Main navigation

การเปรียบตนกับผู้อื่น

เหตุการณ์
พระโมคคัลานะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่าด้วยเรื่องธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย การเปรียบตนกับผู้อื่น และการละอกุศลธรรมที่ยังละไม่ได้ในตน

ภิกษุประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายากไม่ใช่ผู้ที่จะว่ากล่าวได้  เป็นผู้ไม่อดทน ไม่รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพื่อนพรหมจรรย์ต่างไม่สำคัญภิกษุนั้นว่า ควรว่ากล่าว ควรพร่ำสอน ทั้งไม่สำคัญว่า ควรถึงความไว้วางใจในบุคคลนั้นได้ 

ธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

๑. เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก
๒. เป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น
๓. เป็นคนมักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้ว  
๔. เป็นคนมักโกรธ ผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นเหตุ
๕. เป็นคนมักโกรธ มักระแวงจัด เพราะความโกรธเป็นเหตุ     
๖. เป็นคนมักโกรธ เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ
๗. ถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับโต้เถียงโจทก์
๘. ถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับรุกรานโจทก์
๙. ถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับปรักปรำโจทก์ 
๑๐. ภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับเอาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อน พูดนอกเรื่อง แสดงความโกรธ ความมุ่งร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏ 
๑๑. ถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ไม่พอใจตอบในความประพฤติ
๑๒. เป็นคนลบหลู่ ตีเสมอ       
๑๓. เป็นคนริษยา เป็นคนตระหนี่       
๑๔. เป็นคนโอ้อวด เจ้ามายา 
๑๕. เป็นคนกระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่น
๑๖. เป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ถือรั้น ถอนได้ยาก  

ธรรมเหล่านี้เรียกว่า ธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก.

ธรรมทำให้เป็นคนว่าง่าย

ภิกษุประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นคนว่าง่าย เป็นผู้อดทน รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพื่อนพรหมจรรย์ต่างสำคัญภิกษุนั้นว่า ควรว่ากล่าวได้ ควรพร่ำสอนได้  ทั้งสำคัญว่า  ควรถึงความไว้วางใจในบุคคลนั้นได้

๑. ไม่เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ไม่ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก        
๒. ไม่เป็นผู้ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น        
๓. ไม่เป็นคนมักโกรธ อันความโกรธไม่ครอบงำแล้ว  
๔. ไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่ผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นเหตุ 
๕. ไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่มักระแวงจัด เพราะความโกรธเป็นเหตุ        
๖. ไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ  
๗. ถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ไม่โต้เถียงโจทก์        
๘. ถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ไม่รุกรานโจทก์  
๙. ถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ไม่ปรักปรำโจทก์  
๑๐. ถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ไม่เอาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อน ไม่พูดนอกเรื่อง ไม่แสดงความโกรธ ความมุ่งร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏ  
๑๑. ถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง พอใจตอบในความประพฤติ  
๑๒. ไม่เป็นคนลบหลู่ ไม่ตีเสมอ  
๑๓. ไม่เป็นคนริษยา ไม่เป็นคนตระหนี่  
๑๔. ไม่เป็นคนโอ้อวด มิใช่เจ้ามายา  
๑๕. ไม่เป็นคนกระด้าง ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น  
๑๖. ไม่เป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ไม่ถือรั้น ถอนได้ง่าย

ธรรมเหล่านี้ เรียกว่า ธรรมที่ทำให้เป็นคนว่าง่าย.

การเทียบเคียงตนด้วยตนเอง

ในธรรมทั้ง ๑๖ ข้อนั้น บุคคลพึงเทียบเคียงตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า บุคคลที่มีธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก ไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของเรา ก็หากเราจะเป็นคนมีธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายากบ้าง เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนที่มีธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

การพิจารณาตนเอง

ในธรรมทั้ง ๑๖ ข้อนั้น บุคคพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนมีธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายากหรือไม่ หากพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นคนมีธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก เห็นชัดอกุศลธรรมที่ยังละไม่ได้ในตน ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราไม่ใช่คนมีธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก บุคคลนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย

 

อ่าน อนุมานสูตร

อ้างอิง
อนุมานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๒๑-๒๒๕ หน้า ๑๓๐-๑๓๙
ลำดับที่
19

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ