Main navigation

เสขปฏิปทาสูตร

ว่าด้วย
ผู้มีเสขปฏิปทา
เหตุการณ์
เจ้าศากยะอัญเชิญพระผู้มีพระภาคทรงบริโภคสัณฐาคารเป็นปฐมฤกษ์ที่สัณฐาคารใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ แล้วทรงให้พระอานนท์แสดงธรรมเรื่องเสขปฏิปทาแก่พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์

ปฏิปทาของเสขบุคคล

อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ชื่อว่าเป็นผู้มีเสขปฏิปทา ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม เมื่อ

เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
รู้ประมาณในโภชนะ
ประกอบความเพียรเครื่องตื่น
ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ
เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมตามความปรารถนาโดยไม่ยาก ไม่ลำบาก

อย่างไรจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

อย่างไรจึงจะชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้

เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว...
ฟังเสียงด้วยโสตแล้ว...
ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว...
ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว...
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว...

ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น

ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์

ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์

อย่างไรจึงจะชื่อว่าเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ

อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วกลืนกินอาหาร ไม่ใช่เพื่อจะเล่น เพื่อจะมัวเมา

เพื่อความผ่องใส เพื่อความงดงาม เพียงเพื่อความดำรงอยู่แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้

เพื่อบำบัดความอยากอาหาร เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า จักกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไปแห่งอิริยาบถ ความเป็นผู้ไม่มีโทษ และความอยู่เป็นผาสุกจักมีแก่เรา

อย่างไรจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่น

อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้

เวลากลางวันชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดิน การนั่ง

เวลากลางคืน ในปฐมยาม ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดินการนั่ง เวลากลางคืน

ในมัชฌิมยาม สำเร็จสีหไสยาสน์โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ มนสิการสัญญาในอันที่จะลุกขึ้น

ในปัจฉิมยาม ลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดิน การนั่ง

อย่างไรจึงชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ

อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้

๑. เป็นผู้มีศรัทธา คือเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคต

๒. เป็นผู้มีหิริ คือ ละอายกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรมอันลามก

๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ คือ สะดุ้งกลัวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรมอันลามก

๔. เป็นพหูสูต ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว สั่งสมธรรมที่ได้สดับแล้ว ธรรมเหล่าใดงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมทั้งหลายเห็นปานนั้น ได้สดับมามาก ทรงจำไว้ได้ สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยความเห็น

๕. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

๖. เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติและปัญญาเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ตามระลึกได้ แม้ซึ่งกิจการที่ทำไว้แล้วนาน แม้ซึ่งถ้อยคำที่พูดไว้แล้วนาน

๗. เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา อันเห็นความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

อย่างไรจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก
ไม่ลำบาก

อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้

บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่

บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป

บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข

บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

ผู้มีเสขปฏิปทา ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม ควรจะชำแรกกิเลส ควรจะตรัสรู้ ควรจะบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากกิเลสเครื่องประกอบ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า

เปรียบเหมือนฟองไข่ แม่ไก่นอนทับ กก อบให้ได้ไออุ่นดีแล้ว ถึงแม่ไก่นั้นจะไม่เกิดความปรารถนาว่าขอลูกไก่พึงทำลายเปลือกไข่ออกได้โดยสะดวกลูกไก่ภายในเปลือกไข่นั้นก็คงทำลายเปลือกไข่ออกได้โดยสวัสดี

ความแตกฉานแห่งฌาน

อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้

ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ข้อนี้เป็นความแตกฉานแห่งฌานข้อที่หนึ่ง เปรียบเหมือนลูกไก่เจาะเปลือกไข่ออก

ย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยากด้วยทิพยจักษ์อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ข้อนี้เป็นความแตกฉานแห่งฌานข้อที่สอง เปรียบเหมือนลูกไก่เจาะเปลือกไข่ออก

ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ข้อนี้เป็นความแตกฉานแห่งฌานข้อที่สาม เปรียบเหมือนลูกไก่เจาะเปลือกไข่ออก

ความเป็นผู้มีวิชชาและจรณะ

ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล นี้ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง

ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย นี้ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง

ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง

ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่น นี้ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง

ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ นี้ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง

ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก นี้ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง

ข้อที่อริยสาวกระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ นี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง

ข้อที่อริยสาวกเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยากด้วยทิพยจักษ์อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม นี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง

ข้อที่อริยสาวกทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ข้อนี้เป็นความแตกฉานแห่งฌานข้อที่สาม นี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง

สนังกุมารพรหมได้กล่าวคาถาไว้ว่า

ในชุมชนที่ยังรังเกียจกันด้วยโคตร กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐสุด
ในหมู่เทวดาและมนุษย์ ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐสุด

 

อ่าน เสขปฏิปทาสูตร

 

อ้างอิง
เสขปฏิปทาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๒๔-๓๕ หน้า ๒๒-๒๙
ชุดที่
ลำดับที่
23

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ