ตัดความรักของตน
ภิกษุบุตรนายช่างทองเข้าสู่ป่าเพียรพยายามปฏิบัติอสุภกรรมฐาน ๓ เดือน ก็ไม่สามารถทำจิตให้แน่วแน่ ในครั้งที่ ๒ พระสารีบุตรจึงบอกกรรมฐานให้ดีขึ้นอีก ก็ยังไม่สามารถทำคุณวิเศษอะไรๆ ให้เกิดขึ้นได้ พระสารีบุตรจึงบอกกัมมัฏฐานให้มีเหตุมีอุปมา ภิกษุก็ทำไม่สำเร็จอีก
พระสารีบุตรคิดว่า ภิกษุนี้เป็นผู้ทำความเพียร มิใช่เป็นผู้ไม่ทำ เป็นผู้ปฏิบัติ มิใช่เป็นผู้ไม่ปฏิบัติ แต่เพราะพระสารีบุตรไม่รู้อัธยาศัยของภิกษุ ภิกษุนี้จึงเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าพึงแนะนำ
พระศาสดาตรัสกับพระสารีบุตรว่า อาสยานุสยญาณย่อมมีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงเห็นอัตภาพ ๕๐๐ ของภิกษุที่เคยเกิดในตระกูลช่างทอง อสุภปฏิกูลกัมมัฏฐานไม่เหมาะแก่ภิกษุหนุ่มนี้ กัมมัฏฐานที่พอใจเท่านั้นจึงจะเป็นกัมมัฏฐานที่สบาย
พระศาสดาทรงนิรมิตดอกปทุมทอง แล้วให้ภิกษุนำดอกปทุมนี้ไปปักไว้ที่กองทรายที่ท้ายวิหาร นั่งขัดสมาธิหันหน้าไปทางดอกบัว แล้วบริกรรมว่า สีแดง สีแดง ภิกษุเมื่อได้รับดอกบัวมามีใจเลื่อมใส นั่งขัดสมาธิและบริกรรมว่า สีแดง สีแดง นิวรณ์ทั้งหลายได้ระงับในขณะนั้นนั่นเอง อุปจารฌานบังเกิดขึ้น ท่านยังปฐมฌานให้เกิดขึ้นในลำดับแห่งอุปจารฌานนั้น ถึงความเป็นผู้ชำนาญโดยอาการ ๕ บรรลุฌานทั้งหลาย
พระศาสดาทรงทราบว่าฌานทั้งหลายเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นแล้ว และภิกษุนี้ไม่สามารถทำคุณวิเศษอันยิ่งให้เกิดขึ้นตามธรรมดาของตน จึงทรงอธิษฐานให้ดอกปทุมนั้นเหี่ยวแห้งอย่างฉับพลัน เมื่อภิกษุนั้นเห็นดอกปทุมเหี่ยวแห้งมีสีดำเช่นนั้น รำพึงว่า ดอกปทุมนี้ถูกชรากระทบได้ แม้เมื่ออนุปาทินนกสังขารชรายังครอบงำได้อย่างนี้ ชราคงจักครอบงำอุปาทินนกสังขารเช่นกัน ท่านเห็นอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะ ภพ ๓ ปรากฏแก่ท่านดุจไฟติดทั่ว และดุจซากศพอันบุคคลผูกไว้ที่คอ
พระศาสดาทรงทราบว่า บัดนี้ กัมมัฏฐานปรากฏแก่ภิกษุแล้ว ทรงเปล่งพระรัศมีไปกระทบหน้าของภิกษุนั้น ประหนึ่งว่าเสด็จมาประทับยืนอยู่ตรงหน้า แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
เธอจงตัดความเยื่อใยของตนเสีย
เหมือนบุคคลถอนดอกโกมุทที่เกิดในสารทกาลด้วยมือ
จงเจริญทางแห่งสันติทีเดียว
เพราะพระนิพพาน อันพระสุคตแสดงแล้ว
ในกาลจบพระธรรมเทศนา ภิกษุรูปนั้นตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล
คาถาธรรมบท มรรควรรค
อรรถกถาเรื่อง เรื่องสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ