Main navigation

ราคะกับจิต

ว่าด้วย
พระนันทเถระ
เหตุการณ์
พระนันทะ ผู้บวชด้วยความศรัทธาในพระพุทธเจ้า ไม่ยินดีในพรหมจรรย์เพราะระลึกถึงนางชนบทกัลยาณี ปรารถนาจะสึก พระพุทธเจ้าจึงพาไปดาวดึงส์เพื่อชมนางอัปสร

พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงส่งบรรดาทูต ๑๐ คน มีบริวารคนละพัน มายังวิหารเวฬุวัน นครราชคฤห์ เพื่อนิมนต์พระศาสดาให้เสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์ บรรดาทูตเหล่านั้นได้ฟังธรรม สำเร็จอรหัตและอุปสมบท จึงมิได้นิมนต์พระศาสดา
 
ต่อมา กาฬุทายีอำมาตย์ รับหน้าที่ทูตเดินทางไปเฝ้าพระศาสดา ได้บรรลุพระอรหัตเช่นกัน ท่านทูลนิมนต์พระศาสดาให้เสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์ แล้วนำเสด็จพระศาสดาผู้มีพระขีณาสพสองหมื่นแวดล้อม ไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์
 
พระศาสดาทรงทำฝนโบกขรพรรษให้เป็นเหตุเกิดแห่งเรื่อง แล้วตรัสมหาเวสสันดรชาดกในสมาคมพระญาติ วันรุ่งขึ้น เสด็จเข้าไปบิณฑบาต โปรดพระบิดาให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล โปรดพระนางมหาปชาบดีโคตมีให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล และโปรดพระบิดาให้ดำรงอยู่ในสกทาคามิผล ในกาลเสร็จภัตกิจ ทรงอาศัยการพรรณนาพระคุณของราหุลมารดา ตรัสจันทกินนรชาดก
 
ในวันที่ ๓  เป็นวันอภิเษกสมรสของนันทกุมารกับนางชนบทกัลยาณี พระศาสดาเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ประทานบาตรในหัตถ์ของนันทกุมาร ตรัสมงคล แล้วเสด็จลุกจากอาสนะ หลีกไป พระศาสดามิได้ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมาร ฝ่ายนันทกุมารนั้น ด้วยความเคารพในพระตถาคต จึงมิอาจทูลเตือนขอพระองค์รับบาตร แต่คิดว่าพระศาสดาคงจักทรงรับบาตรที่อื่น เมื่อพระองค์ไม่รับบาตร แม้พระกุมารปรารถนาจะเสด็จกลับ แต่จำต้องเสด็จไปด้วยความไม่เต็มพระทัยด้วยความเคารพในพระตถาคต ในขณะนั้น พวกทาสีเห็นอาการนั้นแล้ว จึงไปบอกแก่นางชนบทกัลยาณีว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพานันทกุมารเสด็จไปแล้ว คงจักพรากนันทกุมารจากนาง
 
ฝ่ายนางชนบทกัลยาณี ผู้ทรงเกล้าผมได้เพียงครึ่งหนึ่ง ได้ยินคำนั้นแล้ว รีบออกไปทูลให้นันทกุมารเสด็จกลับ คำของนางนั้น ประหนึ่งตกไปตั้งขวางอยู่ในหทัยของนันทกุมาร

ฝ่ายพระศาสดาก็ยังไม่ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมาร ทรงนำนันทกุมารนั้นไปสู่วิหารแล้วตรัสถามว่านันทกุมารอยากบวชหรือไม่ ด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า นันทกุมารจึงไม่ทูลว่า จักไม่บวช แต่กลับทูลรับว่า จักบวช พระศาสดาทรงให้นันทะบวช
 
ในวันที่ ๗ พระมารดาของพระราหุล ส่งพระราหุลไปสู่สำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ไปทูลขอมรดกกะพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า กุมารนี้อยากได้ทรัพย์อันเป็นสมบัติของบิดา ทรัพย์นั้นไปตามวัฏฏะ มีความคับแคบ พระองค์จักให้อริยทรัพย์ ๗ ประการ จะให้เป็นเจ้าของมรดกอันเป็นโลกุตระ
 
พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ท่านพระสารีบุตรบวชให้ราหุลกุมาร เมื่อพระกุมารผนวชแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะเกิดความทุกข์และได้ขอประทานพรให้พระผู้มีพระภาคไม่บวชให้กับบุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาตให้บวช
 
ในวันต่อมาพระราชาได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลเล่าว่าในเวลาที่พระองค์ทรงทำทุกรกิริยา เทวดาองค์หนึ่งได้บอกว่าพระองค์ทิวงคตแล้ว แต่ไม่ทรงเชื่อถ้อยคำของเทวดานั้น คัดค้านว่า พระองค์ยังไม่บรรลุโพธิญาณ ย่อมไม่ทำกาละ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสมหาธรรมปาลชาดก เพราะเหตุแห่งเรื่องนี้ ในกาลจบกถา พระเจ้าสุทโธทะดำรงอยู่ในอนาคามิผล แล้วเสด็จกลับไปสู่กรุงราชคฤห์พร้อมเหล่าภิกษุ 

ต่อมาพระนันทะอยากสึก เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับความนั้น จึงถามสาเหตุ พระนันทะทูลว่าระลึกถึงคำขอของนางชนบทกัลยาณี จึงไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ อยากสึกไป

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำพระนันทะไปสู่ดาวดึงสเทวโลกด้วยกำลังพระฤทธิ์ ในระหว่างทางทรงแสดงนางลิงรุ่นตัวหนึ่ง ซึ่งมีหู จมูก และหางขาด นั่งเจ่าอยู่บนปลายตอไม้ที่ไฟไหม้ ในนาที่ไฟไหม้แห่งหนึ่ง แล้วทรงแสดงนางอัปสร ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดั่งเท้านกพิราบ ผู้มาสู่ที่บำรุงของท้าวสักกเทวราชในภพดาวดึงส์ แล้วตรัสถามว่าระหว่างนางชนบทกัลยาณีกับนางอัปสรฝ่ายไหนมีรูปงามกว่า น่าดูกว่า และน่าเลื่อมใสกว่ากัน
 
พระนันทะ ทูลว่า นางอัปสร ๕๐๐ มีรูปงามกว่า น่าดูกว่าและน่าเลื่อมใสกว่านางชนบทกัลยาณี นางชนบทกัลยาณีเปรียบเหมือนลิงที่มีหู จมูก และหางขาด พระพุทธเจ้าตรัสว่าหากพระนันทะปฏิบัติพรหมจรรย์ จะได้นางอัปสร ๕๐๐ และได้พาพระนันทะกลับมาในพระเชตวันดังเดิม
 
เมื่อภิกษุทั้งหลายได้สดับเรื่องราวแล้ว พวกภิกษุผู้สหายของท่านพระนันทะ เรียกท่านพระนันทะว่า คนรับจ้างบ้าง คนอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงไถ่ไว้บ้าง เมื่อถูกเรียกเช่นนั้นท่านพระนันทะขวยเขิน ละอาย รังเกียจ จึงหลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ ต่อมาไม่นานได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
 
เทวดาองค์หนึ่งยังพระเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระศาสดากราบทูลว่า ท่านพระนันทะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งเอง สำเร็จแล้ว อยู่ในทิฏฐธรรม ญาณได้เกิดขึ้นแม้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าเหมือนกันว่า นันทะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งเอง สำเร็จแล้วอยู่ในทิฏฐธรรม
 
ท่านพระนันทะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้กราบทูลปลดเปลื้องพระผู้มีพระภาคเจ้าจากการรับรองจะได้นางอัปสร ๕๐๐ นั่น
 
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อจิตของพระนันทะพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะมีความไม่ยึดมั่น พระองค์ก็พ้นจากการรับรองนั้น
 
แล้วทรงเปล่งอุทานว่า
 
เปือกตม คือ กามอันผู้ใดข้ามได้แล้ว หนาม คือ กามอันผู้ใดย่ำยีได้แล้ว ผู้นั้นบรรลุความสิ้นไปแห่งโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์
 
ต่อมาภิกษุทั้งหลายถามท่านพระนันทะว่า เมื่อก่อนท่านกล่าวว่าเป็นผู้กระสัน บัดนี้ จิตของท่านเป็นอย่างไร พระนันทะตอบว่า ความห่วงใยในความเป็นคฤหัสถ์ของท่านไม่มี เมื่อพวกภิกษุได้ฟังคำนั้นแล้ว กล่าวว่าท่านนันทะพูดไม่จริงและไปกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
 
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
 
ในวันที่แล้ว ๆ มา อัตภาพของนันทะได้เป็นเช่นกับเรือนที่เขามุงไม่ดี แต่บัดนี้เป็นเช่นกับเรือนที่เขามุงดีแล้ว เพราะว่า พระนันทะได้บรรลุที่สุดแห่งกิจของบรรพชิตแล้ว
 
แล้วได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า
 
ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดีได้ ฉันใด ราคะย่อมเสียดแทงจิตที่ไม่ได้อบรมแล้วได้ ฉันนั้น  
ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ ฉันใด ราคะก็ย่อมเสียดแทงจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ ฉันนั้น
 
ในกาลจบคาถา ชนเป็นอันมากได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น
 
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า ท่านพระนันทกระสันเพราะนางชนบทกัลยาณี พระศาสดาทรงทำเหล่านางเทพอัปสรให้เป็นอามิส แล้วได้แนะนำ เมื่อพระศาสดาทราบความนั้นได้ตรัสว่า ไม่ใช่ครั้งนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ท่านก็ได้ล่อพระนันทะด้วยมาตุคาม แล้วแนะนำเหมือนกัน

พระองค์ได้ทรงตรัสบุรพกรรมของพระนันทะว่า
 
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี ลาตัวผู้ของพ่อค้าชื่อ กัปปกะ ตัวหนึ่งนำสัมภาระไปได้กุมภะหนึ่ง มันเดินไปได้วันละ ๗ โยชน์ เขาไปเมืองตักกสิลาพร้อมด้วยสัมภาระที่นำไปด้วยลา ปล่อยลาเที่ยวไปจนกว่าจะขายสิ่งของหมด ลาของเขาได้พบนางลาตัวหนึ่ง จึงเข้าไปหา นางลาได้ถามว่าที่ลาตัวผู้ไป มีนางลานวดเท้า หรือประคบประหงมไหม เพื่อพาดพิงถึงกามสังโยชน์ ลาผู้นั้นได้กระสันขึ้นด้วยคำของนางลานั้น 

ฝ่ายพ่อค้าเมื่อขายสินค้าหมดแล้ว ไปยังที่ที่ลาพักอยู่ กล่าวว่าจักไป แต่ลาไม่ไป จึงคิดว่าจะทำให้ลานั้นกลัว กล่าวว่า จักทำปฏักมีหนามแหลมยาว ๑๖ นิ้ว ทิ่มแทงกายของลา ลาก็ตอบว่าถ้าเอาหนามมาทิ่ม ลาจะทำภัณฑะของนายกัปปกะให้ตก
 
เมื่อนายกัปปกะเห็นลาตัวเมียจึงรู้ว่าลาของเขาถูกนางลาล่อลวงแล้ว เขาจะต้องล่อมันด้วยนางลา จึงกล่าวว่าจักนำนางลาสาวงามมาให้เป็นภรรยา ลาได้ฟังคำนั้นมีจิตยินดี บอกว่าถ้านำนางลาสาวมาให้จะไปให้เร็วขึ้นถึง ๑๔ โยชน์
 
นายกัปปกะจึงได้จูงลาไปสู่ที่ของตน ล่วงไปสองสามวัน ลานั้นมาทวงเรื่องจะให้ภรรยา นายกัปปกะตอบว่าไม่ผิดคำพูด จะนำภรรยามาให้ แต่จะให้อาหารแก่ลาตัวเดียว เมื่อมีลูก อาหารนั้นจะเพียงพอแก่ลากับลูกหรือไม่พึงรู้เอง เมื่อนายกัปปกะกล่าวอยู่เช่นนั้น ลานั้นได้หมดหวัง
 
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงยังชาดกให้จบลงด้วยพระดำรัสว่า
 
นางลาในคราวนั้นได้เป็นนางชนบทกัลยาณี ลาผู้ได้เป็นนันทะ พ่อค้าได้เป็นเราเอง แม้ในกาลก่อน นันทะนี้ พระองค์ก็ได้ล่อด้วยมาตุคามแนะนำแล้ว ด้วยประการอย่างนี้
 


อ่าน พระนันทเถระ
อ่าน คาถาธรรมบท ยมกวรรค

อ้างอิง
พระนันทเถระ พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ เล่มที่ ๔๐ หน้า ๑๕๕-๑๖๙
ลำดับที่
25

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ