Main navigation
โมหะ
Share:

(๑) โมหะ คือความหลง

โมหะ มีในสมัยนั้นเป็นไฉน

ความไม่รู้  ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้ ความไม่รู้โดยสมควร ความไม่รู้ตามความเป็นจริง ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเอาให้ถูกต้อง ความไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ ความไม่พินิจ ความไม่พิจารณา ความไม่กระทำให้ประจักษ์  ความทรามปัญญา ความโง่เขลา  ความไม่รู้ชัด  ความหลง ความลุ่มหลง   ความหลงใหล อวิชชา โอฆะคืออวิชชา โยคะคืออวิชชา อนุสัย คืออวิชชา ปริยุฏฐานคืออวิชชา ลิ่มคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ ในสมัยนั้น อันใด  นี้ชื่อว่า โมหะมีในสมัยนั้น

(๒) โมหะให้เกิดความฉิบหาย โมหะทำจิตให้กำเริบ ชนไม่รู้สึกโมหะนั้นอันเกิดในภายในว่าเป็นภัยคนหลงย่อมไม่รู้จักประโยชน์ ย่อมไม่เห็นธรรม

โมหะครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น

ก็บุคคลใดละโมหะได้ขาด ย่อมไม่หลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง บุคคลนั้นย่อมกำจัดความหลงได้ทั้งหมด เปรียบเหมือนพระอาทิตย์อุทัยขจัดมืดฉะนั้น

(๓) โมหะ เป็นไฉน

ความไม่รู้ในทุกข์
ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย
ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ
ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ความไม่รู้ในส่วนอดีต
ความไม่รู้ในส่วนอนาคต
ความไม่รู้ทั้งในส่วนอดีตและส่วนอนาคต
ความไม่รู้ในปฏิจจสมุปปาทธรรมว่า เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัยธรรมนี้จึงเกิดขึ้น

ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้ ความไม่รู้โดยสมควร ความไม่รู้ตามความเป็นจริง ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเอาโดยถูกต้อง ความไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ ความไม่พินิจ การไม่พิจารณา การไม่ทำให้ประจักษ์ ความทรามปัญญา ความโง่เขลา ความไม่รู้ชัด ความหลง ความลุ่มหลง ความหลงใหล อวิชชา โอฆะคืออวิชชา โยคะคืออวิชชา อนุสัยคืออวิชชา ปริยุฏฐานคืออวิชชา ลิ่มคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ มีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด นี้เรียกว่าโมหะ

(๔) ลูกศรโมหะเป็นไฉน

ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ ความไม่รู้ในปฏิปทาอันให้ถึงความดับทุกข์ ความไม่รู้ส่วนเบื้องต้น ความไม่รู้ส่วนเบื้องปลาย ความไม่รู้ส่วนเบื้องต้นและส่วนเบื้องปลาย ความไม่รู้ในธรรมทั้งหลายที่อาศัยกันเกิดขึ้น คือความที่ปฏิจจสมุปบาทมีอวิชชานี้เป็นปัจจัย

ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้ ความไม่ตามตรัสรู้ ความไม่ตรัสรู้ชอบ ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเหตุด้วยดี ความไม่หยั่งรู้เหตุ ความไม่เพ่งพินิจ ความไม่พิจารณา ความไม่ทำให้ประจักษ์ ความไม่ผ่องแผ้ว ความเป็นคนโง่ ความหลง ความหลงทั่ว ความหลงพร้อม

อวิชชา อวิชชาโอฆะ อวิชชาโยคะ อวิชชานุสัย อวิชชาปริยุฏฐาน อวิชชาลังคี (ลิ่มคืออวิชชา) โมหะ อกุศลมูลนี้ชื่อว่าลูกศรโมหะ.

สัตว์อันลูกศรโมหะปักติดแล้ว ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ย่อมประพฤติทุจริตด้วยวาจา  ย่อมประพฤติทุจริตด้วยใจ ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง ตัดที่ต่อบ้าง ปล้นโดยไม่เหลือบ้าง ปล้นเฉพาะเรือนหลังเดียวบ้าง ดักแย่งชิงที่ทางเปลี่ยวบ้าง คบชู้ภรรยาบุรุษอื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง.

สัตว์อันลูกศรโมหะปักติดแล้วย่อมแล่น แล่นพล่าน วนเวียน ท่องเที่ยวไปแม้อย่างนี้

(๕) บุคคลผู้หลงถูกโมหะครอบงำ มีจิตอันโมหะกลุ้มรุม ย่อมก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อม ติเตียน หรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล

อกุศลธรรมอันลามกเป็นอันมาก ที่เกิดเพราะความหลง มีความหลงเป็นเหตุ มีความหลงเป็นแดนเกิด มีความหลงเป็นปัจจัยนี้ ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้

ก็บุคคลเห็นปานนี้เรียกว่า พูดไม่ถูกกาลบ้าง พูดแต่คำไม่เป็นจริงบ้าง พูดไม่อิงอรรถบ้าง พูดไม่อิงธรรมบ้าง พูดไม่อิงวินัยบ้าง

เพราะเหตุไรบุคคลเห็นปานนี้จึงเรียกว่า พูดไม่ถูกกาลบ้าง พูดแต่คำไม่เป็นจริงบ้าง พูดไม่อิงอรรถบ้าง พูดไม่อิงธรรมบ้าง พูดไม่อิงวินัยบ้าง

จริงอย่างนั้นบุคคลนี้ย่อมก่อทุกข์ให้เกิดแก่ผู้อื่นโดยไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน จองจำให้เสื่อม ติเตียน หรือขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง และเขาเมื่อถูกกล่าวโทษด้วยเรื่องที่เป็นจริง ก็กล่าวคำปฏิเสธ ไม่ยอมรับรู้ เมื่อถูกกล่าวโทษด้วยเรื่องที่ไม่เป็นจริง กลับไม่พยายามที่จะปฏิเสธเรื่องนั้น แม้เพราะเหตุนี้ๆ เรื่องนี้จึงไม่แท้ ไม่เป็นจริง

เพราะฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้จึงเรียกว่า พูดไม่ถูกกาลบ้าง พูดแต่คำไม่เป็นจริงบ้าง พูดไม่อิงอรรถบ้าง พูดไม่อิงธรรมบ้าง พูดไม่อิงวินัยบ้าง

บุคคลเห็นปานนี้ ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งเกิดเพราะความหลงครอบงำ มีจิตอันอกุศลธรรมกลุ้มรุม ในปัจจุบันย่อมอยู่เป็นทุกข์ ลำบาก คับแค้น เดือดร้อน เมื่อแตกกายตายไปทุคติเป็นอันหวังได้

 
อ้างอิง
(๑)  มหานิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๙ ข้อที่ ๘๐๙ หน้า ๓๙๓
(๒)  มลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๒๖๘
(๓)  กิเลสโคจฉกะ ธรรมสังคณีปกรณ์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๙ ข้อที่ ๗๙๔
(๔)  มหานิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๙ ข้อที่ ๘๑๐ หน้า ๓๙๔-๓๙๕
(๕)  มูลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๐๙ หน้า ๑๙๒-๑๙๓

 

คำต่อไป