ใจที่น้อมไปในบาป
พราหมณ์คนหนึ่งชื่อจูเฬกสาฎก ในเมืองสาวัตถี เขาและนางพราหมณีมีผ้าสาฎกผืนเดียวเท่านั้น ในเวลาไปภายนอก พราหมณ์หรือพราหมณีจะผลัดกันห่มผ้าผืนนั้น วันหนึ่ง มีการประกาศการฟังธรรมในวิหาร นางพราหมณีได้ห่มผ้าสาฎกไปฟังในตอนกลางวัน พอถึงเวลากลางคืน พราหมณ์จึงได้ไปนั่งฟังธรรม
พราหมณ์ได้เกิดความปีติขึ้นทั่วสรีระของเขา พราหมณ์คิดบูชาธรรมด้วยผ้าสาฎกที่ห่มอยู่ แต่ก็คิดว่าถ้าถวายผ้าสาฎก เขาและนางพราหมณีจะไม่มีผ้าห่มอีก ขณะนั้น จิตประกอบด้วยความตระหนี่พันดวงเกิดขึ้นแก่เขา จิตประกอบด้วยสัทธาดวงหนึ่งเกิดขึ้นอีก จิตประกอบด้วยความตระหนี่พันดวงคอยกีดกันสัทธาจิตไว้ ขณะที่เขากำลังคิดว่าจักถวาย หรือจักไม่ถวาย ปฐมยาม และ มัชฌิมยามก็ล่วงไปแล้ว จนเมื่อถึงปัจฉิมยาม เขาได้คิดว่ารบกับสัทธาจิตและมัจเฉรจิตอยู่ ๒ ยามล่วงไปแล้ว ถ้ามัจเฉรจิตของเขาเจริญอยู่ เขาจักไม่อาจออกจากอบาย ๔ ได้ เขาข่มความตระหนี่ตั้งพันดวงได้แล้ว ทำสัทธาจิตให้เป็นปุเรจาริก เขานำผ้าสาฎกไปถวายพระศาสดา แล้วได้เปล่งเสียงอันดังขึ้น ๓ ครั้งว่า “ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว”
พระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังทรงฟังธรรม ได้ยินเสียงเปล่งของพราหมณ์และเมื่อได้ทราบเรื่องและดำริว่าพราหมณ์ทำสิ่งที่บุคคลทำได้ยาก พระองค์จักทำการสงเคราะห์เขา จึงพระราชทานผ้าสาฎก ๑ คู่ พราหมณ์ได้ถวายผ้านั้นแด่พระตถาคตเหมือนกัน พระราชาจึงพระราชทานเป็นทวีคูณอีก คือ ๒ คู่ ๔ คู่ ๘ คู่ ๑๖ คู่ เขาได้ถวายผ้าเหล่านั้นแด่พระตถาคต
ต่อมา พระราชารับสั่งให้พระราชทานผ้าสาฎก ๓๒ คู่แก่เขา พราหมณ์เพื่อจะป้องกันวาทะว่า พราหมณ์ไม่ถือเอาเพื่อตน สละผ้าที่ได้แล้ว ๆ เสียสิ้น พราหมณ์จึงเอาผ้าสาฎก ๒ คู่จากผ้า ๓๒ คู่นั้น คือ เพื่อตน ๑ คู่ เพื่อนางพราหมณี ๑ คู่ แล้วได้ถวายผ้าสาฎก ๓๐ คู่แด่พระตถาคต
ฝ่ายพระราชา เมื่อเห็นพราหมณ์นั้นถวายถึง ๗ ครั้ง จึงได้พระราชทานผ้ากัมพล ๒ ผืนมีค่าแสนหนึ่งแก่พราหมณ์ พราหมณ์คิดว่าผ้ากัมพลนั้นสมควรแก่พระพุทธศาสนาเท่านั้น เขาจึงได้ขึงผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ทำให้เป็นเพดานไว้เบื้องบนที่บรรทมของพระศาสดาภายในพระคันธกุฎี ขึงผืนหนึ่งทำให้เป็นเพดานในที่ทำภัตกิจของภิกษุ
ในเวลาเย็น พระราชาเสด็จไปสู่สำนักของพระศาสดา ทรงจำผ้ากัมพลนั้นได้ เมื่อได้ทราบว่าพราหมณ์เป็นคนถวายบูชา ทรงดำริว่า พราหมณ์และพระองค์เลื่อมใสในฐานะเหมือนกัน พระราชาจึงพระราชทานสรรพวัตถุอย่างละ ๔ แก่พราหมณ์นั้น คือ ช้าง ๔ ม้า ๔ กหาปณะ สี่พัน สตรี ๔ ทาสี ๔ บุรุษ ๔ บ้านส่วย ๔ ตำบล
พวกภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่ากรรมของพราหมณ์น่าอัศจรรย์ ชั่วครู่เดียวเท่านั้น เขาได้สรรพวัตถุอย่างละ ๔ กรรมอันงามที่เขาทำในที่อันเป็นเนื้อนาบุญในบัดนี้ ให้ผลในวันนี้
เมื่อพระศาสดาได้ทรงทราบเรื่องที่ภิกษุสนทนากัน จึงตรัสว่า
ถ้าพราหมณ์นี้ถวายผ้าในปฐมยาม เขาจักได้สรรพวัตถุอย่างละ ๑๖ ถ้าถวายในมัชฌิมยาม เขาจักได้สรรพวัตถุอย่างละ ๘ แต่เพราะถวายในเวลาจวนใกล้รุ่ง เขาจึงได้สรรพวัตถุอย่างละ ๔
แท้จริง กรรมงามอันบุคคลผู้เมื่อกระทำ ควรทำในทันทีนั้นเอง เพื่อไม่ให้จิตที่เกิดขึ้นเสื่อมเสีย ด้วยว่ากุศลที่บุคคลทำช้า เมื่อให้สมบัติ ย่อมให้ช้าเหมือนกัน เพราะฉะนั้น พึงทำกรรมงามในลำดับแห่งจิตตุปบาททีเดียว
เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
บุคคลพึงรีบขวนขวายในความดี พึงห้ามจิตเสียจากบาป เพราะว่าเมื่อบุคคลทำความดีช้าอยู่ ใจจะยินดีในบาป
ในกาลจบคาถา ชนเป็นอันมากได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น
อ่าน พราหมณ์ชื่อจูเฬกสาฎก
อ่าน คาถาธรรมบท ปาปวรรค