เหมือนบุรุษผู้กุมขอ
สานุสามเณรบรรพชาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่อบรรพชาแล้ว เป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร ประกาศธัมมัสสวนะด้วยน้ำเสียงอันไพเราะ เมื่อจะลงจากธรรมาสน์ก็ให้ส่วนบุญอันเกิดจากการกล่าวธัมมัสสวนะนี้แก่มารดาและบิดาของตน ยักษิณีผู้เคยเป็นมารดาของสามเณรในอัตภาพก่อนมากับเหล่าเทวดาเพื่อฟังธรรมก็จะอนุโมทนาส่วนบุญที่สามเณรให้
ก็ธรรมดาภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมเป็นที่รักของโลกพร้อมทั้งเทวโลก เพราะฉะนั้น พวกเทวดาที่มีความเคารพในสามเณร ย่อมเห็นนางยักษิณีนั้นเป็นที่น่าเคารพเพราะคารวะในสามเณร ในสมัยฟังธรรมและสมัยที่ยักษ์ประชุมกันย่อมให้อาสนะที่ดี น้ำที่ดี อาหารที่ดี แก่นางยักษิณี ด้วยคิดว่านางยักษิณีตนนี้เป็นมารดาของสานุสามเณร ยักษ์ทั้งหลายแม้ที่มีศักดิ์ใหญ่ เห็นนางยักษิณีแล้ว ย่อมหลีกทางให้ ย่อมลุกขึ้นจากอาสนะ
ครั้นสามเณรถึงความเจริญวัย มีอินทรีย์แก่กล้า ถูกความกระสันบีบคั้นไม่สามารถจะบรรเทาลงได้ เมื่อสานุสามเณรแจ้งเหตุนี้แก่มารดาของตน มารดาได้แสดงโทษของฆราวาสต่าง ๆ และตักเตือนบุตร ก็ไม่อาจทำให้สามเณรยินยอมได้
นางยักษิณีเมื่อทราบว่าสามเณรต้องการจะสึก จึงมาเข้าสิงสามเณร มารดาของสามเณรจึงกล่าวว่า ยักษ์ทั้งหลายย่อมไม่ทำร้ายผู้รักษาอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ตลอดดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ และตลอดปาริหาริยปักษ์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ นางยักษิณีจึงปล่อยสามเณร
มารดาต้องการจะแสดงโทษในการจะสึกของบุคคลผู้ละวัตถุกามและกิเลสกาม บวชแล้ว จึงกล่าวว่า ชนทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงชนที่ตายไปแล้ว หรือยังเป็นอยู่ แต่หายไป ก็ผู้ใดละกามทั้งหลายได้แล้ว ยังจะเวียนมาในกามนี้อีก ชนทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงผู้นั้น เพราะเขาถึงยังไม่ตาย ก็เหมือนตายแล้ว
แล้วกล่าวอีกว่า สามเณรถูกยกขึ้นจากเหวแล้ว ยังปรารถนาจะตกลงไปสู่เหวอีก
สานุสามเณรสำนึกได้ จึงกล่าวว่าตนไม่มีความต้องการเป็นคฤหัสถ์แล้ว เมื่อนางทราบความสาณุสามเณรมีอายุครบ ๒๐ ปีแล้ว ก็จัดเตรียมไตรจีวรและบาตรแล้วให้สามเณรอุปสมบท พระศาสดาทรงประสงค์จะยังความอุตสาหะในการข่มจิตให้เกิดขึ้นแก่ผู้อุปสมบทใหม่ จึงตรัสว่า
ธรรมดาว่าจิตนี้เที่ยวจาริกไปในอารมณ์ต่าง ๆ ตลอดกาลนาน ชื่อว่าความสวัสดี ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ข่มจิตนั้นลงไปได้ เพราะฉะนั้น บุคคลจึงควรทำความเพียรในการข่มจิต เหมือนนายหัตถาจารย์ทำความพยายามในการข่มช้างซับมันด้วยขอ ฉะนั้น
แล้วทรงตรัสพระคาถานี้ว่า
เมื่อก่อน จิตนี้ได้เที่ยวจาริกไปตามอาการที่ปรารถนา ตามอารมณ์ที่ใคร่ และตามความสบาย
วันนี้ เราจักข่มมันด้วยโยนิโสมนสิการ ประหนึ่งนายควาญช้างข่มช้างที่ซับมัน ฉะนั้น
ท่านพระสานุนั้นเรียนพระไตรปิฎกแล้ว ได้เป็นพระธรรมกถึกที่เชี่ยวชาญ ดำรงชีพอยู่ตลอด ๑๒๐ ปี แล้วปรินิพพาน
อ่าน สานุสามเณร
อ่าน คาถาธรรมบท นาควรรค