่ประณีต เราไม่ได้จีวร / บิณฑบาต / เสนาสนะ / คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ที่ประณีต ความโกรธและ ความไม่แช่มชื่นทั้งสองนี้ ชื่อว่า อังคณะ
อ่าน อนังคณสูตร