Main navigation
มาตุคาม
Share:

กำลังของสตรี

(๑) กำลังของมาตุคาม ๕ ประการนี้

กำลังคือรูป ๑
กำลังคือโภคะ ๑
กำลังคือญาติ ๑
กำลังคือบุตร ๑
กำลังคือศีล ๑

มาตุคามผู้ประกอบด้วยกำลัง ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นผู้สามารถอยู่ครองเรือน

(๒) มาตุคามผู้ประกอบด้วยกำลัง ๕ ประการนี้ย่อมครอบงำสามีอยู่ครองเรือน

(๓) มาตุคามผู้ประกอบด้วยกำลัง ๕ ประการ ย่อมประพฤติข่มขี่ (ครอบงำ) สามีได้

ส่วนบุรุษผู้ประกอบด้วยกำลังอย่างเดียว คือ ความเป็นใหญ่ ย่อมประพฤติข่มขี่ (ครอบงำ) มาตุคามได้

กำลังคือรูป โภคะ ญาติ บุตร ศีล ย่อมป้องกันมาตุคามผู้ถูกบุรุษข่มขี่แล้วไม่ได้


พันธานาการหญิง-ชาย

(๔) หญิงย่อมผูกชาย ชายย่อมผูกหญิง ไว้ด้วยอาการ ๘ อย่าง คือ

ด้วยรูป ๑
ด้วยการยิ้มแย้ม ๑
ด้วยคำพูด ๑
ด้วยเพลงขับ ๑
ด้วยการร้องไห้ ๑
ด้วยอากัปปกิริยา ๑
ด้วยของกำนัล ๑
ด้วยผัสสะ ๑


สตรีที่ประกอบด้วยกำลังคือศีลย่อมไม่พินาศ

(๕) ก็มาตุคามผู้ประกอบด้วยรูป แต่ไม่ประกอบด้วยศีล พวกญาติย่อมยังมาตุคามนั้นให้พินาศ คือไม่ให้อยู่ในสกุล

มาตุคามผู้ประกอบด้วยรูปและโภคะ แต่ไม่ประกอบด้วยศีล พวกญาติย่อมยังมาตุคามนั้นให้พินาศ คือไม่ให้อยู่ในสกุล

มาตุคามผู้ประกอบด้วยรูป โภคะ ญาติ แต่ไม่ประกอบด้วยศีล พวกญาติย่อมยังมาตุคามนั้นให้พินาศ คือไม่ให้อยู่ในสกุล

มาตุคามผู้ประกอบด้วยรูป โภคะ ญาติ และบุตร แต่ไม่ประกอบด้วยศีล พวกญาติย่อมยังมาตุคามนั้นให้พินาศ คือไม่ให้อยู่ในสกุล

แต่เมื่อมาตุคามประกอบด้วยรูป โภคะ ญาติ บุตร และศีล พวกญาติย่อมยังมาตุคามนั้นให้อยู่ในสกุล ย่อมไม่ให้พินาศ

มาตุคามผู้ประกอบด้วยศีล แต่ไม่ประกอบด้วยรูป พวกญาติย่อมยังมาตุคามนั้นให้อยู่ในสกุล ย่อมไม่ให้พินาศ

ก็มาตุคามผู้ประกอบด้วยศีล แต่ไม่ประกอบด้วยโภคะ พวกญาติย่อมยังมาตุคามนั้นให้อยู่ในสกุล ย่อมไม่ให้พินาศ

มาตุคามผู้ประกอบด้วยศีล แต่ไม่ประกอบด้วยญาติ พวกญาติย่อมยังมาตุคามนั้นให้อยู่ในสกุล ย่อมไม่ให้พินาศ

มาตุคามผู้ประกอบด้วยอศีล แต่ไม่ประกอบด้วยอบุตร พวกญาติย่อมยังมาตุคามนั้นให้อยู่ในสกุล ย่อมไม่ให้พินาศ

(๖) มาตุคามเมื่อแตกกายตายไป ย่อมไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เพราะรูปเป็นเหตุ เพราะโภคะเป็นเหตุ เพราะญาติเป็นเหตุ หรือเพราะบุตรเป็นเหตุ แต่ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เพราะกำลังคือศีลเป็นเหตุ


ความต้องการของสตรี

(๗) ธรรมดาสตรีทั้งหลายย่อมประสงค์บุรุษ นิยมเครื่องแต่งตัว มั่นใจในบุตร ต้องการไม่ให้มีสตรีอื่นร่วมสามี มีความเป็นใหญ่ในบ้านเป็นที่สุด


ทุกข์ของสตรีที่บุรุษไม่มี

(๘) ทุกข์ของหญิง ๕ ประการ ที่ชายไม่มีคือ

๑.  ความทุกข์ในการออกเรือนไปสู่สกุลสามี เว้นจากญาติของตน
๒.  ความทุกข์จากการมีระดู
๓.  ความทุกข์จากการมีครรภ์
๔.  ความทุกข์จากการคลอดบุตร
๕.  ความทุกข์จากการเป็นหญิงบำเรอของบุรุษ


สตรีที่ครองเรือนอย่างแกล้วกล้า

(๙) มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการเป็นผู้สามารถอยู่ครองเรือน คือ

มาตุคามเป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑
เป็นผู้งดเว้นจากการลักทรัพย์ ๑
เป็นผู้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๑
เป็นผู้งดเว้นจากการพูดเท็จ ๑
เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑


ฐานะที่สตรีที่ไม่ได้ทำบุญไว้ยากที่จะได้

(๑๐) ฐานะ ๕ ประการนี้ อันมาตุคามผู้มิได้ทำบุญไว้ยากที่จะได้ คือ

ขอเราพึงเกิดในสกุลอันสมควร ๑
ขอเราพึงไปสู่สกุลอันสมควร ๒
ขอเราพึงอยู่ครองเรือนปราศจากหญิงร่วมสามี ๓
ขอเราพึงมีบุตร ๔
ขอเราประพฤติครอบงำสามี ๕

(๑๑) ฐานะ ๕ ประการนี้ อันมาตุคามผู้ทำบุญไว้ ได้โดยง่าย คือ

ขอเราพึงเกิดในสกุลอันสมควร ๑
ขอเราพึงไปสู่สกุลอันสมควร ๒
ขอเราพึงอยู่ครองเรือนปราศจากหญิงร่วมสามี ๓
ขอเราพึงมีบุตร ๔
ขอเราประพฤติครอบงำสามี


เหตุให้สตรีเป็นที่ชอบใจ-ไม่ชอบใจของบุรุษ

(๑๒) มาตุคามผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของบุรุษโดยส่วนเดียว คือ

รูปไม่สวย ๑
ไม่มีโภคสมบัติ ๑
ไม่มีมารยาท ๑
เกียจคร้าน ๑
ไม่ได้บุตรเพื่อเขา ๑

มาตุคามผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของบุรุษโดยส่วนเดียว

มาตุคามผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมเป็นที่ชอบใจของบุรุษโดยส่วนเดียว คือ

มีรูปสวย ๑
มีโภคสมบัติ ๑
มีมารยาท ๑
ขยันไม่เกียจคร้าน ๑
ได้บุตรเพื่อเขา ๑

มาตุคามผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ย่อมเป็นที่ชอบใจของบุรุษโดยส่วนเดียว


สตรีและบุรุษย่อมครอบงำกันและกัน

(๑๓) เราไม่เห็นรูปอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้เหมือนรูปสตรีนี้ ภิกษุทั้งหลาย รูปสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้

เราไม่เห็นเสียงอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้เหมือนเสียงสตรีนี้ เสียงสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้

เราไม่เห็นกลิ่นอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้เหมือนกลิ่นสตรีนี้ กลิ่นสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้

เราไม่เห็นรสอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้เหมือนรสสตรีนี้ รสสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้

เราไม่เห็นโผฏฐัพพะ(การสัมผัสทางกาย)อื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้เหมือนโผฏฐัพพะสตรีนี้ โผฏฐัพพะสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้

เราไม่เห็นรูปอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะครอบงำจิตของสตรีอยู่ได้เหมือนรูปบุรุษนี้ รูปบุรุษย่อมครอบงำจิตของสตรีอยู่ได้

เราไม่เห็นเสียงอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะครอบงำจิตของสตรีอยู่ได้เหมือนเสียงบุรุษนี้ เสียงบุรุษย่อมครอบงำจิตของสตรีอยู่ได้

เราไม่เห็นกลิ่นอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะครอบงำจิตของสตรีอยู่ได้เหมือนกลิ่นบุรุษนี้ กลิ่นบุรุษย่อมครอบงำจิตของสตรีอยู่ได้

เราไม่เห็นรสอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะครอบงำจิตของสตรีอยู่ได้เหมือนรสบุรุษนี้ รสบุรุษย่อมครอบงำจิตของสตรีอยู่ได้

เราไม่เห็นโผฏฐัพพะอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะครอบงำจิตของสตรีอยู่ได้เหมือนโผฏฐัพพะบุรุษนี้ โผฏฐัพพะบุรุษย่อมครอบงำจิตของสตรีอยู่ได้
 

เหตุให้สตรีไปสู่สุคติโลก

(๑๔) มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ คือ

มาตุคามเป็นผู้มีศรัทธา ๑
มีหิริ ๑
มีโอตตัปปะ ๑
ไม่มักโกรธ ๑
ไม่ผูกโกรธ ๑
ไม่มีความริษยา ๑
ไม่มีความตระหนี่ ๑
มีศีล ๑
มีสุตะมาก ๑
ปรารภความเพียร ๑
มีสติตั้งมั่น ๑
มีปัญญา ๑


เหตุให้สตรีไปสู่ทุคติ

(๑๕) มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ โดยมากเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก คือ

มาตุคามในโลกนี้ เวลาเช้ามีใจอันมลทิน คือความตระหนี่กลุ้มรุมแล้วอยู่ครองเรือน

เวลาเที่ยงมีใจอันความริษยากลุ้มรุมแล้วอยู่ครองเรือน

เวลาเย็นมีใจอันกามราคะกลุ้มรุมแล้วอยู่ครองเรือน

มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล โดยมากเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก


(๑๖) มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก คือ

มาตุคามเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑
ไม่มีหิริ ๑
ไม่มีโอตตัปปะ ๑
มักโกรธ ๑
มักผูกโกรธ ๑
มีความริษยา ๑
มีความตระหนี่ ๑
ประพฤตินอกใจ ๑
เป็นคนทุศีล ๑
มีสุตะน้อย ๑
เกียจคร้าน ๑
มีสติหลง ๑
มีปัญญาทราม ๑


โทษของสตรี

(๑๗) โทษในมาตุคาม ๕ ประการ คือ

เป็นผู้ไม่สะอาด ๑
มีกลิ่นเหม็น ๑
มีความน่ากลัวมาก ๑
มีภัยเฉพาะหน้า ๑
มักประทุษร้ายมิตร ๑

(๑๘) โทษในมาตุคาม ๕ ประการ คือ

เป็นผู้มักโกรธ ๑
มักผูกโกรธ ๑
มีพิษร้าย ๑
มีสองลิ้น ๑
มักประทุษร้ายมิตร ๑

ในโทษ ๕ ประการนั้นความที่มาตุคามเป็นผู้มีพิษร้าย คือ โดยมากมาตุคามมีราคะจัด ความที่มาตุคามเป็นผู้มีสองลิ้น คือ โดยมากมาตุคามมีวาจาส่อเสียด ความที่มาตุคามเป็นผู้มักประทุษร้ายมิตร คือ โดยมากมาตุคามมักประพฤตินอกใจ
 

เหตุให้สตรีทำงานใหญ่ไม่ได้

(๑๙) อะไรหนอแลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้มาตุคามนั่งในสภาไม่ได้ ประกอบการงานใหญ่ ๆ ไม่ได้ ไปนอกเมืองไม่ได้

มาตุคามมักโกรธ มักริษยา มีความตระหนี่ มีปัญญาทราม นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้มาตุคามนั่งในสภาไม่ได้ ประกอบการงานใหญ่ๆ ไม่ได้ ไปนอกเมืองไม่ได้


ฐานะที่เป็นไปไม่ได้ของสตรี

(๒๐) ข้อที่สตรีพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ แต่ข้อที่บุรุษพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ นั่นเป็นฐานะที่มีได้

ข้อที่สตรีพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ แต่ข้อที่บุรุษจะพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้น เป็นฐานะที่จะมีได้

ข้อที่สตรีพึงสำเร็จเป็นท้าวสักกะ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ แต่ข้อที่บุรุษพึงสำเร็จเป็นท้าวสักกะ นั่นเป็นฐานะที่มีได้

ข้อที่สตรีพึงสำเร็จเป็นมาร นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ แต่ข้อที่บุรุษพึงสำเร็จเป็นมาร นั่นเป็นฐานะที่มีได้

ข้อที่สตรีพึงสำเร็จเป็นพรหม นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ แต่ข้อที่บุรุษพึงสำเร็จเป็นท้าวสักกะ นั่นเป็นฐานะที่มีได้
 

สกุลที่มีสตรีมากย่อมอ่อนแอ

(๒๑) สกุลใดมีสตรีมาก มีบุรุษน้อย สกุลเหล่านั้นย่อมถูกพวกโจรปล้นได้ง่าย

สกุลใดมีสตรีน้อย มีบุรุษมากสกุลเหล่านั้นย่อมถูกพวกโจรปล้นได้ยาก


สตรีที่ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อชัยชนะในโลกนี้และโลกหน้า

(๒๒) มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อชัยชนะในโลกนี้ ชื่อว่าปรารภโลกนี้แล้ว

เป็นผู้จัดการงานดี ๑
สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดี ๑
ประพฤติเป็นที่พอใจของสามี ๑
รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ ๑

มาตุคามเป็นผู้จัดการงานดีอย่างไร

มาตุคามในโลกนี้ เป็นคนขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานภายในบ้านของสามี คือ การทำผ้าขนสัตว์หรือการทำผ้าฝ้าย ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงานนั้น อาจทำ อาจจัดได้ มาตุคามเป็นผู้จัดการงานดีอย่างนี้

มาตุคามเป็นผู้สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดีอย่างไร

มาตุคามในโลกนี้ ย่อมรู้การงานที่ชนภายในบ้านของสามี คือ ทาสคนใช้หรือกรรมกร ทำแล้วว่าทำแล้ว ที่ยังไม่ได้ทำว่ายังไม่ได้ทำ รู้คนที่ป่วยไข้ว่าดีขึ้นหรือทรุดลง และแบ่งของเคี้ยวของบริโภคให้ตามเหตุที่ควร มาตุคามเป็นผู้สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดีอย่างนี้

มาตุคามเป็นผู้ประพฤติเป็นที่พอใจสามีอย่างไร

มาตุคามในโลกนี้ ไม่ละเมิดสิ่งอันไม่เป็นที่พอใจของสามีแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต มาตุคามประพฤติเป็นที่พอใจของสามีอย่างนี้

มาตุคามรักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้อย่างไร

มาตุคามในโลกนี้ จัดการทรัพย์ ข้าวเปลือก เงินหรือทอง ที่สามีหามาได้ให้คงอยู่ ด้วยการรักษา คุ้มครอง และไม่เป็นนักเลงการพนัน ไม่เป็นขโมย ไม่เป็น
นักดื่ม ไม่ผลาญทรัพย์ให้พินาศ มาตุคามรักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้อย่างนี้

มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อชัยชนะในโลกนี้ ชื่อว่าปรารภโลกนี้แล้ว

มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อชัยชนะในโลกหน้า ชื่อว่าปรารภโลกหน้าแล้ว

เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ๑
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ๑
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ ๑
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ๑

มาตุคามเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาอย่างไร

มาตุคามในโลกนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาเครื่องตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดย
ชอบ ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม มาตุคามเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาอย่างนี้

มาตุคามเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างไร

มาตุคามในโลกนี้
เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต
เป็นผู้งดเว้นจากอทินนาทาน
เป็นผู้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
เป็นผู้งดเว้นจากมุสาวาท
เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

มาตุคามเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้แล ฯ

มาตุคามเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะอย่างไร

มาตุคามในโลกนี้ มีจิตปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการ
จำแนกทานมาตุคามเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะอย่างนี้

มาตุคามเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอย่างไร

มาตุคามในโลกนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ มาตุคามเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอย่างนี้แล

มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อชัยชนะในโลกหน้า ชื่อว่าปรารภโลกหน้าแล้ว

มาตุคามผู้จัดการงานดี สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดี ประพฤติเป็นที่พอใจของสามี รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ มาตุคามนั้นเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาและศีล ปราศจากความตระหนี่ รู้ความประสงค์ ชำระทางสัมปรายิกัตถประโยชน์อยู่เป็นนิตย์

นารีใดมีธรรม ๘ ประการนี้ ดังกล่าวมานี้ ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวสรรเสริญนารีแม้นั้นว่า เป็นผู้มีศีล ตั้งอยู่ในธรรม พูดคำสัตย์ อุบาสิกาผู้มีศีลเช่นนั้น ถึงพร้อมด้วยอาการ ๑๖ อย่าง ประกอบด้วยองคคุณ ๘ ประการ ย่อมเข้าถึงเทวโลกประเภทมนาปกายิกา


ธรรมสำหรับสตรีเมื่อออกเรือน

(๒๓) เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า มารดาบิดาของสามีที่เป็นผู้ปรารถนาประโยชน์ หวังความเกื้อกูลอนุเคราะห์ด้วยความเอ็นดู เราทั้งหลายจักตื่นก่อนท่าน นอนทีหลังท่าน คอยรับใช้ท่าน ประพฤติเป็นที่พอใจท่าน พูดคำเป็นที่รักต่อท่าน

ชนเหล่าใดเป็นที่เคารพของสามี คือ มารดา บิดา หรือสมณพราหมณ์ เราทั้งหลาย จักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เมื่อท่านมาถึงที่ก็จักต้อนรับด้วยที่นั่งหรือน้ำ

การงานภายในบ้านของสามี เช่น การทำขนสัตว์ หรือการทำผ้า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ๆ จักประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงานนั้น ๆ อาจทำ อาจจัด

เราทั้งหลายจักรู้การงานที่อันโตชนภายในบ้านของสามี คือ ทาส คนใช้ หรือกรรมกรทำแล้ว ว่าทำแล้ว ที่ยังไม่ได้ทำ ว่ายังไม่ได้ทำ จักรู้คนป่วยไข้ว่ามีกำลังหรือไม่มีกำลัง และจักแบ่งของเคี้ยวของบริโภคให้ตามเหตุที่ควร

เราทั้งหลายจักยังทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองที่สามีหามาได้ ให้คงอยู่ ด้วยการรักษา คุ้มครอง จักไม่เป็นนักเลงการพนัน ไม่เป็นขโมย ไม่เป็นนักดื่ม ไม่ผลาญทรัพย์ให้พินาศ

มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายเทวดาเหล่ามนาปกายิกา

สุภาพสตรีผู้มีปรีชา ย่อมไม่ดูหมิ่นสามีผู้หมั่นเพียร ขวนขวาย อยู่เป็นนิตย์ เลี้ยงตนอยู่ทุกเมื่อ ให้ความปรารถนาทั้งปวง ไม่ทำสามีให้ขุ่นเคือง ด้วยประพฤติแสดงความหึงหวงสามี และย่อมบูชาผู้ที่เคารพทั้งปวงของสามี เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามี ประพฤติเป็นที่พอใจของสามี รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ นารีใดย่อมประพฤติตามความพอใจของสามีอย่างนี้ นารีนั้นย่อมเข้าถึงความเป็นเทวดาเหล่ามนาปกายิกา


การเป็นภรรยาที่ดีเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติ

(๒๔) มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่ามนาปกายิกา

ธรรม ๘ ประการ คือ

มาตุคามในโลกนี้ ที่มารดาบิดามุ่งประโยชน์ แสวงหาความเกื้อกูล อนุเคราะห์ เอื้อเอ็นดู ย่อมยกให้แก่ชายใดผู้เป็นสามี สำหรับชายนั้น เธอต้องตื่นก่อน นอนภายหลัง คอยฟัง รับใช้ ประพฤติให้ถูกใจ กล่าวถ้อยคำเป็นที่รัก

ชนเหล่าใดเป็นที่เคารพของสามี คือ มารดา บิดาหรือสมณพราหมณ์ เธอสักการะเคารพนับถือบูชาชนเหล่านั้น และต้อนรับท่านเหล่านั้นผู้มาถึงแล้วด้วยอาสนะและน้ำ ๑ การงานใดเป็นงานในบ้านของสามี คือ การทำผ้าขนสัตว์หรือผ้าฝ้าย เธอเป็นคนขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาอันเป็นอุบายในการงานนั้น สามารถจัดทำ ๑

ชนเหล่าใดเป็นคนภายในบ้านของสามี คือ ทาส คนใช้ หรือกรรมกร ย่อมรู้ว่าการงานที่เขาเหล่านั้นทำแล้วและยังไม่ได้ทำ ๑

ย่อมรู้อาการของคนภายในผู้เป็นไข้ว่า ดีขึ้นหรือทรุดลง ย่อมแบ่งปันของกินของบริโภคให้แก่เขาตามควร ๑

สิ่งใดที่สามีหามาได้จะเป็นทรัพย์ ข้าว เงินหรือทอง ย่อมรักษาคุ้มครองสิ่งนั้นไว้ และไม่เป็นนักเลงการพนัน ไม่เป็นขโมย ไม่เป็นนักดื่ม ไม่ผลาญทรัพย์ให้พินาศ ๑

เป็นอุบาสิกาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ เป็นผู้มีศีล งดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท และการดื่มน้ำเมา
คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑

เป็นผู้มีการบริจาค มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน ๑

สุภาพสตรีผู้มีปรีชา ย่อมไม่ดูหมิ่นสามีผู้หมั่นเพียร ขวนขวายอยู่เป็นนิตย์ เลี้ยงตนอยู่ทุกเมื่อ ให้ความปรารถนาทั้งปวง ไม่ยังสามีให้ขุ่นเคืองด้วยถ้อยคำแสดงความหึงหวง และย่อมบูชาผู้ที่เคารพทั้งปวงของสามี เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามี ประพฤติเป็นที่พอใจของสามี รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ นารีใดย่อมประพฤติตามความชอบใจของสามีอย่างนี้ นารีนั้นย่อมเข้าถึงความเป็นเทวดา เหล่ามนาปกายิกา


บุตรของสตรีที่ประเสริฐย่อมแกล้วกล้า

(๒๕) แม้สตรีบางคนก็เป็นผู้ประเสริฐ พระองค์จงชุบเลี้ยงไว้ สตรีที่มีปัญญา มีศีล ปฏิบัติแม่ผัวพ่อผัวดังเทวดา จงรักสามี บุรุษที่เกิดจากสตรีนั้นย่อมเป็นคนแกล้วกล้า เป็นเจ้าแห่งทิศได้ บุตรของภริยาดีเช่นนั้น แม้ราชสมบัติก็ครอบครองได้


สตรีเป็นอันตรายต่อการบรรลุธรรมของบุรุษ

(๒๖) เราย่อมไม่พิจารณาเห็นรูปอื่นแม้รูปเดียว ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา เป็นที่ตั้งแห่งความผูกพัน เป็นที่ตั้งแห่งความหมกมุ่น กระทำอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เหมือนรูปหญิงนี้เลย

สัตว์ทั้งหลายกำหนัด ยินดี ใฝ่ใจ หมกมุ่น พัวพัน ในรูปหญิง เป็นผู้อยู่ใต้อำนาจรูปหญิง ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนาน

เราย่อมไม่พิจารณาเห็นเสียงอื่นแม้เสียงเดียว ...

กลิ่นอื่นแม้กลิ่นเดียว ...

รสอื่นแม้รสเดียว ...

โผฏฐัพพะอื่นแม้อย่างเดียว ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา เป็นที่ตั้งแห่งความผูกพัน เป็นที่ตั้งแห่งความหมกมุ่น กระทำอันตรายแก่การบรรลุธรรม อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เหมือนโผฏฐัพพะ
แห่งหญิงนี้เลย

สัตว์ทั้งหลายกำหนัด ยินดี ใฝ่ใจ หมกมุ่น พัวพัน ในโผฏฐัพพะแห่งหญิง เป็นผู้อยู่ใต้อำนาจโผฏฐัพพะแห่งหญิง ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนาน

หญิงเดินอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี นอนหลับแล้วก็ดี หัวเราะก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี บวมขึ้นก็ดี ตายแล้วก็ดี ย่อมครอบงำจิตของบุรุษได้

บุคคลเมื่อจะกล่าวสิ่งใด ๆ พึงกล่าวโดยชอบว่า บ่วงรวบรัดแห่งมาร ก็พึงกล่าวมาตุคามนั่นแหละว่า เป็นบ่วงรวบรัดแห่งมารโดยชอบได้

บุคคลพึงสนทนาด้วยเพชฌฆาตก็ดี ด้วยปีศาจก็ดี พึงถูกต้องอสรพิษที่กัดตายก็ดี ก็ไม่ร้ายแรงเหมือนสนทนาสองต่อสองด้วยมาตุคามเลย พวกหญิงย่อมผูกพันชายผู้ลุ่มหลงด้วยการมองดู การหัวเราะ การนุ่งห่มลับล่อ และการพูดอ่อนหวาน

มาตุคามนี้ มิใช่ผูกพันเพียงเท่านี้ แม้บวมขึ้น ตายไปแล้วก็ยังผูกพันชายได้ กามคุณ ๕ นี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ อันเป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมปรากฏในรูปหญิง เหล่าชนผู้ถูกห้วงกามพัด ไม่กำหนดรู้กาม มุ่งคติในกาล และภพน้อยภพใหญ่ในสงสาร ส่วนชนเหล่าใดกำหนดรู้กาม ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ เที่ยวไป ชนเหล่านั้นบรรลุถึงความสิ้นอาสวะ ย่อมข้ามฝั่งสงสารในโลกได้


ภิกษุพึงตั้งสติเมื่อต้องเจรจากับสตรี

(๒๗) พระอานนท์ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติในมาตุคามอย่างไร"
"การไม่เห็น"

เมื่อการเห็นมีอยู่ จะพึงปฏิบัติอย่างไร
"การไม่เจรจา"

เมื่อต้องเจรจา จะพึงปฏิบัติอย่างไร
"พึงตั้งสติไว้"


เมื่อสตรีบวชในธรรมวินัย พระสัทธรรมจะดำรงอยู่ไม่นาน

(๒๘) หากมาตุคามจักไม่ได้ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์ก็ยังจะตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมพึงดำรงอยู่ได้ ๑,๐๐๐ ปี แต่เพราะมาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์จะไม่ตั้งอยู่นาน ทั้งสัทธรรมก็จักดำรงอยู่เพียง ๕๐๐ ปี

ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ที่มีหญิงมาก ชายน้อย ตระกูลนั้นถูกพวกโจรกำจัดได้ง่าย แม้ฉันใด มาตุคามได้ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยใด พรหมจรรย์ในธรรมวินัยนั้นจักไม่ตั้งอยู่นาน ฉันนั้นเหมือนกัน

อนึ่ง ขยอกลงในนาข้าวที่สมบูรณ์ นาข้าวนั้นก็ย่อมไม่ตั้งอยู่นานแม้ฉันใด... เพลี้ยลงในไร่อ้อยที่สมบูรณ์ ไร่อ้อยนั้นก็ย่อมไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด มาตุคามได้ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยใด พรหมจรรย์ในธรรมวินัยนั้น ย่อมไม่ตั้งอยู่นาน ฉันนั้นเหมือนกัน

 

 

 

อ้างอิง:
(๑) วิสารทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๘๔
(๒) ปัสสัยหสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๘๕
(๓) อภิภุยยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๘๖
(๔) พันธนสูตรที่ ๑,พันธนสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๐๗-๑๐๘
(๕) นาสยิตถสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๘๙-๔๙๐
(๖) เหตุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๙๑-๔๙๒
(๗) ขัตติยาธิปปายสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อ ๓๒๓
(๘) อาเวณิกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๖๒-๔๖๖
(๙) ปัญจเวรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๙๕
(๑๐) ฐานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๙๓
(๑๑) วิสารทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๙๔
(๑๒) อมนาปสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๕๘-๔๕๙
(๑๓) รูปาทิวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๑-๑๐
(๑๔) อนุรุทธสูตร อนุปนาหีสูตร อนิสสุกีสูตร อมัจฉรีสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๗๙-๔๘๒
(๑๕) มาตุคามสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๖๗
(๑๗) สัปปสูตรที่ ๑  พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๒๙
(๑๘) สัปปสูตรที่ ๒  พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๓๐
(๑๙) กัมโมชสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๘๐
(๒๐) พหุธาตุกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อ ๒๔๕ (ข้อย่อย ๑๒-๑๖)
(๒๑) กุลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อ ๖๖๕-๖๖๖
(๒๒) อิธโลกสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๓๙
(๒๓) อุคคหสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๓
(๒๔) นกุลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๓๘
(๒๕) ธีตุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๓๗๖-๓๗๗ หน้า ๑๐๗-๑๐๘
(๒๖) มาตุปุตติกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๕๕ หน้า ๖๐-๖๑
(๒๗) มหาปรินิพพานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๑๓๒
(๒๘) โคตมีสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๔๑
 
 
 

คำต่อไป