Main navigation

ธรรมเป็นเหตุให้ยศเจริญ

เหตุการณ์
ในนครราชคฤห์เกิดอหิวาตกโรคขึ้นในเรือนของราชคหเศรษฐี เศรษฐีและภรรยาเจ้าของเรือนนั้นป่วยเป็นโรคแล้ว ได้บอกให้บุตรนามว่ากุมภโฆสก หนีไปที่อื่นเพื่อรักษาชีวิต แล้วค่อยกลับมาขุดเอาทรัพย์ ๔๐ โกฏิที่ฝังเก็บไว้

กุมภโฆสกหนีไปอยู่ป่าตลอด ๑๒ ปี แล้วจึงกลับมาบ้าน แต่ไม่มีใครจำเขาได้ เขาคิดว่าถ้าไปขุดทรัพย์ขึ้นมาอาจถูกจับและโดนทำร้าย จึงไปรับจ้างทำงานทำหน้าที่ปลุกและตักเตือนคนงานให้ทำงานในเวลาเช้า
 
พระเจ้าพิมพิสาร ได้ยินเสียงของเขารู้ว่าเป็นเสียงของคนผู้มีทรัพย์มาก นางสนมคนหนึ่งได้ยินจึงส่งคนไปสืบ พบว่าเป็นคนกำพร้า แต่พระเจ้าพิมพิสารยังทรงตรัสเหมือนเดิมถึงสามครั้ง เมื่อกุมภโฆสกเปิดเผยและแสดงจำนวนทรัพย์แก่พระเจ้าพิมพิสาร ก็ได้รับตำแหน่งเศรษฐี 

พระราชาเสด็จไปสู่สำนักพระศาสดาพร้อมกับเขา และได้กราบทูลเรื่องของกุมภโฆสกให้พระศาสดาโดยบอกว่าเป็นผู้มีปัญญา แม้มีสมบัติถึง ๔๐ โกฏิ ก็ไม่ทำอาการเย่อหยิ่ง หรืออาการสักว่าทะนงตัว ทำเป็นเหมือนคนกำพร้า นุ่งผ้าเก่าๆ ทำการรับจ้างที่ถนนอันเป็นที่อยู่ของคนรับจ้าง เลี้ยงชีพ 
 
พระศาสดาทรงตรัสว่า ชีวิตของบุคคลเป็นอยู่อย่างนั้น ชื่อว่าเป็นอยู่ประกอบด้วยธรรม ก็กรรมมีกรรมของโจรเป็นต้น ย่อมเบียดเบียนบีบคั้น ผู้ทำในโลกนี้ทั้งในโลกหน้า ชื่อว่าความสุขอันมีกรรมนั้นเป็นเหตุ ก็ไม่มี ก็บุรุษทำการรับจ้างก็ดี ทำนาก็ดี เลี้ยงชีวิตในกาลเสื่อมทรัพย์นั่นแล ชื่อว่าชีวิตประกอบด้วยธรรม อันความเป็นใหญ่ย่อมเจริญขึ้นอย่างเดียว แก่คนผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียร บริบูรณ์ด้วยสติ มีการงานบริสุทธิ์ทางทวารทั้งหลาย มีกายและวาจาเป็นต้น มีปกติใคร่ครวญด้วยปัญญา แล้วจึงทำผู้สำรวมไตรทวาร มีกายทวารเป็นต้น เลี้ยงชีวิตโดยธรรม ตั้งอยู่ในอันไม่เหินห่างสติเห็นปานนั้น
 
แล้วทรงกล่าวคาถาว่า ยศย่อมเจริญโดยยิ่ง แก่คนผู้มีความขยัน มีสติ มีการงานสะอาด มีปกติใคร่ครวญ แล้วจึงทำ สำรวมแล้ว เลี้ยงชีพโดยธรรม และไม่ประมาท
 
ในกาลจบพระคาถา กุมภโฆสกดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล และชนเป็นอันมาก ก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น



คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรค
อรรถกถาเรื่อง กุมภโฆสก

อ้างอิง
คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๑๒/๑๗ และอรรถกถาเรื่อง กุมภโฆสก
ลำดับที่
9

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ