ผู้มีวัตรดี
พระสารีบุตรออกพรรษาแล้ว ใคร่หลีกไปสู่จาริก จึงทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้าและปราศรัยกับภิกษุมากรูปผู้ตามมาส่ง ภิกษุรูปหนึ่งซึ่งพระสารีบุตรมิได้ปราศรัยด้วยจึงผูกอาฆาตพระเถระ และเมื่อมุมสังฆาฏิของพระสารีบุตรถูกกายของตนด้วย จึงผูกอาฆาตอีกว่า พระสารีบุตรล่วงอุปจารวิหาร แล้วไปกราบทูลพระศาสดาว่าพระสารีบุตรทำร้ายตนแล้วไม่ขอโทษ เพราะถือว่าเป็นอัครสาวก
พระโมคัลลานะและพระอานนท์คิดว่าพระศาสดาย่อมทราบความที่พระสารีบุตรมิได้ทำร้ายภิกษุนี้ แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์จักให้พระสารีบุตรบันลือสีหนาท พระเถระทั้งสองจึงเรียกภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่มาประชุมกัน
พระศาสดาได้ตรัสถามเนื้อความนั้นกะพระสารีบุตร พระสารีบุตรไม่กราบทูลเรื่องนั้น แต่กล่าวคุณกถาของตนว่า ภิกษุใดผู้ไม่ตั้งสติไว้ในกาย ภิกษุนั้นกระทบกระทั่งสพรหมจารีรูปใดรูปหนึ่งในศาสนานี้ ไม่ขอโทษ หลีกไปสู่ที่จาริก แล้วประกาศความที่ตนมีจิตเสมอด้วยแผ่นดิน เสมอด้วยน้ำ ไฟ ลม ผ้าเช็ดธุลี เด็กจัณฑาล โคอุสภะมีเขาขาด อันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
พระศาสดาตรัสให้พระสารีบุตรยกโทษต่อโมฆบุรุษนี้เสียก่อนที่ศีรษะเขาจะแตกเป็น ๗ เสี่ยง พระสารีบุตรนั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลีกราบทูลพระศาสดา ยกโทษต่อผู้มีอายุนั้น และขอผู้มีอายุนั้นยกโทษต่อตน ถ้าโทษของตนมีอยู่
ภิกษุทั้งหลายพากันกล่าวชื่นชมพระสารีบุตรผู้มีคุณไม่ต่ำทราม ไม่กระทำความโกรธหรือความประทุษร้ายแม้เพียงเล็กน้อยต่อภิกษุผู้กล่าวตู่ด้วยมุสาวาท
พระศาสดาทรงสดับกถานั้นแล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ใครๆ ไม่อาจให้ความโกรธหรือความประทุษร้าย เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เช่นกับสารีบุตรได้ ภิกษุทั้งหลาย จิตของสารีบุตรเช่นกับด้วยแผ่นดินใหญ่ เช่นกับเสาเขื่อน และเช่นกับห้วงน้ำใส
แล้วทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ตรัสพระคาถานี้ว่า
ภิกษุใดเสมอด้วยแผ่นดิน เปรียบด้วยเสาเขื่อน คงที่ มีวัตรดี มีกิเลสดังเปือกตมไปปราศแล้ว เหมือนห้วงน้ำปราศจากเปือกตม ย่อมไม่ยินดียินร้าย สงสารทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้คงที่
ในเวลาจบเทศนา ภิกษุ ๙ พันรูป บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
อ่าน พระสารีบุตรเถระ
อ่าน คาถาธรรมบท อรหันตวรรค