Main navigation

เขย่าเวชยันตปราสาทของท้าวสักกะ

เหตุการณ์
ท้าวสักกะไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามถึงธรรมที่ทำให้เป็นทีสิ้นไปแห่งตัณหา เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเสร็จ ท้าวสักกะก็ชื่นชมยินดี พระโมคคัลลานะซึ่งนั่งอยู่ใกล้ได้มีความคิดว่า ท้าวสักกะทราบความถึงภาษิตแล้วจึงยินดี หรือไม่ทราบก็ยินดี จึงไปยังดาวดึงส์เพื่อถามท้าวสักกะ

ท้าวสักกะจอมเทพเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน มีความปลอดโปร่งจากกิเลสเป็นเครื่องประกอบล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น

ถ้าภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวง ครั้นทราบชัดธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี เธอย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความหน่าย พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืนในเวทนาทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งอะไร ๆในโลก

เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตัว และทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ดังนี้

ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา

ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลาน์นั่งอยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ได้มีความคิดว่า ท้าวสักกะนั้นทราบความพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วจึงยินดี หรือว่าไม่ทราบก็ยินดี พระมหาโมคคัลลานะจึงไปหาท้าวสักกะที่ชั้นดาวดึงส์ แล้วขอฟังธรรมอันเป็นที่สิ้นแห่งตัณหาจากท้าวสักกะ

ท้าวสักกะตรัสว่าตนมีกิจมาก มีธุระที่จะต้องทำมาก ทั้งธุระส่วนตัว ทั้งธุระของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ภาษิตใดที่ฟังแล้วก็ลืมเสียเร็วพลัน แล้วก็เล่าเรื่องสงครามระหว่างเทวดาและอสูรว่าในสงครามนั้น พวกเทวดาชนะ พวกอสูรแพ้ เมื่อท้าวสักกะชนะเทวาสุรสงครามเสร็จแล้วก็ให้สร้างเวชยันตปราสาท และชวนพระโมคคัลลาน์ ชมสถานที่น่ารื่นรมย์ของเวชยันตปราสาท

พระมหาโมคคัลลาน์กล่าวชื่นชมสถานที่น่ารื่นรมย์ว่างดงามเหมือนสถานที่ของผู้ที่ได้ทำบุญไว้ในปางก่อน และดำริว่าท้าวสักกะนี้เป็นผู้ประมาทอยู่มากนัก ถ้ากระไร เราพึงให้ท้าวสักกะนี้สังเวชเถิด

พระโมคคัลลานะจึงบันดาลอิทธาภิสังขาร เอาหัวแม่เท้ากดเวชยันตปราสาทเขย่าให้สั่น สะท้าน หวั่นไหว ทันใดนั้นท้าวสักกะจอมเทพ ท้าวเวสวัณมหาราช และพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ มีความประหลาดมหัศจรรย์จิต กล่าวกันว่า นี่เป็นความประหลาดอัศจรรย์ พระสมณะมีฤทธิ์มาก อานุภาพมาก เอาหัวแม่เท้ากดทิพยพิภพ เขย่าให้สั่นสะท้าน หวั่นไหวได้.

เมื่อท่านพระมหาโมคคัลลานะทราบว่า ท้าวสักกะจอมเทพมีความสลด จิตขนลุกแล้ว จึงถามท้าวสักกะว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสความน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหาโดยย่นย่ออย่างไร ขอมีส่วนฟังกถานั้น

ท้าวสักกะกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคตรัสถึงธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหาดังนี้ 

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้ว ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวง  ครั้นทราบชัดธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงดังนั้นแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี เธอย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความหน่าย พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืนในเวทนาทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ก็ไม่ยึดมั่นสิ่งอะไรๆในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตัว และทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ดังนี้

พระมหาโมคคัลลาน์ ชื่นชม ยินดีภาษิตของท้าวสักกะ แล้วได้หายไปในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ มาปรากฏที่ปราสาทของมิคารมารดา ในวิหารบุพพาราม มาเล่าให้พระพุทธเจ้าว่าท้าวสักกะกล่าวถึงธรรมอันเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหาอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสว่าทรงจำได้ว่าได้แสดงธรรมไปเช่นนั้น

เมื่อท่านพระมหาโมคคัลลาน์หลีกไปแล้วไม่นาน พวกเทพธิดาผู้บำเรอของท้าวสักกะจอมเทพ  ได้ทูลถามท้าวสักกะว่า พระโมคคัลลานะเป็นพระผู้มีพระภาคผู้พระศาสดาของท้าวสักกะหรือ ท้าวสักกะ ตรัสตอบว่าพระสมณะนั้นไม่ใช่พระศาสดาของเรา  เป็นท่านพระมหาโมคคัลลาน์ผู้เป็นสพรหมจารีของเรา

เทพธิดาจึงกล่าวว่า เป็นลาภของท้าวสักกะแล้ว ได้ดีแล้ว ที่ได้พระสมณะผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เป็นสพรหมจารี พระผู้มีพระภาคผู้ศาสดาคงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากเป็นอัศจรรย์เป็นแน่

 

อ่าน จูฬตัณหาสังขยสูตร

อ้างอิง
จูฬตัณหาสังขยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๔๓๓-๔๓๙ หน้า ๓๒๕-๓๒๙
ลำดับที่
7

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ