Main navigation

ผู้ประดับกาย ประพฤติธรรม

เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์ว่า สันตติมหาอำมาตย์จักบรรลุพระอรหัตในเวลาจบคาถาอันประกอบด้วยบท ๔ แล้วนั่งบนอากาศ ชั่ว ๗ ลำตาล จักปรินิพพาน

สันตติมหาอำมาตย์ ผู้ถูกความโศกอย่างแรงกล้าครอบงำจากการที่นางอันเป็นที่รักตายคิดว่า คนอื่น เว้นพระตถาคตเสีย จักไม่อาจทำให้ความโศกนี้ให้ดับได้ จึงเข้าเฝ้าพระศาสดา ขอให้ทรงเป็นที่พึ่งของตนเพราะพระศาสดาระงับความโศกของบุคคลได้

พระศาสดาได้ตรัสว่า น้ำตาที่ไหลออกของผู้ร้องไห้ มากกว่าน้ำของมหาสมุทรทั้ง ๔ และได้ตรัสพระคาถา ต่อไปว่า

กิเลสเครื่องกังวลใด มีอยู่ในกาลก่อน เธอจงยังกิเลสเครื่องกังวลนั้นให้เหือดแห้งไป กิเลสเครื่องกังวล จงอย่ามีแก่เธอในภายหลัง ถ้าเธอจักไม่ยึดถือขันธ์ ในท่ามกลาง จักเป็นผู้สงบระงับเที่ยวไป

ในกาลจบพระคาถา สันตติมหาอำมาตย์ บรรลุพระอรหัตแล้ว พิจารณาดูอายุสังขารของตน ทราบความเป็นไปไม่ได้แห่งอายุสังขาร จึงกราบทูลขอพระองค์จงทรงอนุญาตการปรินิพพาน

พระศาสดาทรงกำหนดว่า พวกสัมมาทิฏฐิผู้ได้ฟังกรรมที่สันตติมหาอำมาตย์นี้ทำแล้ว จักทำความเอื้อเฟื้อในบุญทั้งหลาย จึงตรัสให้สันตติมหาอำมาตย์บอกกรรมที่ได้ทำไว้แก่พระองค์ ก็เมื่อจะบอก อย่ายืนบนภาคพื้นบอก จงยืนบนอากาศชั่ว ๗ ลำตาล แล้วจึงบอก

สันตติมหาอำมาตย์ขึ้นไปสู่อากาศขึ้นไปนั่งโดยบัลลังก์บนอากาศ ๗ ชั่ว ลำตาลตามลำดับแล้ว ทูลถึงบุรพกรรมของตนว่า

ในสมัยของพระพุทธเจ้าวิปัสสี ท่านได้คิดว่า อะไรหนอ เป็นกรรมที่ไม่ทำการตัดรอนหรือบีบคั้น ซึ่งชนเหล่าอื่น เมื่อใคร่ครวญอยู่ จึงเห็นกรรมคือการป่าวร้องในบุญทั้งหลายว่า

พวกท่านจงทำบุญ จงสมาทานอุโบสถในวันอุโบสถ จงถวายทาน จงฟังธรรม ชื่อว่า รัตนะอย่างอื่นเช่นกับพุทธรัตนะ เป็นต้น ไม่มี จงทำสักการะรัตนะทั้ง ๓ เถิด 

พระราชาได้พระราชทาน ม้า รถ และโภคะเป็นอันมาก เครื่องประดับใหญ่ ช้างเชือกหนึ่ง เพื่อให้สมควรแก่การทำกิจนี้ ท่านได้ประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง นั่งบนคอช้าง ได้ทำกรรมของผู้ป่าวร้องธรรมสิ้นแปดหมื่นปี กลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากกาย กลิ่นอุบลฟุ้งออกจากปากตลอดกาล

ครั้นได้กราบทูลบุรพกรรมของตนแล้ว สันตติมหาอำมาตย์นั่งบนอากาศเข้าเตโชธาตุ ปรินิพพาน เปลวไฟเกิดขึ้นในสรีระไหม้เนื้อและโลหิต ธาตุทั้งหลายดุจดอกมะลิ ตกลงมาในผ้าขาวที่พระศาสดาทรงคลี่วางรับไว้ ได้ทรงบรรจุธาตุเหล่านั้นแล้ว รับสั่งให้สร้างสถูปไว้ที่ทางใหญ่ ๔ เเพร่ง ด้วยทรงประสงค์ว่า มหาชนไหว้แล้ว จักเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ

ต่อมาเหล่าภิกษุได้สนทนากันว่า สันตติมหาอำมาตย์บรรลุพระอรหัตในคราวที่ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ ควรเรียกว่า สมณะ หรือ พราหมณ์

เมื่อพระศาสดาทรงทราบความจึงตรัสว่า การเรียกสมณะ ก็ควร เรียกว่า พราหมณ์ ก็ควรเหมือนกัน และทรงตรัสพระคาถาต่อไปว่า

แม้ถ้าบุคคลประดับแล้ว พึงประพฤติสม่ำเสมอเป็นผู้สงบ ฝึกแล้ว เที่ยงธรรม มีปกติประพฤติประเสริฐ วางเสียซึ่งอาชญาในสัตว์ทุกจำพวก บุคคลนั้น เป็นพราหมณ์ เป็นสมณะ เป็นภิกษุ

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น



อ่าน คาถาธรรมบท ฑัณฑวรรค
อ่าน อรรถกถาเรื่อง สันตติมหาอำมาตย์

อ้างอิง
คาถาธรรมบท ทัณฑวรรค พระไตรปิฎกและอรรถกถาเรื่อง สันตติมหาอำมาตย์ ฉบับมหามกุฎ เล่มที่ ๔๒ หน้าที่ ๑๑๓-๑๒๐
ลำดับที่
19

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ