พระปุสสเถระ
ท่านพระปุสสเถระบำเพ็ญบารมีมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ ได้สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้น ๆ
ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามัณฑลิกะ นามว่าปุสสะ ได้ฟังธรรมในสำนักของพระมหาเถระรูปหนึ่ง มีศรัทธาออกบวช เรียนกัมมัฏฐานอันเหมาะสมแก่ความประพฤติ บำเพ็ญภาวนาอยู่เนือง ๆ ทำฌานให้บังเกิดขึ้น เริ่มตั้งวิปสสนามีฌานเป็นบาท ไม่นานนักก็ได้อภิญญา ๖
วันหนึ่ง ดาบสผู้เลื่อมใสที่เห็นภิกษุหลายรูปอุดมด้วยศีล มีอินทรีย์สำรวมแล้ว มีกายและจิตอบรมแล้ว ถึงคำถามว่าในอนาคตภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จักมีความพอใจอย่างไร
พระปุสสนะเถระตอบด้วยคาถาว่า
ในกาลข้างหน้า ภิกษุเป็นอันมากจักเป็นคนมักโกรธ ลบหลู่คุณ หัวดื้อ โอ้อวด ริษยา มีวาทะต่าง ๆ กัน จักเป็นผู้มีมานะในธรรมที่ยังไม่รู้ทั่วถึง คิดว่าตื้นในธรรมที่ลึกซึ้ง เป็นคนเบา ไม่เคารพธรรม ไม่มีความเคารพกันและกัน
ในกาลข้างหน้า โทษเป็นอันมากจักเกิดขึ้นในหมู่สัตวโลก เพราะภิกษุทั้งหลายผู้ไร้ปัญญา ทำธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วให้เศร้าหมอง พวกภิกษุที่มีคุณอันเลว โวหารจัด ปากกล้า จักมีขึ้นในสังฆมณฑล ภิกษุที่มีคุณความดี มีความละอายบาป จะมีกำลังน้อย
ภิกษุทั้งหลายในอนาคตที่ทรามปัญญา จะพากันยินดีเงินทอง ไร่นา ที่ดิน และคนรับใช้ เป็นคนโง่ มุ่งแต่จะกล่าวโทษผู้อื่น ไม่ดำรงมั่นในศีล ถือตัว ยินดีด้วยการทะเลาะวิวาท ฟุ้งซ่าน ลวงโลก กระด้าง แส่หาลาภผล เที่ยวชูมานะ ทำตนดั่งพระอริยเจ้า มุ่งแต่ลาภผล เกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม เห็นการอยู่ป่าเป็นความลำบาก จะอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน ยินดีมิจฉาชีพ ไม่สำรวมอินทรีย์
ภิกษุทั้งหลายจะไม่บูชาพวกภิกษุมีลาพน้อย ไม่คบภิกษุที่เป็นนักปราชญ์ มีศีลเป็นที่รัก นุ่งห่มผ้าสีขาวของพวกเดียรถีย์ ไม่เคารพในผ้ากาสาวะ ไม่พิจารณาโดยแยบคาย แสดงอาการยุ่งยากในใจออกมา
ภิกษุผู้มีีจิตใจชั่วร้าย ไม่เอื้อเฟื้อ จักข่มขี่ภิกษุผู้คงที่มีเมตตาจิต จักไม่เคารพกันและกัน ไม่เอื้อเฟื้อในพระอุปัชฌายาจารย์
ภายหลังจากการสังคายานาครั้งที่ ๓ ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลายในอนาคตจักปฏิบัติอย่างนี้
แล้วได้กล่าวคาถา ๓ คาถา ความว่า
ภัยอย่างใหญ่หลวงที่จะทำอันตรายต่อข้อปฏิบัติย่อมมาในอนาคตอย่างนี้
ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ว่าง่าย จงพูดแต่ถ้อยคำที่สละสลวย มีความเคารพกันและกัน มีจิตเมตตากรุณาต่อกัน
จงสำรวมในศีล ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวบากบั่นอย่างมั่นเป็นนิตย์
จงเห็นความประมาท โดยความเป็นภัย และจงเห็นความไม่ประมาทโดยความเป็นของปลอดภัย แล้วจงอบรมอัฏฐังคิกมรรค เมื่อทำได้ดังนี้ ย่อมจะบรรลุนิพพานอันเป็นทางไม่เกิดไม่ตาย
อ่าน ปุสสเถรคาถา