Main navigation

ข้อปฏิบัติเพื่อลาภและเพื่อนิพพาน

เหตุการณ์
มหาเสนพราหมณ์ผู้ยากจนถวายข้าวปายาสและผ้าสาฎกเนื้อหยาบที่ตนได้รับมาแด่พระสารีบุตร เมื่อพราหมณ์ถวายทานนั้นแล้ว มีจิตเลื่อมใส เกิดโสมนัส ได้ทำความสิเนหามีประมาณยิ่งในพระสารีบุตร พราหมณ์นั้นได้เสียชีวิต แล้วถือปฏิสนธิในสกุลอุปัฏฐากของพระสารีบุตรในกรุงสาวัตถี

ขณะตั้งครรภ์ มารดาของทารกได้ถวายข้าวมธุปายาสแด่ภิกษุ ๕๐๐ รูป มีพระสารีบุตรเถระเป็นประธาน พวกญาติก็ได้ถวายข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อย แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป มีพระสารีบุตรเถระเป็นประธานเหมือนกัน  เมื่อทารกคลอดออกมา ได้นอนบนผ้ากัมพลมีค่าแสนหนึ่ง ทารกนั้นได้ถวายผ้ากัมพลนั้นแด่พระสารีบุตร ทารกได้ชื่อว่าติสสะ เช่นเดียวกับพระสารีบุตรเถระ ในงานมงคลต่างๆ ของทารก ญาติก็ได้ถวายข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อย แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป มีพระสารีบุตรเถระเป็นประธาน เมื่อเด็กอายุได้ ๗ ขวบ ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักของพระสารีบุตร

เมื่อสามเณรบวชได้สองวัน ก็ได้บิณฑบาตพันหนึ่ง กับผ้าสาฎกพันหนึ่ง วันหนึ่งในฤดูหนาว สามเณรได้ผ้ากัมพลพันหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ของน้อยที่บุคคลให้แล้วในหมู่ภิกษุเช่นใดมีผลมาก ของมากที่บุคคลให้แล้วในหมู่ภิกษุเช่นใดมีผลมากกว่า หมู่ภิกษุนี้ก็เป็นเช่นนั้น

สามเณรคิดว่าตนพึงเข้าไปสู่ป่า ทำที่พึ่งแห่งตน จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลให้พระศาสดาตรัสบอกกัมมัฏฐานเพื่อปฏิบัติให้ถึงพระอรหัต ไหว้พระอุปัชฌายะแล้วออกเดินทางไกล ๑๒๐ โยชน์ ในประเทศนั้น ชาวบ้านได้นิมนต์สามเณรให้อยู่พรรษา ตลอดเวลาสามเดือนที่สามเณรบิณฑบาต สามเณรได้ให้พรเฉพาะ ๒ บทแก่ชาวบ้านว่า ขอท่านทั้งหลายจงถึงซึ่งความสุข จงพ้นจากทุกข์ เมื่อเดือนที่ ๓ ล่วงไป สามเณรก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

เมื่อออกพรรษาแล้ว พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปเถระ พระอนุรุทธเถระ พระอุบาลีเถระ พระปุณณเถระ พร้อมภิกษุ ๕๐๐ รูปของแต่ละพระอสีติมหาเถระ รวมภิกษุประมาณ ๔ หมื่น ได้เดินทางไปหาสามเณรติสสะ ชาวบ้านได้ต้อนรับพระอสีติมหาสาวกทั้งหลาย และพาไปยังวิหารที่สามเณรอยู่ ชาวบ้านได้ขอฟังธรรม พระสารีบุตรจึงให้สามเณรแสดงเนื้อความแห่งธรรมว่า ชาวบ้านจะถึงซึ่งความสุข และจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร

สามเณรติสสะขึ้นสู่ธรรมาสน์ ชักผลและเหตุจำแนกขันธ์ ธาตุ อายตนะ และโพธิปักขิยธรรม กล่าวธรรมกถาด้วยยอดคือพระอรหัต แล้วกล่าวว่า

ความสุขย่อมมีแก่บุคคลผู้บรรลุพระอรหัตอย่างนี้ ผู้บรรลุพระอรหัตแล้วนั่นแล ย่อมพ้นจากทุกข์ คนที่เหลือไม่พ้นจากชาติทุกข์เป็นต้น และจากทุกข์ในนรกเป็นต้นได้

และได้กล่าวสรภัญญะต่อจากนั้น ชาวบ้านที่บำรุงสามเณรได้แยกเป็น ๒ พวก บางพวกโกรธที่สามเณรไม่เคยกล่าวบทแห่งธรรมเลยในระหว่างพรรษา ส่วนบางพวกยินดีว่า เป็นลาภของตนที่บัดนี้ได้ฟังธรรม

พระศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณว่าพวกที่โกรธสามเณรจักไปสู่นรก เมื่อพระองค์เสด็จไป ชนเหล่านั้นจะทำเมตตาจิตในสามเณร แล้วพ้นจากทุกข์ จึงเสด็จไปพร้อมภิกษุแล้วตรัสแก่ชนทั้งหลายว่า

เป็นลาภของท่านทั้งหลายที่ได้เห็นอสีติมหาสาวก คือ สารีบุตร โมคคัลลานะ กัสสป เป็นต้น เพราะอาศัยสามเณร แม้พระองค์ก็มาแล้ว เพราะอาศัยสามเณรเหมือนกัน ท่านทั้งหลายได้เห็นพระพุทธเจ้าเพราะอาศัยสามเณรนี้นั่นเอง เป็นลาภของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายได้ดีแล้ว

ชาวบ้านทั้งหลายต่างยินดีที่ได้เห็นพระผู้เป็นเจ้าของตน และยังได้ถวายไทยธรรมแก่พระผู้เป็นเจ้านั้น ชาวบ้านที่โกรธสามเณรก็กลับมายินดี ส่วนพวกที่ยินดีแล้วก็เลื่อมใสยิ่งขึ้น ในเวลาจบอนุโมทนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น

เมื่อพระศาสดาและภิกษุกลับถึงเชตวัน ภิกษุได้สนทนากันว่า ติสสสามเณรทำกรรมที่บุคคลทำได้ยาก  ในเวลาที่สามเณรอยู่ที่นี่ ลาภและสักการะมากก็เกิดขึ้นแล้ว สามเณรทิ้งลาภและสักการะเห็นปานนี้ แล้วเข้าไปสู่ป่า ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารที่เจือกัน  

เมื่อพระศาสดาทราบถึงการสนทนา จึงตรัสว่า

ชื่อว่าข้อปฏิบัติอันเข้าไปอาศัยลาภเป็นอย่างหนึ่ง ข้อปฏิบัติอันยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพานเป็นอย่างหนึ่ง ก็อบาย ๔ มีประตูเปิดแล้ว ตั้งอยู่ เพื่อภิกษุผู้รักษาข้อปฏิบัติอันเข้าไปอาศัยลาภ สมาทานธุดงค์ ด้วยหวังว่า ‘เราจักได้ลาภด้วยการปฏิบัติอย่างนี้’ ส่วนภิกษุผู้ละลาภและสักการะที่เกิดขึ้น ด้วยข้อปฏิบัติอันยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพานแล้วเข้าไปสู่ป่า เพียรพยายามอยู่ ย่อมยึดเอาพระอรหัตไว้ได้

แล้งจึงตรัสพระคาถานี้ว่า

ก็ข้อปฏิบัติอันเข้าไปอาศัยลาภ เป็นอย่างหนึ่ง ข้อปฏิบัติอันยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน เป็นอย่างหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ทราบเนื้อความนั้น อย่างนี้แล้ว ไม่พึงเพลิดเพลินสักการะ พึงตามเจริญวิเวก

ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น 



คาถาธรรมบท พาลวรรค
อรรถกถาเรื่องพระวนวาสีติสสเถระ 
 

อ้างอิง
คาถาธรรมบท พาลวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๕ หน้า ๑๘ และอรรถกถาเรื่อง พระวนวาสีติสสเถระ
ลำดับที่
5

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ