สัมมาทิฏฐิสูตร
ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
อริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ เมื่อรู้ชัดใน
กุศล อกุศล และรากเหง้าของกุศล อกุศล
เหตุเกิด ความดับ และทางที่จะให้ถึงความดับของอาหารวาร
อริยสัจจสี่
เหตุเกิด ความดับ และทางที่จะให้ถึงความดับของเหตุและปัจจัยในปฏิจสมุปปบาท
ทางที่จะให้ถึงความดับซึ่งเหตุทั้งปวงคืิอ อริยมรรคมีองค์ ๘
เมื่ออริยสาวกมีสัมมาทิฏฐิ รู้ชัดในกุศล อกุศล และรากเหง้าของกุศล อกุศล รู้ชัดในอริยสัจ ๔ เหตุเกิด ความดับ และทางที่จะให้ถึงความดับ ย่อมละราคะ บรรเทาปฏิฆะ ถอนทิฏฐิและมานะว่ามีตน ละอวิชชา ทำวิชชาให้เกิด ย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์
-------------------
อกุศล ได้แก่
ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ อยากได้ของผู้อื่น ปองร้ายเขา เห็นผิด
รากเหง้าของอกุศล ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ
กุศล ได้แก่
ความเว้นจากฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ไม่อยากได้ของผู้อื่น ไม่ปองร้ายเขา เห็นชอบ อันนี้เรียกว่า กุศลแต่ละอย่าง ๆ
รากเหง้าของกุศล ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ
อาหาร ได้แก่ อาหาร ๔ อย่าง คือ
๑. คำข้าว หยาบหรือละเอียด
๒. ผัสสะ
๓. ความคิดอ่าน [จงใจ]
๔. วิญญาณ [ความรู้แจ้งทางทวาร ๖]
ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดอาหาร อาหารดับเพราะตัณหาดับ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือทางที่จะให้ถึงความดับอาหาร
อริยสัจ
ทุกข์ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความแห้งใจ ความพิไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สมหวัง แต่ละอย่างๆ ล้วนเป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์
ทุกขสมุทัย ได้แก่ ตัณหาอันทำให้เกิดในภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยสามารถแห่งความเพลิน เพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
ทุกขนิโรธ ได้แก่ ความดับด้วยสามารถแห่งความสำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่พัวพันแห่งตัณหานั้นแหละ
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ได้แก่ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ
ปฏิสมุปบาท
ชราและมรณะ ได้แก่ ความแก่ ความคร่ำคร่า ฟันหลุด ผมหงอก หนังย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ อันนี้เรียกว่าชรา
ความจุติ ความเคลื่อนไป ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทิ้งซากศพไว้ ความขาดไปแห่งชีวิตินทรีย์จากหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ อันนี้เรียกว่ามรณะ
ชาติเป็นเหตุให้เกิดชราและมรณะ ชราและมรณะดับเพราะชาติดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับชราและมรณะ
ชาติ คือ ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลง เกิด เกิดเฉพาะความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น
ภพเป็นเหตุให้เกิดชาติ ชาติดับเพราะภพดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับชาติ
ภพ ได้แก่ ภพ ๓ เหล่านี้ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ
อุปาทานเป็นเหตุภพ ภพดับเพราะอุปาทานดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับภพ
อุปาทาน ได้แก่ อุปาทาน ๔ คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน
ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดอุปาทาน อุปาทานดับเพราะตัณหาดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอุปาทาน
ตัณหา ได้แก่ ตัณหา ๖ หมวดเหล่านี้ คือ ตัณหาในรูป ตัณหาในเสียง ตัณหาในกลิ่น ตัณหาในรส ตัณหาในโผฏฐัพพะ ตัณหาในธรรม
เวทนาเป็นเหตุให้เกิดตัณหา ตัณหาดับเพราะเวทนาดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับตัณหา
เวทนา ได้แก่เวทนา ๖ หมวดเหล่านี้ คือ เวทนาที่เกิดแต่จักขุสัมผัส เวทนาที่เกิดแต่โสตสัมผัส เวทนาที่เกิดแต่ฆานสัมผัส เวทนาที่เกิดแต่ชิวหาสัมผัส เวทนาที่เกิดแต่กายสัมผัส เวทนาที่เกิดแต่มโนสัมผัส
ผัสสะเป็นเหตุให้เกิดเวทนา เวทนาดับเพราะผัสสะดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับเวทนา
ผัสสะ ได้แก่ ผัสสะ ๖ หมวด คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส
อายตนะ ๖ เป็นเหตุให้เกิดผัสสะ ผัสสะดับเพราะอายตนะ ๖ ดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับผัสสะ
อายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
นามรูปเป็นเหตุให้เกิดอายตนะ ๖ อายตนะ ๖ ดับเพราะนามรูปดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอายตนะ ๖
นามรูป เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ อันนี้เรียกว่า นาม มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ อันนี้เรียกว่ารูป นามและรูปดังพรรณนามา เรียกว่า นามรูป
วิญญาณเป็นเหตุให้เกิดนามรูป นามรูปดับเพราะวิญญาณดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับนามรูป
วิญญาณ ได้แก่ วิญญาณ ๖ หมวดเหล่านี้ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ
สังขารเป็นเหตุให้เกิดวิญญาณ วิญญาณดับเพราะสังขารดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ คือปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับวิญญาณ
สังขาร ได้แก่ สังขาร ๓ เหล่านี้ คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร
อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดสังขาร สังขารดับเพราะอวิชชาดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือทางที่จะให้ถึงความดับสังขาร
อวิชชา คือความไม่รู้ในทุกข์ ในเหตุเกิดแห่งทุกข์ ในความดับทุกข์ ในปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับทุกข์
อาสวะเป็นเหตุให้เกิดอวิชชา อวิชชาดับเพราะอาสวะดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอวิชชา
อาสวะ ได้แก่ อาสวะ ๓ เหล่านี้ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ
อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดอาสวะ อาสวะดับเพราะอวิชชาดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอาสวะ
อ่าน สัมมาทิฏฐิสูตร