Main navigation
มิจฉาทิฏฐิ
Share:

(๑)  มิจฉาทิฏฐิ  มีในสมัยนั้น เป็นไฉน

ทิฏฐิ  ความเห็นไปข้างทิฏฐิ  ป่าชัฏคือทิฏฐิ  กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สัญโญชน์คือทิฏฐิ  ความยึดถือ ความยึดมั่น ความตั้งมั่น  ความถือผิด  ทางชั่ว  ทางผิด  ภาวะที่ผิด  ลัทธิ เป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาสในสมัยนั้น  อันใด  ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ  มีในสมัยนั้น

(๒) มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ คือ

๑. ความเห็นว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล
๒. ความเห็นว่า การบูชาพระรัตนตรัยไม่มีผล
๓. ความเห็นว่า การบูชาเทวดาไม่มีผล
๔. ความเห็นว่า ผลวิบากของกรรมดีและกรรมชั่วไม่มี
๕. ความเห็นว่า โลกนี้ไม่มี
๖. ความเห็นว่า โลกหน้าไม่มี
๗. ความเห็นว่า มารดาไม่มี
๘. ความเห็นว่า บิดาไม่มี
๙. ความเห็นว่า สัตว์ที่จุติและเกิดไม่มี
๑๐. ความเห็นว่า สมณพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รู้ยิ่งเห็นแจ้ง ประจักษ์ซึ่งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่นรู้ได้ ไม่มีในโลก

เหล่านี้เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐

(๓) ทิฐิไม่ใช่วัตถุ วัตถุไม่ใช่ทิฐิ เหล่านี้เป็นสังโยชน์ แต่ไม่ใช่ทิฐิ

(๓) มิจฉาทิฐิมีความถือผิดด้วยอาการ ๑๐

ทิฐิ คือ ความลูบคลำด้วยความถือผิดแห่งมิจฉาทิฐิอันกล่าวถึงวัตถุอย่างนี้ว่า

-  ทานที่ให้แล้วไม่มีผล
-  ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล
-  การเซ่นสรวงไม่มีผล
-  ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วไม่มี
-  โลกนี้ไม่มี
-  โลกหน้าไม่มี
-  มารดาไม่มี
-  บิดาไม่มี
-  สัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นก็ไม่มี
-  สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้ว ปัญญาอันยิ่งเองแล้วสั่งสอนประชุมชนให้รู้ตาม ไม่มีในโลก

มิจฉาทิฐิมีความถือผิดด้วยอาการ ๑๐ เหล่านี้ 

(๔)  เพราะมีความเห็นผิด จึงพลาดจากสวรรค์และมรรคผล

บุคคลผู้มีความเห็นผิด ย่อมมีความดำริผิด
ผู้มีความดำริผิด ย่อมมีวาจาผิด
ผู้มีวาจาผิด ย่อมมีการงานผิด
ผู้มีการงานผิด ย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด
ผู้มีการเลี้ยงชีพผิด ย่อมมีความพยายามผิด
ผู้มีความพยายามผิด ย่อมมีความระลึกผิด
ผู้มีความระลึกผิด ย่อมมีความตั้งใจผิด
ผู้มีความตั้งใจผิด ย่อมมีความ
รู้ผิด ผู้มีความรู้ผิด ย่อมมีความหลุดพ้นผิด

เพราะอาศัยมิจฉัตตะอย่างนี้ จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล

คติของผู้มีมิจฉาทิฏฐิ

(๓) มิจฉาทิฐิเป็นทิฐิวิบัติ
(๓) (๕)  ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่ามีคติเป็น ๒ คือ นรกหรือกำเนิดเดียรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง

(๖) บุคคลรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงจะละมิจฉาทิฐิได้

บุคคลรู้ เห็นจักษุ โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นรูป โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นจักษุวิญญาณ โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นจักษุสัมผัส โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นแม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้

บุคคลรู้ เห็นหู โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นเสียง โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นโสตวิญญาณ โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นโสตสัมผัส โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นแม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัส เป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้

รู้ เห็น จมูก โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้เห็นกลิ่น โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นฆานวิญญาณ โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นฆานสัมผัส โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นแม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้

รู้ เห็นลิ้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นรส โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นชิวหาวิญญาณ โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นชิวหาสัมผัส โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นแม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้

รู้ เห็นกาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นสัมผัส โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นกายวิญญาณ โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นกายสัมผัส โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้ 
รู้ เห็นแม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้

รู้ เห็นใจ โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นธรรมารมณ์ โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นมโนวิญญาณ โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นมโนสัมผัส โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้
รู้ เห็นแม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฐิได้

เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จึงจะละมิจฉาทิฐิได้



 
อ้างอิง
(๑)  ธรรมสังคณีปกรณ์  พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๔ ข้อที่ ๒๙๑ หน้า ๑๑๐
(๒)  วิภังคปกรณ์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๕ ข้อที่ ๑๐๓๑ หน้า ๔๘๓
(๓)  ทิฐิกถา  พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๓๓๓ หน้า ๑๑๘
(๔)  มิจฉัตตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๑๐๓ หน้า ๑๘๑
(๕)  โลหิจจสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๕๖ หน้า ๓๓๓
(๖)  มิจฉาทิฏฐิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๒๕๔ หน้า ๑๕๑-๑๕๒

คำต่อไป