Main navigation

คาถาพัน

ว่าด้วย
พระทารุจีริยเถระ
เหตุการณ์
พระศาสดาทรงปรารภพระทารุจีริยเถระ ผู้สำคัญว่าตนเป็นอรหันต์ และบุพกรรมของพระทารุจีริยเถระ

ครั้งหนึ่ง คนเป็นอันมากได้แล่นเรือไปสู่มหาสมุทร เรือได้อับปางลง พวกเขาเหล่านั้นได้เป็นอาหารของเต่าและปลา แต่มีบุรุษผู้หนึ่งชื่อ ทารุจีริยะ จับไม้กระดานไว้ได้ พยายามกระเสือกกระสนจนไปถึงท่าเรือชื่อสุปปารกะ เขาไม่มีผ้านุ่งห่ม จึงนำปอพันท่อนไม้แห้ง ทำเป็นผ้านุ่งห่ม เขาถือกระเบื้องจากเทวสถาน และได้ไปสู่ท่าเรือสุปปารกะ คนทั้งหลายเห็นเขาแล้ว ให้ยาคูและภัต แล้วยกย่องว่า ผู้นี้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง

เมื่อชนทั้งหลายนำผ้าเข้าไปให้เขา เขาไม่คิดที่จะนุ่งหรือห่มผ้า ด้วยเกรงว่าลาภและสักการะของเขาจักเสื่อมสิ้นไป เขาจึงไม่นุ่งผ้าที่ชนนำมา นุ่งห่มแต่เปลือกไม้เท่านั้น เมื่อคนเป็นอันมากยกย่องว่าเขาเป็นพระอรหันต์ ทารุจีริยะจึงเข้าใจว่าตัวเองก็เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
 
ประวัติเดิมของทารุจีริยะ
 
ในกาลสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะเสื่อมลง ภิกษุ ๗ รูป เห็นการกระทำอันแปลกของบรรพชิตทั้งหลายจึงเกิดความสลดใจ คิดว่าจะต้องพึ่งตนเองเท่านั้นจึงเข้าไปสู่ป่า เห็นภูเขาลูกหนึ่งแล้วกล่าวว่า ผู้มีอาลัยในชีวิตจงกลับไป ผู้ไม่มีอาลัยจงขึ้นภูเขาลูกนี้ แล้วได้พาดบันได ปีนขึ้นสู่ภูเขานั้น เมื่อทุกรูปขึ้นมาแล้ว ได้ผลักบันไดทิ้ง แล้วกระทำสมณธรรม
 
ในบรรดาภิกษุเหล่านั้น พระสังฆเถระบรรลุพระอรหัตในราตรีเดียวเท่านั้น พระเถระนั้นได้ไปนำไม้ชำระฟันชื่อนาคลดาในสระอโนดาต และนำบิณฑบาตมาจากอุตตรกุรุทวีป แล้วกล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ให้เคี้ยวไม้ชำระฟันนี้ บ้วนปาก แล้วให้ฉันบิณฑบาตนี้
 
ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่าไม่ได้มีการทำกติกาไว้ว่าภิกษุใดบรรลุพระอรหัตก่อนแล้วภิกษุทั้งหลายที่เหลือจักฉันบิณฑบาตที่ภิกษุนั้นนำมา ดังนั้น ภิกษุองค์อื่นจึงจะขอทำคุณวิเศษให้บังเกิดเองและจักนำบิณฑบาตมาบริโภคเอง
 
ในวันที่ ๒ พระอนุเถระบรรลุอนาคามิผล แม้พระอนุเถระจะนำบิณฑบาตมาและนิมนต์ภิกษุที่เหลือฉัน ภิกษุเหล่านั้นก็กล่าวเช่นเดิมไม่บริโภคบิณฑบาตที่พระอนุเถระนำมา ด้วยต้องการใช้ความเพียรของตนเองในการทำให้เกิดคุณวิเศษและจักนำบิณฑบาตมาบริโภคเอง
 
ในบรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้บรรลุพระอรหัต ปรินิพพานแล้ว ภิกษุผู้เป็นอนาคามีบังเกิดในพรหมโลก ภิกษุอีก ๕ รูป ไม่อาจทำคุณวิเศษให้บังเกิดได้ ผ่ายผอม แล้วมรณภาพในวันที่ ๗ ไปบังเกิดในเทวโลก
 
ในพุทธุปบาทกาลนี้ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว บังเกิดในเรือนแห่งตระกูลต่าง ๆ คนหนึ่งได้เป็นพระราชาพระนามว่า ปุกกุสาติ คนหนึ่งได้เป็นพระกุมารกัสสป  คนหนึ่งได้เป็นพระทารุจีริยะ คนหนึ่งได้เป็นพระทัพพมัลลบุตร คนหนึ่งได้เป็นปริพาชกชื่อสภิยะ
 
พรหมผู้เป็นสาโลหิตกันในกาลก่อนของทารุจีริยะมีความปริวิตกว่าเขาหลอกลวงชนทั้งหลาย จักพึงฉิบหาย จึงได้ไปบอกความจริงแก่ทารุจีริยะว่าเขาไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ และยังไม่ได้บรรลุพระอรหัตมรรคเลย แม้ปฏิปทาอันเป็นเหตุให้เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้บรรลุพระอรหัตมรรค ก็ยังไม่มี
 
ทารุจีริยะมองดูมหาพรหมผู้ยืนพูดอยู่ในอากาศ จึงคิดได้ว่าได้ทำกรรมหนัก และได้ถามว่าพระอรหันต์มีอยู่ในโลกหรือไม่ พรหมจึงบอกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ประทับอยู่ในนครสาวัตถี เป็นพระอรหันต์และทรงแสดงธรรมเพื่อความเป็นพระอรหันต์ด้วย
 
ทารุจีริยะจึงออกเดินทางจากท่าเรือสุปปารกะไปถึงกรุงสาวัตถี ระยะทางประมาณ ๑๒๐ โยชน์ โดยคืนเดียวเท่านั้น เมื่อไปถึงพระศาสดาเสด็จเข้าไปสู่กรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต เมื่อทารุจีริยะถามภิกษุทั้งหลายได้ความว่าพระศาสดาไปบิณฑบาต แม้ภิกษุบอกให้พักคอย เขาก็ไม่คอย รีบไปยังกรุงสาวัตถี เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตด้วยพุทธสิริอันหาที่เปรียบมิได้ และได้ไปถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ในระหว่างถนน จับที่ข้อพระบาททั้งสองแน่น แล้วกราบทูลขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรม

พระศาสดาตรัสห้ามเขาว่ายังไม่ใช่กาล พระองค์กำลังบิณฑบาต แต่เขาก็ยังกราบทูลขออีกครั้ง  แม้ครั้งที่ ๒ พระศาสดาก็ตรัสห้ามแล้วเหมือนกัน ด้วยทรงปริวิตกว่าเมื่อพาหิยะเห็นพระองค์ สรีระทั้งสิ้นของเขาเอิบอาบไปด้วยปีติปราโมช ผู้ที่ปีติมีกำลังกล้าเช่นนั้น แม้ฟังธรรมก็มิอาจแทงตลอดเนื้อความแห่งธรรมได้ เมื่อใดใจของเขาตั้งอยู่ในอุเบกขา เมื่อนั้นการแสดงธรรมจึงจะมีประโยชน์แก่เขาอย่างเต็มที่ และร่างกายของเขาเหน็ดเหนื่อยมาก เพราะเดินทางมาทั้งคืนสิ้นระยะทางถึง ๑๒๐ โยชน์ ขอให้ความเหน็ดเหนื่อยของเขาได้บรรเทาลงก่อน
 
เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสห้ามถึง ๒ ครั้ง เมื่อถูกเขาอ้อนวอนครั้งที่ ๓ จึงทรงแสดงธรรมในระหว่างถนนนั่นเองโดยนัยว่า
 
เธอพึงศึกษาในศาสนานี้ อย่างนี้ว่า เมื่อรูปเราได้เห็นแล้ว รูปจักเป็นเพียงเราเห็น
 
เธอพึงสำเนียกว่า เราจักเห็นรูปเพียงสักแต่ว่าเห็น จักฟังเสียงสักแต่ว่าฟัง จักรู้สักแต่ว่ารู้ อย่าให้มีความยึดมั่นถือมั่นเข้าจับเกาะในการเห็น การฟัง และการรู้นั้น อย่าให้ความดีใจหรือเสียใจรั่วไหลเข้าสู่จิตใจเพราะการได้เห็น ได้ฟัง และได้รู้นั้น
 
ด้วยอาการอย่างนี้ ตัวเธอจักไม่มีในโลกนี้ หรือในโลกไหน ๆ นั่นแหละคือที่สุดแห่งทุกข์
 
พาหิยะกำลังฟังธรรมของพระศาสดาอยู่ ยังอาสวะทั้งหมดให้สิ้นไป บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔  ในขณะนั้นนั่นเอง เขาทูลขอบรรพชา
 
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า มีบาตรจีวรแล้วหรือ ทารุจีริยะตอบว่ายังไม่มี พระพุทธเจ้าจึงให้แสวงหาบาตรและจีวรก่อนแล้วก็เสด็จหลีกไป 
 
พาหิยะนั้นเคยบำเพ็ญสมณธรรมมาตั้ง ๒ หมื่นปี แต่ไม่เคยสงเคราะห์ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ในเรื่องบาตรและจีวร คิดแต่เพียงว่า ควรบริโภคใช้สอยด้วยตนเองเท่านั้น
 
พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงประทานบรรพชาอุปสมบททันที เพราะทรงทราบว่าบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์จักไม่มีแก่พาหิยะ ดังนั้น พาหิยะจึงต้องเที่ยวแสวงหาเอง ขณะที่กำลังแสวงหาบาตรจีวรอยู่ ยักษิณีตนหนึ่งแปลงกายเป็นแม่โคนม ได้ขวิดเขาจนสิ้นชีวิต
 
พระศาสดาเสด็จเที่ยวบิณฑบาต ทรงกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว เสด็จออกไปพร้อมกับภิกษุเป็นอันมาก ทรงเห็นร่างของพาหิยะถูกทิ้งในที่กองขยะ จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายให้ไปขอเตียงจากบ้านใดบ้านหนึ่ง แล้วนำสรีระนี้ออกจากเมือง เผา แล้วทำสถูปไว้
 
เมื่อภิกษุทั้งหลายได้กระทำตามพระพุทธบัญชา ได้ทูลถามอภิสัมปรายภพของพาหิยะ
 
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกความที่พาหิยะนั้นปรินิพพานแล้วแก่ภิกษุเหล่านั้น แล้วทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะว่า
 
ทารุจีริยะ (ผู้นุ่งผ้าเปลือกไม้) เป็นเลิศกว่าภิกษุผู้สาวกของเรา ผู้ตรัสรู้เร็ว เลิศในทางขิปปาภิญญา
 
ทารุจีริยะบรรลุพระอรหัตในกาลที่เขาฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคในขณะที่พระองค์กำลังเที่ยวบิณฑบาต ยืนในระหว่างถนน กล่าวธรรมแก่เขา
 
ภิกษุจึงถามว่าธรรมที่พระองค์ประทับยืนในระหว่างถนน ตรัสแล้ว มีประมาณเล็กน้อย เขายังคุณวิเศษให้บังเกิดด้วยธรรมมีประมาณเพียงนั้นอย่างไร
 
พระศาสดาตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า
 
เธอทั้งหลายอย่านับธรรมของเราว่า น้อยหรือมาก ด้วยคาถาว่าพันหนึ่งแม้เป็นอเนกที่ไม่อาศัยประโยชน์ ไม่ประเสริฐ ส่วนบทแห่งคาถาแม้บทเดียวอาศัยประโยชน์ ประเสริฐกว่า
 
ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

หากว่าคาถาแม้พันหนึ่ง ไม่ประกอบด้วยบทเป็นประโยชน์ [ไม่ประเสริฐ] บทแห่งคาถาบทเดียว ซึ่งบุคคลฟังแล้ว สงบระงับได้ ประเสริฐกว่า
 
ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น
 




อ่าน พระทารุจีริยเถระ
อ่าน คาถาธรรมบท สหัสสวรรค

 

อ้างอิง
พระทารุจีริยเถระ พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ เล่มที่ ๔๑ หน้า ๔๒๕-๔๓๓
ลำดับที่
26

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ