Main navigation

ทีฆนขสูตร

ว่าด้วย
ปริพาชกชื่อ ทีฆนขะ
เหตุการณ์
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ทีฆนปริพาชกให้ละทิฏฐิ กาย เวทนา เมื่อทรงแสดงธรรมจบ ทีฆนขสำเร็จโสดาบัน พระสารีบุตรสำเร็จอรหันต์ วันนั้นเป็นวันมาฆบูชา

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ทีฆนขปริพาชก  ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลว่า ตนมีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา พระองค์ตรัสตอบว่า แม้ความเห็นที่ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรานั้น ก็ไม่ควรแก่ท่าน  ผู้ที่ละความเห็นไม่ได้ และยังยึดถือความเห็นอื่นนั้น มีมากกว่าคนที่ละได้ และผู้ที่ละความเห็นได้ และไม่ยึดถือความเห็นอื่นนั้น มีน้อยกว่าคนที่ยังละไม่ได้

ทิฎฐิเป็นเหตุให้เกิดวิวาท

สมณพราหมณ์มีสามพวก คือ

๑.  พวกที่เห็นว่าสิ่งทั้งปวงควรแก่เรา จะอยู่ใกล้ข้างกิเลสเป็นไปด้วยความกำหนัด เครื่องประกอบสัตว์ไว้ เป็นเหตุเพลิดเพลิน เป็นเหตุยึดมั่น

๒.  พวกที่เห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา จะอยู่ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นไปด้วยความกำหนัด ไม่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ไม่เป็นเหตุยึดมั่น

๓.  พวกที่เห็นว่าบางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรานั้น ส่วนที่เห็นว่าควร จะอยู่ใกล้ข้างกิเลสเป็นไปด้วยความกำหนัด เครื่องประกอบสัตว์ไว้ เป็นเหตุเพลิดเพลิน เป็นเหตุยึดมั่น ส่วนที่เห็นว่าไม่ควร จะอยู่ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นไปด้วยความกำหนัด ไม่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ไม่เป็นเหตุยึดมั่น

การละทิฏฐิ

ถ้าพวกใดพวกหนึ่งจะมีความยึดมั่น ถือมั่นซึ่งทิฏฐิว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เราเท่านั้น หรือสิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เราเท่านั้น หรือบางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เราเท่านั้น ก็จะมีความถือผิดจากอีกสองพวก เกิดความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน ความเบียดเบียนกัน

เมื่อพิจารณาเห็นความถือผิดกัน ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกันและความเบียดเบียนกันของตน จึงละทิฏฐินั้นเสีย ไม่ยึดถือทิฎฐิอื่น เกิดการละและการสละคืนทิฎฐิเหล่านี้

การละกาย

กายนี้มีรูป เป็นที่ประชุมมหาภูตทั้งสี่ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนมสด ต้องอบและขัดสีเป็นประจำ มีความแตกกระจัดกระจายเป็นธรรมดา ควรพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นผู้อื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า ไม่ใช่ตน เมื่อพิจารณาเห็นกายดังนี้ ย่อมละความพอใจในกาย เยื่อใยในกาย ความอยู่ในอำนาจของกายในกายได้

การละเวทนา

เวทนามีสามอย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา เมื่อเสวยเวทนาใดเวทนาหนึ่งก็จะไม่ได้เสวยเวทนาอีกสองอย่าง ทั้งสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา ล้วนไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา

เมื่ออริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา ย่อมคลายกำหนัด หลุดพ้น มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมไม่วิวาทแก่งแย่งกับใคร โวหารใดที่ชาวโลกพูดกัน ก็พูดไปตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่นด้วยทิฎฐิ

พระสารีบุตรสำเร็จอรหัตตผล ทีฆนขปริพาชกสำเร็จโสดาปัตติผล

ท่านพระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดพระผู้มีพระภาคอยู่ มีดำริว่า พระผู้มีพระภาคตรัสการละ การสละคืนธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญาอันยิ่งแก่เราทั้งหลาย เมื่อนั้นจิตก็หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน บรรลุอรหัตตผล

ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดขึ้นแก่ทีฆนขปริพาชกว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา แล้วขอถึงพระพุทธ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต
 


อ่าน ทีฆนขสูตร

อ้างอิง
ทีฆนขสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๒๖๙-๒๗๕ หน้า ๒๐๔ - ๒๐๘
ลำดับที่
3

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ