Main navigation

พระเอกวิหาริยเถระ

ว่าด้วย
ผู้ยินดีการอยู่ป่าแต่ผู้เดียว
เหตุการณ์
บุพกรรมและคาถาสุภาษิตของพระเอกวิหาริยเถระ ว่าด้วย ผลแห่งการอยู่ป่าแต่ผู้เดียว

ท่านพระเอกวิหาริยเถระผู้ได้บำเพ็ญมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ

ในกาลแห่งพระทศพลทรงพระนามว่ากัสสปะ บังเกิดในเรือนมีสกุล ได้ฟังธรรม เกิดความเลื่อมใสจึงได้บรรพชา แล้วเข้าไปสู่ป่า อยู่แบบสงบสงัด

ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านจึงท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลกตลอดพุทธันดรหนึ่ง

ในพุทธุปบาทกาลนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพาน ได้บังเกิดเป็นติสสกุมาร พระกนิษฐภาดาของพระเจ้าธรรมาโศกราช

วันหนึ่ง ติสสกุมารเข้าไปหานายพรานเนื้อในป่า ได้เห็นช้างตัวประเสริฐกำลังจับกิ่งไม้สาละนั่งพัดถวายพระโยนกมหาธรรมรักขิตเถระ ก็คิดว่า เมื่อตนบวชแล้ว ก็จะอยู่ในป่าเช่นพระเถระนี้ พระธรรมรักขิตเถระทราบวาระจิตของติสสกุมาร ได้เหาะไปในอากาศ ยืนบนผิงน้ำไม่ให้น้ำแตกกัน เมื่อได้เห็นอานุภาพของพระเถระ มีความเลื่อมใสยิ่งนัก จึงทูลขอพระราชาออกผนวช แม้ผู้ใดจะอ้อนวอนก็มิอาจล้มเลิกความประสงค์

ท่านได้ภาษิตเอกวิหาริยเถรคาถาว่า

ถ้าไม่มีผู้อื่นอยู่ข้างหน้าหรือข้างหลังเรา ความสบายใจอย่างยิ่งคงจะมีแก่เรา ผู้อยู่ในป่าผู้เดียว

มิฉะนั้น เราผู้เดียวจักไปสู่ป่าอันพระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า ความผาสุกย่อมมีแก่ภิกษุผู้อยู่แต่ผู้เดียว มีใจเด็ดเดี่ยว

เราผู้เดียว เป็นผู้ชำนาญในสิ่งที่เป็นประโยชน์ จักเข้าไปสู่ป่าใหญ่ อันทำให้เกิดปีติแก่พระโยคาวจร น่ารื่นรมย์ เป็นที่อยู่ของหมู่ช้างตกมัน โดยเร็วพลัน

เราผู้เดียวจักอาบน้ำในซอกเขาอันเยือกเย็น ในป่าอันเย็น มีดอกไม้บานสะพรั่ง จักจงกรมให้เป็นที่สำราญใจ

เมื่อไรเราจึงจักได้อยู่ในป่าใหญ่อันน่ารื่นรมย์แต่ผู้เดียว ไม่มีเพื่อนสอง จักเป็นผู้ทำกิจสำเร็จ หาอาสวะมิได้

ขอความประสงค์ของเรา ผู้ปรารถนาจะทำอย่างนี้ จงสำเร็จเถิด เราจักยังความประสงค์ของเราให้สำเร็จจงได้ ผู้อื่นไม่อาจทำผู้อื่นให้สำเร็จได้เลย

พระกุมารไปยังเรือนที่บำเพ็ญเพียร แล้วบวชในสำนักของพระมหาธรรมรักขิตเถระ ชนหลายร้อยคนพากันบวชตาม แม้ท่านอัคคิพรหมผู้เป็นราชภาคิไนย และผู้เป็นพระสวามีของพระนางสังฆมิตตา ก็ออกบวชตามพระกุมารนั้นเหมือนกัน

เมื่อพระกุมารบวชแล้ว เป็นผู้มีจิตร่าเริงยินดี ประกาศถึงกิจที่ตนควรจะกระทำว่า

เราจักผูกเกราะคือความเพียร จักเข้าไปสู่ป่าใหญ่ เรายังไม่บรรลุถึงความสิ้นอาสวะแล้ว จักไม่ออกไปจากป่านั้น

เมื่อลมเย็นพัดมา กลิ่นดอกไม้ก็หอมฟุ้งมา เราจักนั่งอยู่บนยอดเขา ทำลายอวิชชา

เราจักได้รับความสุขรื่นรมย์ อยู่ด้วยวิมุตติสุข ในถ้ำที่เงื้อมเขาซึ่งดารดาษไปด้วยดอกโกสุม มีภาคพื้นเยือกเย็น อันมีอยู่ในป่าใหญ่เป็นแน่

พระเถระกล่าวอย่างนั้นแล้วเข้าไปสู่ป่า บำเพ็ญสมณธรรมพร้อมกับพระอุปัชฌาย์ ได้ไปยังแคว้นกลิงคะ แม้ป่วยเป็นโรคผิวหนังก็ไม่ออกจากป่าเพื่อแสวงหาเนยใสมารักษา มุ่งแต่จะบำเพ็ญวิปัสสนาถ่ายเดียว จนโรคกำเริบขึ้น

หมอเห็นว่าพระเถระมีความขวนขวายน้อยในการแสวงหาเนยใส จึงแสวงหาเสียเอง แล้วได้ทำให้พระเถระหายขาดจากโรค

พระเถระนั้นไม่มีโรคแล้ว ต่อกาลไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต

ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

ในภัททกัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะโดยพระโคตร เป็นเผ่าพรหม มีพระยศใหญ่ ประเสริฐกว่านักปราชญ์ทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว

พระองค์ไม่มีธรรมเครื่องให้เนิ่นช้า ไม่มีเครื่องยึดหน่วง มีพระทัยเสมอด้วยอากาศ มากด้วยสุญญตสมาธิ คงที่ ยินดีในอนิมิตตสมาธิ ประทับอยู่

พระองค์ผู้มีพระทัยไม่เกี่ยวข้องในอารมณ์ ไม่มีตัณหาเครื่องฉาบทา ไม่คลุกคลีในตระกูล ในหมู่คณะ ประกอบด้วยพระกรุณาใหญ่ เป็นนักปราชญ์ ทรงฉลาดในอุบายเครื่องแนะนำ

ทรงขวนขวายในกิจของผู้อื่น ทรงแนะนำในหนทางอันยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน ซึ่งเป็นเหตุทำเปือกตมคือคติให้แห้ง ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ประทับนั่งแสดงอมตธรรมอันเป็นความแช่มชื่นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องห้ามชราและมรณะ ในท่ามกลางบริษัทใหญ่ ยังสัตว์ให้ข้ามโลก

พระวาจาไพเราะเหมือนนกการะเวก เป็นนาถะของโลก มีพระสุรเสียงก้องประหนึ่งเสียงพรหม

ผู้เสด็จมาด้วยประการนั้น ถอนพระองค์ขึ้นจากมหันตทุกข์ ในเมื่อโลกปราศจากผู้แนะนำ ทรงแสดงธรรมที่ปราศจากธุลี นำสัตว์ออกจากโลก

เราได้เห็นแล้ว ได้ฟังธรรมของพระองค์ จึงออกบวชเป็นบรรพชิต ครั้นเราบวชแล้ว ในกาลนั้น คิดถึงคำสอนของพระชินเจ้า ถูกความเกี่ยวข้องบีบคั้น จึงได้อยู่เสียในป่าที่น่ารื่นรมย์แต่ผู้เดียวเท่านั้น

การที่เรามีกายหลีกออกมาได้ เป็นเหตุแห่งการหลีกออกแห่งใจของ เราผู้เห็นภัยในความเกี่ยวข้อง

เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘  และอภิญญา ๖ เราก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว พระพุทธศาสนา เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้

 

 

อ่าน เอกวิหาริยเถรคาถา
อ่าน เอกวิหาริยเถรปทาน
 

อ้างอิง
เอกวิหาริยเถรคาถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๖ ข้อที่ ๓๗๑ หน้า ๒๙๘-๒๙๙
ลำดับที่
15

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ