Main navigation

พระมหากัปปินเถระ

ว่าด้วย
ผู้ประเสริฐสุดในการกล่าวสอนภิกษุ
เหตุการณ์
บุพกรรมและคาถาสุภาษิตของพระมหากัปปินเถระ

ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ท่านพระมหากัปปินเถระบังเกิดในเรือนมีสกุล ในนครหังสาวดี รู้เดียงสาแล้ว ฟังธรรมในสำนักพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุผู้กล่าวสอนภิกษุ จึงกระทำบุญญาธิการที่จะเป็นเหตุให้เกิดตำแหน่งนั้นแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น เขาทำกุศลในภพนั้นจนตลอดชีวิต ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก 

ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสปะ บังเกิดในเรือนมีสกุล ในกรุงพาราณสี รู้เดียงสาแล้ว เป็นหัวหน้าคน ๑,๐๐๐ คน ร่วมช่วยกันสร้างบริเวณใหญ่อันประดับด้วยห้อง ๑,๐๐๐ ห้อง ชนเหล่านั้นทำกุศลจนตลอดชีวิต โดยมอบหน้าที่ให้อุบาสกนั้นพร้อมด้วยบุตรและภริยาเป็นหัวหน้า แล้วพากันบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวไปในเทวโลก และมนุษยโลก ตลอดพุทธันดรหนึ่ง

ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในพระราชวัง ในพระนครชื่อกุกกุฏะ ในปัจจันตประเทศ มีพระนามว่า กัปปินะ พวกบุรุษที่เหลือพากันบังเกิดในตระกูลอำมาตย์ในนครนั้น พอพระราชบิดาเสด็จสวรรคต กัปปินกุมารทรงได้รับเศวตฉัตร เป็นพระเจ้ามหากัปปินะ

พระเจ้ามหากัปปินะทรงส่งพวกราชทูตไปทางประตูเมืองทั้ง ๔ โดยให้มาบอกถ้าได้พบพวกพหูสูตแล้ว

ในกาลนั้น พระศาสดาทรงประทับอยู่ที่กรุงสาวัตถี พวกพ่อค้าชาวกรุงสาวัตถีพากันถือเอาสิ่งของจากกรุงสาวัตถีมาบรรณาการพระราชา  พระราชาจึงตรัสถามว่า พระราชาทรงตั้งอยู่ในธรรมหรือเปล่า ในประเทศมีธรรมเช่นไร

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า พระพุทธรัตนะอุบัติขึ้นแล้ว ในประเทศของพวกเขา เมื่อพระราชาเพียงได้สดับคำว่า พุทฺโธ เท่านั้น ปีติก็เกิดขึ้นแผ่ไปทั่วพระสรีระของพระราชา และขอให้กล่าวคำว่า  พุทฺโธ อีกอย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง ทรงเลื่อมใสในบทว่า พุทฺโธ เป็นบทที่มีคุณ หาประมาณมิได้ ดังนี้แล้ว พระราชทานทรัพย์จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ให้ แล้วตรัสถามให้กล่าวบทอื่นอีก 

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า พระธรรมรัตนะอุบัติขึ้นแล้วในโลก เมื่อพระราชาทรงสดับบทนั้นแล้ว พระราชทานทรัพย์จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ให้ แล้วตรัสถามให้กล่าวบทอื่นอีก 

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า พระสังฆรัตนะอุบัติขึ้น พระราชาทรงสดับบทนั้นแล้ว พระราชทานทรัพย์จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ให้ แล้วเสด็จออกจากที่นั้นด้วยตั้งพระทัยว่าจะบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า และพวกอำมาตย์ ๑,๐๐๐ คนก็ตั้งใจเช่นกัน 

พระราชาพร้อมด้วยอำมาตย์เสด็จไปถึงฝั่งแม่น้ำคงคา ทรงกระทำสัจจะอธิษฐานว่า ถ้าพระศาสดาทรงเป็นสัมมาสัมพุทธะจริง ขอน้ำจงอย่าเปียกแม้เพียงกีบเท้าม้าเหล่านี้เลย แล้วเสด็จข้ามแม่น้ำคงคา เสด็จข้ามแม่น้ำอื่นอีกที่กว้างตั้งกึ่งโยชน์ก็อย่างนั้นเหมือนกัน เสด็จถึงแม่น้ำใหญ่สายที่ ๓ ชื่อว่าจันทภาคาแล้ว เสด็จข้ามแม่น้ำแม้นั้น ด้วยการทำสัจจะอธิษฐานนั้นเหมือนกัน

ในเวลาใกล้รุ่งวันนั้นเอง พระศาสดาทรงออกจากพระมหากรุณาสมาบัติแล้ว ทรงตรวจดูสัตวโลก ทรงเห็นว่า พระเจ้ามหากัปปินะทรงสละราชสมบัติพร้อมด้วยอำมาตย์ผู้เป็นบริวาร ๑,๐๐๐ คน เดินทางมาเพื่อบวชในสำนักของพระองค์ จึงจะทำการต้อนรับพวกเขาเหล่านั้น เมื่อเสด็จกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัต พระองค์เสด็จไปทางอากาศ ประทับนั่งขัดสมาธิบัลลังก์ที่โคนต้นนิโครธใหญ่ ทรงเปล่งพระพุทธรัศมีมีพรรณะ ๖ ประการไป ณ ที่ท่าน้ำที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา

พระราชาและอำมาตย์เหล่านั้นกำลังพากันข้ามท่าน้ำนั้นอยู่ แลดูพระพุทธรัศมีที่แผ่ซ่าน ได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่ชนเหล่านั้น ในเวลาจบพระธรรมเทศนา พระราชาพร้อมกับบริษัท ทรงดำรงอยู่ในพระอรหัตผล ชนเหล่านั้นทั้งหมดขอบวชกับพระศาสดา 

ต่อมาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพวกภิกษุผู้เป็นอันเตวาสิกของท่านพระมหากัปปินะว่า ท่านกัปปินะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายบ้างไหม เมื่อทรงทราบว่าท่านกัปปินะไม่แสดงธรรม จึงทรงให้เรียกหาพระเถระมาแล้ว ตรัสให้พระเถระแสดงธรรมแก่พวกภิกษุผู้เข้าไปหา พระเถระรับพระดำรัสพระศาสดา แล้วได้ทำให้พระสมณะ ๑,๐๐๐ รูป ดำรงอยู่ในพระอรหัต ด้วยโอวาทเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ด้วยเหตุนั้น พระศาสดาจึงทรงตั้งพระมหากัปปินเถระไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย

มหากัปปินเถรคาถา คาถาสุภาษิตของพระมหากัปปินเถระ

วันหนึ่ง พระเถระได้กล่าวสอนนางภิกษุณีทั้งหลายว่า 

ผู้ใดพิจารณาเห็นแจ้ง หรือแสวงหาประโยชน์ ย่อมพิจารณาเห็นกิจทั้งสอง คือสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์อันยังไม่มาถึงได้ก่อน อมิตรหรือศัตรูของผู้นั้น ซึ่งคอยแสวงหาช่องอยู่ไม่ทันเห็น ผู้นั้นเรียกว่า ผู้มีปัญญา 

ผู้ใดเจริญอานาปานสติให้บริบูรณ์ด้วยดีแล้ว อบรมแล้วโดยลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์เพ็ญพ้นจากกลีบเมฆ

จิตผ่องใสแล้ว อบรมดีแล้ว หาประมาณมิได้ เป็นจิตประคองไว้แล้วเป็นนิตย์ ย่อมยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสว 

บุคคลผู้มีปัญญาถึงจะสิ้นทรัพย์ ก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ ส่วนบุคคลผู้ไม่มีปัญญา ถึงจะมีทรัพย์ ก็เป็นอยู่ไม่ได้ 

ปัญญาเป็นเครื่องตัดสินสิ่งที่ตนฟังมาแล้ว เป็นเครื่องเจริญชื่อเสียงและความสรรเสริญ นรชนในโลกนี้ ผู้ประกอบด้วยปัญญา แม้ในเวลาที่ตนตกทุกข์ ก็ย่อมได้รับความสุข  

ธรรมนี้มิใช่มีในวันนี้ ไม่ใช่น่าอัศจรรย์ และไม่ใช่ไม่เคยมีมาแล้ว แต่ดูเหมือนเป็นของที่ไม่เคยมีในโลก ซึ่งเป็นที่เกิดที่ตาย 

เมื่อสัตว์เกิดมาแล้ว ก็มีความเป็นอยู่กับความตายแน่แท้ สัตว์ที่เกิดมาแล้ว ย่อมตายไปทั้งนั้น เพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา 

ชีวิตอันใดเป็นประโยชน์แก่บุรุษเหล่าอื่น ชีวิตอันนั้นย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว การร้องไห้ถึงผู้ที่ตายไปแล้ว ย่อมไม่ทำให้เกิดผล ไม่ทำให้เกิดความสรรเสริญ สมณะและพราหมณ์ไม่สรรเสริญเลย 

การร้องไห้ย่อมเบียดเบียนจักษุและร่างกาย ทำให้เสื่อมวรรณะ กำลัง และความคิด ชนทั้งหลายผู้เป็นข้าศึกย่อมมีจิตยินดี ส่วนชนผู้เป็นมิตรก็พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย 

บุคคลพึงปรารถนาท่านผู้เป็นนักปราชญ์  เป็นพหูสูต ให้อยู่ในสกุลของตน เพราะกิจทุกอย่างจะสำเร็จได้ ก็ด้วยกำลังปัญญาของท่านที่เป็นนักปราชญ์ และเป็นพหูสูตเท่านั้น เหมือนบุคคลข้ามแม่น้ำอันเต็มฝั่งด้วยเรือ

 

 

อ่าน มหากัปปินเถรคาถา

อ้างอิง
มหากัปปินเถรคาถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๖ ข้อที่ ๓๗๒
ลำดับที่
21

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ