มหานิทานสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ปฏิจจสมุปบาทนี้ลึกซึ้งสุดประมาณและเป็นของลึก เพราะไม่รู้จริง เพราะไม่แทงตลอดซึ่งธรรมนี้ หมู่สัตว์จึงเกิดเป็นผู้ยุ่งประดุจด้ายของช่างหูก จึงไม่พ้นอุบาย ทุคติ วินิบาต สงสาร
- ชรา มรณะ มี ชาติ เป็นปัจจัย
- ชาติ มี ภพ เป็นปัจจัย
- ภพ มี อุปาทาน เป็นปัจจัย
- อุปาทาน มี ตัณหา เป็นปัจจัย
- ตัณหา มี เวทนา เป็นปัจจัย
- เวทนา มี ผัสสะ เป็นปัจจัย
- ผัสสะ มี นามรูป เป็นปัจจัย
- นามรูป มี วิญญาณ เป็นปัจจัย
- วิญญาณ มี นามรูป เป็นปัจจัย
- เพราะ นามรูป เป็นปัจจัย จึงเกิด วิญญาณ
- เพราะ วิญญาณ เป็นปัจจัย จึงเกิด นามรูป
- เพราะนามรูป เป็นปัจจัย จึงเกิด ผัสสะ
- เพราะ ผัสสะ เป็นปัจจัย จึงเกิด เวทนา
- เพราะ เวทนา เป็นปัจจัย จึงเกิด ตัณหา
- เพราะ ตัณหา เป็นปัจจัย จึงเกิด อุปาทาน
- เพราะ อุปาทาน เป็นปัจจัย จึงเกิด ภพ
- เพราะ ภพ เป็นปัจจัย จึงเกิด ชาติ
- เพราะ ชาติ เป็นปัจจัย จึงเกิดชรามรณะ โสกปริเทว ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการนี้
เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดชรามรณะ ทรงกล่าวอธิบายดังนี้
ถ้าชาติไม่มีในภพไหน ๆ คือ มิได้มีเพื่อความเป็นเทพ เพื่อความเป็นคนธรรพ์ เพื่อความเป็นยักษ์ เพื่อความเป็นภูต เพื่อความเป็นมนุษย์ เพื่อความเป็นสัตว์สี่เท้า เพื่อความเป็นปักษี เพื่อความเป็นสัตว์เลื้อยคลาน
ก็ถ้าชาติไม่มีเพื่อความเป็นอย่างนั้นๆ แห่งสัตว์พวกนั้น ๆ โดยประการทั้งปวง เพราะชาติดับไป ชราและมรณะจะปรากฏไม่ได้เลย
เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งชรามรณะก็คือชาตินั่นเอง
เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ ทรงกล่าวอธิบายดังนี้
ก็ถ้าภพ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ มิได้มีแก่ใครๆในภพไหนๆ โดยประการทั้งปวง เพราะภพดับไป ชาติจะปรากฏไม่ได้เลย
เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งชาติก็คือภพนั่นเอง
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ ทรงกล่าวอธิบายดังนี้
ก็ถ้าอุปาทาน คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน ไม่มีแก่ใครๆ ในภพไหน ๆ โดยประการทั้งปวง เพราะอุปาทานดับไป ภพจะปรากฏไม่ได้เลย
เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งภพก็คืออุปาทานนั่นเอง
เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน ทรงกล่าวอธิบายดังนี้
ก็ถ้าตัณหา คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา ไม่มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ โดยประการทั้งปวง เพราะตัณหาดับไป อุปาทานจะปรากฏไม่ได้เลย
เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งอุปาทานก็คือตัณหานั่นเอง
เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา ทรงกล่าวอธิบายดังนี้
ก็ถ้าเวทนา คือ เวทนาที่เกิดเพราะจักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส ไม่มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ โดยประการทั้งปวง เพราะเวทนาดับไป ตัณหาจะปรากฏไม่ได้เลย
เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งตัณหาก็คือเวทนานั่นเอง
- เพราะอาศัยเวทนา จึงเกิดตัณหา
- เพราะอาศัยตัณหา จึงเกิดการแสวงหา
- เพราะอาศัยการแสวงหา จึงเกิดลาภ
- เพราะอาศัยลาภ จึงเกิดการตกลงใจ
- เพราะอาศัยการตกลงใจ จึงเกิดการรักใคร่พึงใจ
- เพราะอาศัยการรักใคร่พึงใจ จึงเกิดการพะวง
- เพราะอาศัยการพะวง จึงเกิดความยึดถือ
- เพราะอาศัยความยึดถือ จึงเกิดความตระหนี่
- เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงเกิดการป้องกัน
- เพราะอาศัยการป้องกัน จึงเกิดเรื่องในการป้องกันขึ้น
อกุศลธรรม คือ การถือไม้ ถือมีด การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวว่า มึง มึง การพูดคำส่อเสียด และการพูดเท็จย่อมเกิดขึ้น
ก็ถ้าการป้องกันไม่มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ โดยประการทั้งปวง เพราะหมดการป้องกัน อกุศลธรรม คือ การถือไม้ ถือมีด การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาทการกล่าวว่า มึง มึง การพูดคำส่อเสียด และการพูดเท็จ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งการเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม คือ การถือไม้ ถือมีด การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวว่า มึง มึง การกล่าวคำส่อเสียด และการพูดเท็จ ก็คือการป้องกันนั่นเอง
เพราะอาศัยตัณหาจึงเกิดการแสวงหา ทรงกล่าวอธิบายดังนี้
ก็ถ้าตัณหา คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ไม่มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ โดยประการทั้งปวง เพราะดับตัณหาเสียได้ การแสวงหาจะปรากฏไม่ได้เลย
เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยของการแสวงหาก็คือตัณหานั่นเอง
ธรรมทั้งสองเหล่านี้รวมเป็นอันเดียวกันกับเวทนาโดยส่วนสอง ด้วยประการดังนี้
เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา ทรงกล่าวอธิบายดังนี้
ก็ถ้าผัสสะ คือ จักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส ไม่ได้มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ โดยประการทั้งปวง เพราะดับผัสสะเสียได้ เวทนาจะปรากฏไม่ได้เลย
เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งเวทนาก็คือผัสสะนั่นเอง
เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ ทรงกล่าวอธิบายดังนี้
การบัญญัติ นามกาย ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุเทศนั้น ๆ ไม่มี การสัมผัสเพียงแต่ชื่อในรูปกายจะพึงปรากฏไม่ได้เลย
การบัญญัติ รูปกาย ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้น ๆ ไม่มี การสัมผัสโดยการกระทบจะปรากฏในนามกายไม่ได้เลย
การบัญญัติ นามก็ดี รูปกายก็ดี ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้น ๆ ไม่มี การสัมผัสเพียงแต่ชื่อก็ดี การสัมผัสโดยการกระทบก็ดี จะปรากฏไม่ได้เลย
การบัญญัติ นามรูป ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้น ๆ ไม่มี ผัสสะจะปรากฏไม่ได้เลย
เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งผัสสะก็คือนามรูปนั่นเอง
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป ทรงกล่าวอธิบายดังนี้
ก็ถ้าวิญญาณไม่หยั่งลงในท้องแห่งมารดา นามรูปจักขาดในท้องแห่งมารดาไม่ได้เลย
ก็ถ้าวิญญาณหยั่งลงในท้องแห่งมารดาแล้วล่วงเลยไป นามรูปจักบังเกิดไม่ได้เลย
ก็ถ้าวิญญาณ ของกุมารก็ดี ของกุมาริกาก็ดี ผู้ยังเยาว์วัยอยู่จักขาดความสืบต่อ นามรูปจักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ไม่ได้เลย
เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งนามรูปก็คือวิญญาณนั่นเอง
เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ ทรงกล่าวอธิบายดังนี้
ก็ถ้าวิญญาณไม่ได้อาศัยในนามรูปแล้ว ความเกิดขึ้นแห่งชาติชรามรณะและกองทุกข์พึงปรากฏต่อไปไม่ได้เลย
เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งวิญญาณก็คือนามรูปนั่นเอง
ด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้แหละ วิญญาณและนามรูปจึงยังเกิด แก่ ตาย จุติ หรืออุปบัติ
ทางแห่งชื่อ ทางแห่งนิรุติ ทางแห่งบัญญัติ ทางที่กำหนดรู้ด้วยปัญญาและวัฏฏสังสาร ย่อมเป็นไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ๆ ความเป็นอย่างนี้ ย่อมมีเพื่อบัญญัติ คือ นามรูปกับวิญญาณ
บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตา ย่อมบัญญัติด้วยเหตุประมาณเท่าไร
ก็เมื่อบุคคลจะบัญญัติอัตตา มีรูปเป็นกามาวจร ย่อมบัญญัติว่า อัตตาของเรามี รูปเป็นกามาวจร
เมื่อบัญญัติอัตตา มีรูปหาที่สุดมิได้ ย่อมบัญญัติว่า อัตตาของเรามี รูปหาที่สุดมิได้
เมื่อบัญญัติอัตตา ไม่มีรูปเป็นกามาวจร ย่อมบัญญัติว่า อัตตาของเรา ไม่มีรูปเป็นกามาวจร
เมื่อบัญญัติอัตตา ไม่มีรูปหาที่สุดมิได้ ย่อมบัญญัติว่า อัตตาของเรา ไม่มีรูปหาที่สุดมิได้
ผู้ที่บัญญัติอัตตา ย่อมบัญญัติในกาลปัจจุบัน หรือบัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือมีความเห็นว่า เราจักยังสภาพอันไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้
การลงความเห็นว่าอัตตา ย่อมติดสันดานอย่างนี้
บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตาย่อมบัญญัติด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้
บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตา ย่อมไม่บัญญัติด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร
ก็เมื่อบุคคลไม่บัญญัติอัตตามีรูปเป็นกามาวจร ย่อมไม่บัญญัติว่า อัตตาของเรามีรูปเป็นกามาวจร
เมื่อไม่บัญญัติอัตตามีรูปอันหาที่สุดมิได้ ย่อมไม่บัญญัติว่า อัตตาของเรามีรูปหาที่สุดมิได้
เมื่อไม่บัญญัติอัตตาไม่มีรูปเป็นกามาวจร ย่อมไม่บัญญัติว่า อัตตาของเราไม่มีรูปเป็นกามาจร
เมื่อไม่บัญญัติอัตตาไม่มีรูปหาที่สุดมิได้ ย่อมไม่บัญญัติว่า อัตตาของเราไม่มีรูปหาที่สุดมิได้
ผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตา ย่อมไม่บัญญัติในกาลปัจจุบัน หรือไม่บัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือไม่มีความเห็นว่า เราจักยังสภาพอันไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้
การลงความเห็นว่าอัตตา ย่อมไม่ติดสันดานอย่างนี้
บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตา ย่อมไม่บัญญัติด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้
บุคคลเมื่อเล็งเห็นอัตตา ย่อมเล็งเห็นด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร
บุคคลเมื่อเล็งเห็นเวทนาเป็นอัตตา ย่อมเล็งเห็นว่า
๑. เวทนาเป็นอัตตาของเรา
๒. ถ้าเวทนาไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราก็ไม่ต้องเสวยเวทนา
๓. เวทนาไม่เป็นอัตตาของเราเลย จะว่าอัตตาของเราไม่ต้องเสวยเวทนาก็ไม่ใช่อัตตาของเรายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะฉะนั้นอัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา
๑. เวทนาเป็นอัตตาของเรา
ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า เวทนาเป็นอัตตาของเรา จะพึงถูกซักถามอย่างนี้ว่า บรรดาเวทนา ๓ ประการนี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ท่านเล็งเห็นอันไหนโดยความเป็นอัตตา
ในสมัยใด อัตตาเสวยสุขเวทนา ในสมัยนั้น ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนาคงเสวยแต่สุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น
ในสมัยใด อัตตาเสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา คงเสวยแต่ทุกขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น
ในสมัยใด อัตตาเสวยอทุกขมสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนาไม่ได้เสวยทุกขเวทนา คงเสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น
เวทนาที่เป็นสุขก็ดี ที่เป็นทุกข์ก็ดี ที่เป็นอทุกขมสุขก็ดี ล้วนไม่เที่ยง เป็นเพียงปัจจัยปรุงแต่งขึ้น มีความสิ้นความเสื่อม ความคลาย และความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเขาเสวยสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ย่อมมีความเห็นว่า นี้เป็นอัตตาของเรา เมื่อเวทนานั้นๆ ดับไป จึงมีความเห็นว่า อัตตาของเราดับไปแล้ว
ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า เวทนาเป็นอัตตาของเรานั้น เมื่อเล็งเห็นอัตตา ย่อมเล็งเห็นเวทนาอันไม่เที่ยง เกลื่อนกล่นไปด้วยสุขและทุกข์ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นอัตตาในปัจจุบันเท่านั้น เพราะเหตุนั้นแหละ จึงยังไม่ควรที่จะเล็งเห็นว่า เวทนาเป็นอัตตาของเรา
๒. ถ้าเวทนาไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราก็ไม่ต้องเสวยเวทนา
ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ถ้าเวทนาไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราก็ไม่ต้องเสวยเวทนา เขาจะพึงถูกซักอย่างนี้ว่า ในรูปขันธ์ล้วนๆ ก็ยังมิได้เสวยอารมณ์อยู่ทั้งหมด ในรูปขันธ์นั้น จะเกิดอหังการว่าเป็นเราไม่ได้
เพราะเหตุนั้นแหละ จึงยังไม่ควรที่จะเล็งเห็นว่า ถ้าเวทนาไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราก็ไม่ต้องเสวยเวทนา
๓. เวทนาไม่เป็นอัตตาของเราเลย อัตตาของเราไม่ต้องเสวยเวทนาก็ไม่ใช่ อัตตาของเรายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะว่าอัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา
ส่วนผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า เวทนาไม่เป็นอัตตาของเราเลย อัตตาของเราไม่ต้องเสวยเวทนาก็ไม่ใช่ อัตตาของเรายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะว่าอัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา เขาจะพึงถูกซักอย่างนี้ว่า อาวุโส ก็เพราะเวทนาจะต้องดับไปทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่เหลือเศษ เมื่อเวทนาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะเวทนาดับไป ยังจะเกิดอหังการว่า เป็นเราได้หรือ ในเมื่อขันธ์นั้นๆ ดับไปแล้ว
เพราะเหตุนั้นแหละ จึงยังไม่ควรที่จะเล็งเห็นว่า เวทนาไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราไม่ต้องเสวยเวทนาเลยก็ไม่ใช่ อัตตาของเรายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะว่า อัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา
คราวใดภิกษุไม่เล็งเห็นเวทนาเป็นอัตตา ไม่เล็งเห็นอัตตาว่าไม่ต้องเสวยเวทนาก็ไม่ใช่ ไม่เล็งเห็นว่าอัตตายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะว่าอัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา ภิกษุนั้น เมื่อเล็งเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก และเมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะทกสะท้าน เมื่อไม่สะทกสะท้านย่อมปรินิพพานได้เฉพาะตน
ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า
- ทิฐิว่าเบื้องหน้าแต่ตาย สัตว์ยังมีอยู่
- ว่าเบื้องหน้าแต่ตาย สัตว์ไม่มีอยู่
- ว่าเบื้องหน้าแต่ตาย สัตว์มีอยู่ด้วย ไม่มีอยู่ด้วย
- ว่าเบื้องหน้าแต่ตาย สัตว์มีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้
การกล่าวของบุคคลนั้นไม่สมควร
วิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒
๑. สัตว์มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่พวกมนุษย์ และพวกเทพ
๒. สัตว์มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่พวกเทพในชั้นพรหมผู้บังเกิดด้วยปฐมฌาน และสัตว์ผู้เกิดในอบาย ๔ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๒
๓. สัตว์มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่พวกเทพชั้นอาภัสสร นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๓
๔. สัตว์ที่มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่พวกเทพชั้นสุภกิณหะ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๔
๕. สัตว์ที่เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆะสัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๕
๖. สัตว์ที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงชั้นอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๖
๗. สัตว์ที่เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไรเพราะล่วงชั้นวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๗
ส่วนอายตนะอีก ๒ คือ อสัญญีสัตตายตนะ และ เนวสัญญานาสัญญายตนะ
การหลุดพ้นด้วยปัญญาวิมุตติ
เพราะภิกษุทราบชัดความเกิดและความดับ ทั้งคุณและโทษ และอุบายเป็นเครื่องออกไปจากวิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒ เหล่านี้ ตามเป็นจริงแล้ว ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นได้ เพราะไม่ยึดมั่น ภิกษุนี้เราเรียกว่า ปัญญาวิมุตติ
วิโมกข์ ๘
๑. ผู้ได้รูปฌานย่อมเห็นรูป นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๑
๒. ผู้ไม่มีความสำคัญในรูปในภายใน ย่อมเห็นรูปในภายนอก นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๒
๓. ผู้ที่น้อมใจเชื่อว่า กสิณเป็นของงาม นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๓
๔. ผู้บรรลุอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๔
๕. ผู้ที่บรรลุวิญญาณัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงชั้นอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ที่ ๕
๖. ผู้ที่บรรลุอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๖
๗. ผู้ที่บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๗
๘. ผู้ที่บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๘
การหลุดพ้นด้วยอุภโตภาควิมุตติ
ภิกษุเข้าวิโมกข์ ๘ ประการเหล่านี้ เป็นอนุโลมบ้าง เป็นปฏิโลมบ้าง เข้าทั้งอนุโลมและปฏิโลมบ้าง เข้าบ้าง ออกบ้าง ตามคราวที่ต้องการ ตามสิ่งที่ปรารถนา และตามกำหนดที่ต้องประสงค์ จึงบรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป เพราะทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน ภิกษุนี้ เราเรียกว่าอุภโตภาควิมุตติ อุภโตภาควิมุตติอื่นจากอุภโตภาควิมุตตินี้ที่จะยิ่งหรือประณีตไปกว่าไม่มี
อ่าน มหานิทานสูตร