Main navigation
เมตตา-เมตตาเจโตวิมุตติ
Share:

(๑) เธอทั้งหลายละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญาแล้ว จงมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่า อยู่เถิด

(๒) เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาทได้

(๓) เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้งตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว พยาบาทจักครอบงำจิตอยู่ ข้อนั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เพราะเมตตาเจโตวิมุตินี้ เป็นเครื่องสลัดออกซึ่งพยาบาท

การเจริญเมตตาจิตมีผลมากกว่าทาน

(๔) บุญญกิริยาวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งมีอุปธิกิเลสเป็นเหตุ บุญญกิริยาวัตถุทั้งหมดนั้น ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งเมตตาเจโตวิมุติ

ผู้ใดมีสติ เจริญเมตตาไม่มีประมาณ สังโยชน์ทั้งหลายของผู้นั้น ผู้พิจารณาเห็นซึ่งธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิ ย่อมเบาบาง

ถ้าผู้นั้นมีจิตไม่ประทุษร้ายซึ่งสัตว์มีชีวิตแม้ชนิดหนึ่ง เจริญเมตตาอยู่ผู้นั้นย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีกุศล เพราะการเจริญเมตตานั้น ย่อมกระทำบุญเป็นอันมาก

ผู้ใดมีจิตประกอบด้วยเมตตาในสัตว์ทุกหมู่เหล่า ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า  ไม่ชนะเอง ไม่ใช้ผู้อื่นให้ชนะ เวรของผู้นั้นย่อมไม่มี

(๕) ผู้ใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเช้า ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเที่ยง ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเย็น ผู้ใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเช้า โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่งแม่โคในเวลาเที่ยง หรือในเวลาเย็น โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่งแม่โค การเจริญเมตตาจิตนี้มีผลมากกว่าทานที่บุคคลให้แล้ว ๓ ครั้งในวันหนึ่งนั้น

เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญเมตตาเจโตวิมุติ กระทำให้มาก กระทำให้เป็นประดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้งอาศัย ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภด้วยดี เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ


อมนุษย์ทำอะไรผู้เจริญเมตตาเจโตวิมุตติไม่ได้

(๖) ภิกษุใดไม่เจริญเมตตาเจโตวิมุติ ไม่กระทำให้มากแล้ว ภิกษุรูปนั้นย่อมถูกพวกอมนุษย์กำจัดได้ง่าย

ภิกษุรใดเจริญเมตตาเจโตวิมุติ กระทำให้มากแล้ว ภิกษุรูปนั้นย่อมเป็นผู้อันอมนุษย์กำจัดได้ยาก

เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญเมตตาเจโตวิมุติกระทำให้มาก กระทำให้เป็นประดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้งอาศัย ให้มั่นคงสั่งสม ปรารภด้วยดี

(๗) ภิกษุใดเจริญเมตตาเจโตวิมุติ กระทำให้มาก กระทำให้เป็นประดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้งอาศัยให้มั่นคง สั่งสม ปรารภด้วยดี ถ้าอมนุษย์จะพึงกระทำจิตของภิกษุนั้นให้ฟุ้งซ่านอมนุษย์นั้นพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเหน็ดเหนื่อย ลำบากถ่ายเดียว

เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญเมตตาเจโตวิมุติ กระทำให้มาก กระทำให้เป็นประดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้งอาศัย ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภด้วยดี เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ


พุทธวิธีเจริญเมตตาปริตร

(๘) กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ ปรารถนาเพื่อจะตรัสรู้สันตบท พึงบำเพ็ญไตรสิกขา

กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญเป็นผู้ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย  อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง สันโดษ เลี้ยงง่าย  มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์อันสงบแล้ว มีปัญญาเครื่องรักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย และไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้

พึงเจริญเมตตาในสัตว์ทั้งหลายว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุขมีความเกษม  มีตนถึงความสุขเถิด

สัตว์มีชีวิตเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ เป็นผู้สะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง ไม่มีส่วนเหลือ สัตว์เหล่าใดมีกายยาวหรือใหญ่  ปานกลางหรือสั้น ผอมหรือพี (อ้วน) ที่เราเห็นแล้วหรือไม่ได้เห็น อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้  ที่เกิดแล้วหรือแสวงหาที่เกิด ขอสัตว์ทั้งหมดนั้นจงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด

สัตว์อื่นไม่พึงข่มขู่สัตว์อื่น ไม่พึงดูหมิ่นอะไรเขาในที่ไหน ๆ ไม่พึงปรารถนาทุกข์ให้แก่กันและกัน เพราะความโกรธ เพราะความเคียดแค้น.

มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใด กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น

กุลบุตรนั้นพึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณไปในโลกทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู

กุลบุตรผู้เจริญเมตตานั้นยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วงเหงาเพียงใด ก็พึงตั้งสตินี้ไว้เพียงนั้น  

บัณฑิตทั้งหลายกล่าววิหารธรรมนี้ว่า เป็นพรหมวิหารในธรรมวินัยของพระอริยเจ้านี้

และกุลบุตรผู้เจริญเมตตาไม่เข้าไปอาศัยทิฏฐิ เป็นผู้มีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยทัศนะ นำความยินดีในกามทั้งหลายออกได้แล้ว ย่อมไม่ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยแท้


อานิสงส์ของเมตตา ๑๑ ประการ

(๙) เมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้วทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดัแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการ คือ

๑. ย่อมหลับเป็นสุข 
๒. ย่อมตื่นเป็นสุข
๓. ย่อมไม่ฝันลามก
๔. ย่อมเป็นที่รักแห่งมนุษย์ทั้งหลาย
๕. ย่อมเป็นที่รักแห่งอมนุษย์ทั้งหลาย
๖. เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา
๗. ไฟ ยาพิษหรือศาตราย่อมไม่กล้ำกรายได้
๘. จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว
๙. สีหน้าย่อมผ่องใส
๑๐. เป็นผู้ไม่หลงใหลทำกาละ
๑๑. เมื่อไม่แทงตลอดคุณอันยิ่ง ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก


อุปมาอารมณ์ของเมตตาจิต

(๑๐) ถ้าแม้ภิกษุรูปไรติเตียนภิกษุณีเหล่านั้น (ผู้อื่น) ต่อหน้าเธอ แม้ในข้อนั้น เธอพึงละความพอใจ และวิตกอันอาศัยเรือนเสีย แม้ในข้อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน และเราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่ และจักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน

ถ้าใคร ๆ ประหารภิกษุณีเหล่านั้น (ผู้อื่น) ด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยศาตราต่อหน้าเธอ แม้ในข้อนั้น เธอพึงละความพอใจและวิตกอันอาศัยเรือนเสีย แม้ในข้อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน และเราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่ และจักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน

ถ้าใคร ๆ ติเตียนตัวเธอเอง ต่อหน้าเธอ แม้ในข้อนั้น เธอพึงละความพอใจ และวิตกอันอาศัยเรือนเสีย แม้ในข้อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน และเราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่ แลจักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน

ถ้าใคร ๆ ประหารเธอด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนหิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยศาตรา แม้ในข้อนั้น เธอพึงละความพอใจ และวิตกอันอาศัยเรือนเสีย แม้ในข้อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน และเราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์แลจักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน

เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น

เปรียบเหมือนบุรุษ ถือเอาจอบและตะกร้ามา แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักกระทำแผ่นดินอันใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดิน เขาขุดลงตรงที่นั้น ๆ โกยขี้ดินทิ้งในที่นั้น ๆ บ้วนน้ำลายลงในที่นั้น ๆ ถ่ายปัสสาวะรดในที่นั้น ๆ แล้วสำทับว่าจงอย่าเป็นแผ่นดิน บุรุษนั้นจักทำแผ่นดินอันใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดินได้หรือไม่ได้ เพราะเหตุว่าแผ่นดินอันใหญ่นี้ ลึกหาประมาณมิได้ เขาจะทำแผ่นดินอันใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดินไม่ได้ง่ายเลย บุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้ ฉันนั้น

เปรียบเหมือนบุรุษ ถือเอาครั่งสีเหลืองสีเขียว หรือสีเหลืองแก่ก็ตามมา แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ กระทำให้เป็นรูปเด่นชัด บุรุษนั้นจะเขียนรูปต่าง ๆ ในอากาศ กระทำให้เป็นรูปเด่นชัดไม่ได้ เพราะธรรมดาอากาศนี้ ย่อมเป็นของไม่มีรูปร่าง ชี้ให้เห็นไม่ได้ เขาจะเขียนรูปในอากาศนั้น ทำให้เป็นรูปเด่นชัดไม่ได้ง่ายเลย บุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้ ฉันนั้น

เปรียบเหมือนบุรุษ ถือเอาคบหญ้าที่จุดไฟมาแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำแม่น้ำคงคาให้ร้อนจัด ให้เดือดเป็นควันพลุ่ง ด้วยคบหญ้าที่จุดไฟแล้วนี้ บุรุษนั้นจักทำแม่น้ำคงคาให้ร้อนจัด ให้เดือดเป็นควันพลุ่ง ด้วยคบหญ้าที่จุดไฟแล้วไม่ได้ เพราะแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำที่ลึก สุดที่จะประมาณ เขาจะทำแม่น้ำคงคานั้นให้ร้อนจัดให้เดือดเป็นควันพลุ่ง ด้วยคบหญ้าที่จุดไฟแล้วไม่ได้ง่ายเลย บุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้ ฉันนั้น

เปรียบเหมือนกระสอบหนังแมวที่นายช่างหนังฟอกดีเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่นและสำลี เป็นกระสอบที่ตีได้ไม่ดังก้อง ถ้ามีบุรุษถือเอาไม้หรือกระเบื้องมา พูดขึ้นอย่างนี้ว่า เราจักทำกระสอบหนังแมวที่เขาฟอกไว้ดีแล้ว ที่ตีได้ไม่ดังก้องนี้ ให้เป็นของมีเสียงดังก้อง ด้วยไม้หรือกระเบื้อง บุรุษนั้นจะทำกระสอบหนังแมวที่ตีได้ไม่ดังก้องนี้ ให้กลับมีเสียงดังก้องขึ้นด้วยไม้หรือกระเบื้องไม่ได้ เพราะเหตุว่า กระสอบหนังแมวนี้เขาฟอกดีเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่นและสำลี ซึ่งเป็นของที่ตีได้ไม่ดังก้อง เขาจะทำกระสอบหนังแมวนั้นให้กลับเป็นของมีเสียงดังก้องขึ้นด้วยไม้หรือกระเบื้องไม่ได้ง่ายเลย บุรุษคนนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้ ฉันนั้น

หากจะมีพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า เอาเลื่อยที่มีที่จับทั้งสองข้าง เลื่อยอวัยวะใหญ่น้อยของพวกเธอ แม้ในเหตุนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดมีใจคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น แม้ในข้อนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก เราจักอนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีเมตตาจิตไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาอันไพบูลย์ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลกทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น พวกเธอพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้


พุทธวิธีเจริญเมตตาเจโตวิมุตติเพื่อความหลุดพ้น

(๑๑) ก็เมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไรเป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยเมตตา

ย่อมเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยเมตตา

ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยเมตตา

ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยเมตตา

ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยเมตตา

ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยเมตตา

ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันสหรคตด้วยเมตตา

อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่ เธอก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลนั้นอยู่

ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่

ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่

ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่

ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงแยกสิ่งไม่ปฏิกูลและปฏิกูลทั้งสองนั้นออกเสียแล้ว วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ก็ย่อมวางเฉย มีสติสัมปชัญญะในสิ่งทั้งสองนั้นอยู่

หรืออีกอย่างหนึ่งเธอย่อมเข้าถึงสุภวิโมกข์อยู่ เรากล่าวเมตตาเจโตวิมุติว่า มีสุภวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง เพราะภิกษุนั้นยังไม่แทงตลอดวิมุติอันยวดยิ่งในธรรมวินัย ปัญญาของเธอจึงยังเป็นโลกีย์

(๑๒) บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยใจ
ประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจเมตตาฌานและถึงความปลื้มใจด้วยเมตตาฌานนั้น ยับยั้งอยู่ในเมตตาฌานนั้น น้อมใจไปในเมตตาฌานนั้น อยู่จนคุ้นด้วยเมตตาฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าพรหมกายิกา

กัปหนึ่งเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าพรหมกายิกา ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นพรหมกายิกานั้น ตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาค ดำรงอยู่ในชั้นพรหมกายิกานั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง

นี้เป็นความพิเศษผิดแผกแตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ คือ ในเมื่อคติอุบัติมีอยู่

(๑๓) บุคคลนั้นพิจารณาเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใดมีอยู่ในเมตตาฌานนั้น โดยความเป็นของ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นของทนได้ยาก เป็นของเบียดเบียน เป็นของไม่เชื่อฟัง เป็นของต้องทำลายไป เป็นของว่างเปล่าเป็นของไม่ใช่ตน

บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสุทธาวาส (สำเร็จอนาคามี) ความอุบัตินี้แลไม่ทั่วไปด้วยปุถุชน

(๑๔) ภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า แม้เมตตาเจโตวิมุตินี้ถูกปรุงแล้ว ถูกตบแต่งแล้ว และย่อมรู้ชัดว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งถูกปรุงแล้ว ถูกตบแต่งแล้ว สิ่งนั้นเป็นของไม่เที่ยง มีความไปดับเป็นธรรมดา

เธอตั้งอยู่แล้วในสมถะและวิปัสสนาธรรมนั้น ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย หากว่าเธอไม่บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ก็จักเป็นอุปปาติกพรหม เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ด้วยความพอใจเพลิดเพลินในธรรมนั้น ๆ จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา


(๑๕) เมตตาเจโตวิมุตติแผ่ไปโดยไม่เจาะจงก็มี แผ่ไปโดยเจาะจงก็มี แผ่ไปสู่ทิศทั้งหลายก็มี

เมตตาเจโตวิมุตติแผ่ไปโดยไม่เจาะจงด้วยอาการ ๕ เมตตาเจโตวิมุติแผ่ไปโดยไม่เจาะจงว่า

ขอสัตว์ทั้งปวง ๑
ปาณะทั้งปวง ๑
ภูตทั้งปวง ๑
บุคคลทั้งปวง ๑
ผู้ที่นับเนื่องด้วยอัตภาพทั้งปวง ๑

จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่เบียดเบียนกันไม่มีทุกข์ รักษาตนอยู่เป็นสุขเถิด เมตตาเจโตวิมุตติแผ่ไปโดยไม่เจาะจงด้วยอาการ ๕ นี้

เมตตาเจโตวิมุติแผ่ไปโดยเจาะจงด้วยอาการ ๗ เมตตาเจโตวิมุติแผ่ไปโดยเจาะจงว่า

ขอหญิงทั้งปวง ๑
ชายทั้งปวง ๑
อารยชนทั้งปวง ๑
อนารยชนทั้งปวง ๑
เทวดาทั้งปวง ๑
มนุษย์ทั้งปวง ๑
วินิปาติกสัตว์ทั้งปวง ๑

จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่เบียดเบียนกัน ไม่มีทุกข์ รักษาตนอยู่เป็นสุขเถิด เมตตาเจโตวิมุติแผ่ไปโดยเจาะจงด้วยอาการ ๗ นี้

เมตตาเจโตวิมุติแผ่ไปสู่ทิศทั้งหลายด้วยอาการ ๑๐ เมตตาเจโตวิมุติแผ่ไปสู่ทิศทั้งหลายว่า

ขอสัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูต บุคคล ผู้ที่นับเนื่องด้วยอัตภาพ หญิงทั้งปวง ชายทั้งปวง อารยชนทั้งปวง อนารยชนทั้งปวง เทวดาทั้งปวง มนุษย์ทั้งปวง วินิปาติกสัตว์ทั้งปวง

ในทิศบูรพา
ในทิศปัจจิม
ในทิศอุดร
ในทิศทักษิณ
ในทิศอาคเนย์
ในทิศพายัพ
ในทิศอีสาน
ในทิศหรดี
ในทิศเบื้องล่าง
ในทิศเบื้องบน

จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่เบียดเบียนกัน ไม่มีทุกข์ รักษาตนอยู่เป็นสุขเถิด เมตตาเจโตวิมุติแผ่ไปสู่ทิศทั้งหลายด้วยอาการ ๑๐ นี้

เมตตาเจโตวิมุติแผ่ไปสู่สัตว์ทั้งปวงด้วยอาการ ๘ นี้ คือ

ด้วยการเว้นความบีบคั้นไม่บีบคั้นสัตว์ทั้งปวง ๑
ด้วยเว้นการฆ่า ไม่ฆ่าสัตว์ทั้งปวง ๑
ด้วยเว้นการทำให้เดือดร้อน ไม่ทำสัตว์ทั้งปวงให้เดือดร้อน ๑
ด้วยเว้นความย่ำยี ไม่ย่ำยีสัตว์ทั้งปวง ๑
ด้วยการเว้นการเบียดเบียน ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง ๑
ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีเวร อย่าได้มีเวร ๑
จงเป็นผู้มีสุข อย่ามีทุกข์ ๑
จงมีตนเป็นสุข อย่ามีตนเป็นทุกข์ ๑

จิตชื่อว่าเมตตา เพราะรัก ชื่อว่าเจโต เพราะคิดถึงธรรมนั้น ชื่อว่าวิมุติเพราะพ้นจากพยาบาทและปริยุฏฐานกิเลสทั้งปวง จิตมีเมตตาด้วย เป็นเจโตวิมุติด้วย เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าเมตตาเจโตวิมุติ
 

 

อ้างอิง:
(๑) เมตตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๔๕๗
(๒) มหาราหุโลวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๔๕ 
      เมฆิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๘๙
(๓) เมตตาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๘๔
(๔)  เมตตาภาวนาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๒๐๕ หน้า ๒๑๓-๒๑๕
(๕) โอกขาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๖๖๗ หน้า ๒๖๗-๒๖๘
(๖) กุลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๖๖๕-๖๖๖ หน้า ๒๖๗
(๗) สัตติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๖๖๘-๖๖๙ หน้า ๒๖๘
(๘) เมตตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๓๐๘ หน้า ๓๖๒ -๓๙๓ 
(๙) เมตตาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๒๒๒
(๑๐) กกจูปมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๒๓, ๒๒๗-๒๓๒
(๑๑) เมตตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๕๙๗
(๑๒) เมตตาสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๑๒๕
(๑๓) เมตตาสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๑๒๖
(๑๔) อัฏฐกนาครสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๒๑
      ทสมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๒๓
(๑๕) เมตตากถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๕๗๔-๕๘๗ หน้า ๓๕๐-๓๕๙
 
 

คำต่อไป