มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร
พระผู้มีพระภาคได้แสดงอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ดังนี้
บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว
ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง
ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน
ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้น ๆ ได้
บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด
พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ
ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย
พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้
มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ
พระมหากัจจายนะได้จำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ดังนี้
บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ
มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์ว่า จักษุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย และมโนของเราได้เป็นดังนี้ รูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะ จึงเพลิด เพลินจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์นั้น
เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว
บุคคลจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ
มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์ว่า จักษุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย และมโนของเราได้เป็นดังนี้ รูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะ จึงไม่เพลิดเพลินจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์นั้น
เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว
บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือ
บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอจักษุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย และมโนของเราพึงเป็นดังนี้ ขอรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์พึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต เพราะความตั้งใจเป็นปัจจัย จึงเพลิด เพลินจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์นั้น
เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือ
บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอจักษุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย และมโนของเราพึงเป็นดังนี้ ขอรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์พึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต เพราะความไม่ตั้งใจเป็นปัจจัย จึงไม่เพลิดเพลินจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์นั้น
เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร คือ
มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์ทั้ง ๒ อย่าง ที่เป็นปัจจุบันด้วยกันนั้นแล เพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์นั้น
เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน
บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร คือ
มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์ทั้ง ๒ อย่าง ที่เป็นปัจจุบันด้วยกันนั้นแล เพราะความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะ จึงไม่เพลิดเพลินจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์นั้น
เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน