ประวัติพระสารีบุตรเถระ
พระสารีบุตรเถระเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เป็นธรรมเสนาบดีและเอตทัคคะผู้เป็นเลิศด้านปัญญาผู้ทรงมีคุณูปการอย่างยิ่งยวดต่อพระพุทธศาสนา
พระสารีบุตรเมื่อแรกเกิดนั้นมีชื่อว่า "อุปติสสะ" เป็นบุตรของนางพราหมณี ชื่อ "สารี" และนายวังคันตะพราหมณ์ ผู้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านอุปติสคามแห่งตำบลนาลกะ หรือตำบลนาลันทา ที่ท่านได้ชื่อว่า "อุปติสสะ" นี้เพราะเป็นบุตรแห่งสกุลอันประเสริฐสุดในอุปติสสคาม อุปติสสะนั้นมีน้องชายสามคน คือ พระจุนทะ พระอุปเสน พระเรวัตตะ และมีน้องสาวอีกสามคน คือ นางจาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ซึ่งล้วนออกบวชในบวรพุทธศาสนาและได้บรรลุพระอรหัตตผลในที่สุดทุกองค์
ในวันเดียวกับที่นางสารีพราหมณีได้ให้กำเนิดอุปติสสะนั้น นางโมคคัลลีพราหมณีในบ้านโกลิตะก็ได้ให้กำเนิดบุตรชื่อว่า "โกลิตะ" หรือต่อมาคือพระมหาโมคคัลลานะ เช่นกัน ครอบครัวของนางพราหมณีสารีนั้นมีความมั่งคั่งสมบูรณ์พร้อมมูลพอ ๆ กับครอบครัวของโกลิตะ นิสัยใจคอของทั้งอุปติสสะและโกลิตะก็คล้ายคลึงกัน ท่านทั้งสองได้คบหาและเล่าเรียนจนสำเร็จศิลปศาสตร์ทุกอย่างด้วยกันมาแต่เล็ก ๆ จนเติบใหญ่ นอกจากนี้ ครอบครัวของทั้งสองก็ยังเป็นสหายเกี่ยวเนื่องกันมาถึง ๗ ชั่วโคตร ทั้งสองจึงเป็นเพื่อนรักกันอย่างยิ่ง
วันหนึ่ง อุปติสสะและโกลิตะไปเที่ยวเล่นในงานรื่นเริงประจำปีในกรุงราชคฤห์ แต่มิได้มีความสนุกสนานอย่างเคย เพราะญาณปัญญาเริ่มแก่กล้าทำให้มีสติปัญญาพิจารณาหาสาระในมหรสพและชีวิต ก็เกิดความสลดใจขึ้นว่า ไม่เห็นจะมีอะไรควรดูควรได้จากมหรสพนี้ คนที่แสดงเหล่านี้ทั้งหมดมีชีวิตไม่ถึง ๑๐๐ ปี ก็จะล้มหายตายจากกันไป เราทั้งหลายควรจะแสวงหาโมกขธรรมเครื่องหลุดพ้นจากบ่วงเช่นนี้ สองวันต่อมาจึงพากันไปบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชก ณ กรุงราชคฤห์นั้นเอง และสำเร็จการศึกษาในสำนักนั้นโดยใช้เวลาเพียงสองสามวัน เมื่อจบแล้วก็ออกจากสำนัก แต่ยังไม่พึงพอใจเพราะเห็นว่าความรู้จากสำนักนั้นหาใช่ที่ตนค้นหาไม่ จึงตกลงแยกกันไปตามหาครูผู้สามารถสอนความจริงของโลกให้ประจักษ์ได้อย่างแท้จริง และสัญญากันว่า หากผู้ใดระหว่างเราสองคน ใครได้บรรละอมตธรรมก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่อีกคน
สมัยนั้น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบรรลุพระปรมาภิสัมโพธิญาณแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวร แล้วได้ส่งพระสาวกออกประกาศคำสอน ส่วนพระองค์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ในกรุงราชคฤห์ พระอัสสชิผู้เป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ หลังจากได้ฟังพระธรรมเทศนาจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนบรรลุอรหัตตผลแล้ว วันหนึ่งท่านถือบาตรและจีวร ไปสู่กรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาตแต่เช้าตรู่ อุปติสสะได้พบพระอัสสชิเถระ ก็เกิดความประทับใจในอิริยาบถน่าเลื่อมใสสำรวมดีของท่านพระอัสสชิเถระ ผู้มีอินทรีย์ฝึกดีแล้ว จึงเกิดความคิดว่า ท่านผู้นี้จักเป็นพระอรหันต์ จึงได้ตามท่านพระอัสสชิเถระไปข้างหลัง รอคอยโอกาสอยู่ แล้วสอบถามว่าใครเป็นศาสดาของท่านพระอัสสชิ และสอนอย่างไร
ท่านพระอัสสชิเถระได้แสดงความลึกซึ้งในคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้
เมื่ออุปติสสะได้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาบัน หลังจากนั้น อุปติสสะกราบลาพระอัสสชิเถระ แล้วนำธรรมะที่ได้รับฟังมา ไปบอกเพื่อนสนิทคือโกลิตะ จนได้บรรลุโสดาบันเช่นเดียวกัน ทั้งสองได้ไปชักชวนสัญชัยปริพาชกให้ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่สัญชัยปริพาชกปฏิเสธ ทั้งสองจึงได้พาปริพาชก ๒๕๐ คน ไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์
หลังจากฟังธรรมครั้งนั้น ปริพาชก ๒๕๐ คน บรรลุอรหัตผล แต่อุปติสสะและโกลิตะยังคงบรรลุเพียงโสดาบันเช่นเดิม พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งหมดด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ภายหลังบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านอุปติสสะมีชื่อเรียกใหม่ว่าพระสารีบุตร ส่วนโกลิตะได้ชื่อว่าพระมหาโมคคัลลานะ
พระสารีบุตรใช้เวลาล่วงเลยไปครึ่งเดือนนับจากวันบวชจึงจะบรรลุพระอรหัตตผลที่ถ้ำสุกรขาตา เชิงเขาคิชกูฏ นครราชคฤห์ โดยเหตุเพราะพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลานของพระสารีบุตร โดยทีฆนขะได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลถามปัญหา พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับทิฏฐิและเวทนา เมื่อได้ฟังพระธรรมนั้นทีฆนขะได้บรรลุโสดาบัน ส่วนพระสารีบุตรผู้กำลังถวายงานพัดพระพุทธองค์ ก็ได้ยินธรรมเหล่านั้นอยู่ด้วย จึงได้ส่งญาณพิจารณาตามพระเทศนาจึงได้บรรลุที่สุดแห่งอรหัตตมรรค สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้นเอง ซึ่งในวันนั้นคือวันเพ็ญเดือนมาฆะ โดยมีเหตุการณ์สำคัญถัดไปคือ พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ให้กับพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป รวมพระอัครสาวกทั้งสองด้วย
หลังจากพระพุทธองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ จำพรรษาและแสดงพระอภิธรรม ณ ดาวดึงส์ เสด็จลงมา ณ ประตูเมืองสังกัสสะ พระสารีบุตรพร้อมทั้งภิกษุ ภิกษุณี และสาธุชนจำนวนมากมาเฝ้ารอรับเสด็จ พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสถามปัญหาในวิสัยของปุถุชนเป็นต้น พวกปุถุชนแก้ปัญหาได้ในวิสัยของตนเท่านั้น ไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระโสดาบันได้
พระอริยบุคคลทั้งหลาย มีพระโสดาบันเป็นต้นก็เหมือนกัน ไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระอริยบุคคลทั้งหลาย มีพระสกทาคามีเป็นต้น พระมหาสาวกที่เหลือไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระมหาโมคคัลลานะ พระมหาโมคคัลลานะไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระสารีบุตรเถระได้ แม้พระสารีบุตรเถระก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระพุทธเจ้าได้เหมือนกัน
ในครั้งนั้น มหาชนจึงได้รู้จักพระสารีบุตรว่าเป็นผู้เลิศทางปัญญา โดยพระพุทธดำรัสที่ว่า “พระสารีบุตรเลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีปัญญามาก” นอกจากจะเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาและเป็นเอตทัคคะผู้เป็นเลิศด้านปัญญาแล้ว ท่านพระสารีบุตรยังมีคุณความดีและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในพระพุทธศาสนาอีกมากมาย อาทิ
๑. พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระสารีบุตรว่าเป็นผู้มีปัญญาอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตด้วยกัน ตัวอย่างครั้งหนึ่งที่กรุงเทวทหะ ภิกษุพากันเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ทูลลาจะไปปัจฉาภูมิชนบท พระองค์ตรัสให้ไปลาพระสารีบุตร เพื่อท่านพระสารีบุตรจะได้แนะนำสั่งสอน ในการไปของพวกเธอ จะได้ไม่เกิดความเสียหาย
๒. ทรงยกย่องพระสารีบุตรว่าเป็นคู่กับพระมหาโมคคัลลานะ เช่น ทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายคบกับสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด... สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วนั้น สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนสูงกว่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีคำยกย่องว่า พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา และพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย
๓. มีคำเรียกยกย่องพระสารีบุตร อีกอย่างหนึ่งว่า พระธรรมเสนาบดี ซึ่งเป็นคู่กับพระบรมศาสดาว่า พระธรรมราชา
๔. พระสารีบุตรเป็นผู้มีปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนา คือ ชี้แจงแสดงให้ผู้ฟังเข้าใจได้ชัดเจน
๕.ท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที พึงเห็นตัวอย่างได้จากเมื่อท่านได้ฟังธรรมเทศนาที่พระอัสชิแสดง ได้ธรรมจักษุแล้วมาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมาท่านก็นับถือพระอัสสชิว่าเป็นอาจารย์ ทำการเคารพอยู่เสมอ แม้ได้ยินข่าวว่าพระอัสสชิอยู่ในทิศใด เมื่อท่านจะนอน ท่านจะนมัสการไปทางทิศนั้นก่อน แล้วนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น
อีกตัวอย่างหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรยังราธพราหมณ์ให้อุปสมบท เพราะระลึกถึงคุณที่ราธพราหมณ์ได้ถวายบิณฑบาตแก่ท่านเพียงทัพพีเดียว
๖. ท่านเป็นผู้เสนอความคิดให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อความมั่นคงแห่งพระสัทธรรม
๗. ท่านได้นำคำสอนของพระพุทธองค์จัดเป็นหมวดหมู่
๘. เป็นพระเถระรูปแรกที่คิดทำสังคายนา
๙. เป็นพระอุปัชฌาย์ของสามเณรรูปแรก คือ สามเณรราหุล
๑๐. ก่อนที่ท่านจะนิพพาน ท่านพระสารีบุตรพิจารณาเห็นว่าอายุสังขารจวนจะสิ้นแล้ว ปรารถนาจะไปโปรดมารดา คือ นางสารี ที่ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ เมื่อท่านไปถึงบ้านเดิมแล้ว ได้เกิดปักขันทิกาพาธขึ้นในคืนนั้น ในเวลาที่พระสารีบุตรกำลังอาพาธอยู่นั้น ท่านได้เทศนาโปรดมารดา จนนางสารีได้บรรลุโสดาบัน
การที่บุตรได้ชักนำบุพการีให้นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนได้มรรคผล นับเป็นการตอบแทนคุณอย่างยอดเยี่ยม คืนนั้น เป็นวันเพ็ญเดือนสิบสอง พระสารีบุตรก็ปรินิพพานในห้องที่ท่านเกิดในบ้านเดิมของท่านที่เมืองนาลันทาหลังจากที่ได้ไปเทศนาโปรดมารดาในคืนนั้นเอง
รุ่งขึ้น พระจุนทะผู้เป็นน้อง ได้ทำฌาปนกิจสรีระพระเถระเจ้า เสร็จแล้วจึงเก็บอัฏฐิธาตุของท่าน นำไปถวายพระบรมศาสดา ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี พระพุทธองค์ทรงโปรดให้ก่อเจดีย์บรรจุอัฏฐิธาตุของพระสารีบุตร ไว้ ณ ที่นั้น นอกจากคุณูปการต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว ท่านพระสารีบุตรยังเป็นพระอัครสาวกผู้มีพระภาษิตที่ได้แสดงวาทธรรมไว้มากมายที่สุดองค์หนึ่ง