Main navigation
กามคุณ
Share:

(๑)  กามคุณมี ๕ อย่างคือ

รูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

เสียงที่รู้ด้วยโสต อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

กลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

รสที่รู้ได้ด้วยชิวหา อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

โผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจเป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

(๕) สิ่งเหล่านี้ไม่ชื่อว่ากาม สิ่งเหล่านี้เรียกว่ากามคุณในวินัยของพระอริยะเจ้า

ความกำหนัดที่เกิดด้วยสามารถแห่งความดำริของบุรุษ ชื่อว่า กาม

อารมณ์อันวิจิตรทั้งหลายในโลกไม่ชื่อว่ากามอารมณ์อันวิจิตรทั้งหลายในโลกย่อมตั้งอยู่ตามสภาพของตน ธีรชนทั้งหลายย่อมกำจัดความพอใจในอารมณ์อันวิจิตรเหล่านั้นเหตุเกิดแห่งกามเป็นไฉน คือ

ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกามทั้งหลาย

ก็ความต่างกันแห่งกามเป็นไฉน คือ

กามในรูปเป็นอย่างหนึ่ง
กามในเสียงเป็นอย่างหนึ่ง
กามในกลิ่นเป็นอย่างหนึ่ง
กามในรสเป็นอย่างหนึ่ง
กามในโผฏฐัพพะเป็นอย่างหนึ่ง

นี้เรียกว่าความต่างกันแห่งกาม

วิบากแห่งกามเป็นไฉน คือ

การที่บุคคลผู้ใคร่อยู่ ย่อมยังอัตภาพที่เกิดขึ้นจากความใคร่นั้นๆ ให้เกิดขึ้น เป็นส่วนบุญหรือเป็นส่วนมิใช่บุญ นี้เรียกว่าวิบากแห่งกาม

ความดับแห่งกามเป็นไฉน คือ

ความดับแห่งกามเพราะผัสสะดับ

อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกาม

เมื่อใด อริยสาวกทราบชัดกามเหตุเกิดแห่งกาม ความต่างแห่งกาม วิบากแห่งกาม ความดับแห่งกาม ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกาม อย่างนี้ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้น ย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส เป็นที่ดับแห่งกาม

(๒)  คุณและโทษของกาม

ความสุข ความโสมนัสใด อาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น เป็นคุณของกาม

การตรากตรำในการเลี้ยงชีวิต เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกาม

ความเศร้าโศก ลำบาก รำพัน คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่าสิ่งใดเคยเป็นของเรา แม้สิ่งนั้นก็ไม่เป็นของเรา เป็นโทษของกามทั้งหลาย

ความวิวาทกัน สู้รบกัน ปล้นกัน ฆ่ากัน เพราะมีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นตัวบังคับ เป็นโทษของกามทั้งหลาย

การประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เพราะมีกามเป็นเหตุ เมื่อตาย ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก เป็นโทษของกามทั้งหลาย

การถ่ายถอนกาม

การละ การกำจัดฉันทราคะในกามทั้งหลาย เป็นการถ่ายถอนของกาม

บุคคลผู้รู้ชัดคุณของกามทั้งหลาย โดยเป็นคุณ โทษของกามทั้งหลาย โดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนกามทั้งหลาย โดยความเป็นการถ่ายถอน ตามความเป็นจริง บุคคลนั้นจักรอบรู้กามทั้งหลายด้วยตนเองได้

(๑)  กามคุณ ๕ อย่าง ซึ่งเป็นที่ที่ภิกษุพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า มีความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นเพราะกามคุณ ๕ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง

ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้ชัดอย่างนี้ว่ามีความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นเพราะกามคุณ ๕ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้ เรายังละไม่ได้

แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่าไม่มีเลยที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เราเพราะกามคุณ ๕ นี้ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง  เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้ เราละได้แล้ว

ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องกามคุณ ๕      

(๔) ผู้กำหนัดแล้ว หมกมุ่นแล้วด้วยกามคุณ ๕ ประการนี้ ถูกกามคุณ ๕ ประการนี้ครอบงำแล้ว ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องถอนออก บริโภคอยู่ เขาจักรู้ จักเห็น หรือจักทำให้แจ้งชัด ซึ่งญาณทัสนะวิเศษของพระอริยะอย่างสามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

(๓) บุคคลใดยังไม่หลีกออกจากกามด้วยกาย ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความกระหาย และความกระวนกระวายเพราะกาม ในกามทั้งหลายยังมิได้ละ และมิได้ระงับคืนเสียด้วยดีในภายใน บุคคลนั้นแม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้า หยาบ เผ็ดร้อน อันเกิดขึ้นเพราะ ความเพียรก็ดี หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นก็ดี ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อความตรัสรู้ดีอันประเสริฐ

บุคคลใดแม้หลีกออกจากกามด้วยกายแล้ว แต่ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความกระหาย และความกระวนกระวายเพราะกาม ในกามทั้งหลายยังมิได้ละ และมิได้ระงับคืนเสียด้วยดีภายใน  บุคคลนั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้า หยาบ เผ็ดร้อน อันเกิดขึ้นเพราะความเพียรก็ดี หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นก็ดี เป็นผู้ไม่ควรเพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อความตรัสรู้ดีอันประเสริฐ

บุคคลใดหลีกออกจากกามด้วยกายแล้ว ทั้งละและระงับความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความระหาย และความกระวนกระวายเพราะกาม ในกามทั้งหลายเสียด้วยดีในภายในแล้ว  บุคคลนั้นแม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้า หยาบ เผ็ดร้อน อันเกิดขึ้นเพราะความเพียรก็ดี หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นก็ดี ก็เป็นผู้ควรเพื่อรู้ เพื่อเห็น และเพื่อความตรัสรู้ดีอันประเสริฐ

 
อ้างอิง:
(๑)  มหาสุญญตสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔  ข้อที่ ๓๔๙ หน้า ๑๘๙
(๒)  มหาทุกขักขันธสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒  ข้อที่ ๑๙๗-๑๙๘ หน้า ๑๑๕-๑๑๘
(๓)  มหาสัจจกสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๔๑๔-๔๑๖ หน้า ๓๑๖-๓๑๘
(๔)  สุภสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๗๒๓ หน้า ๔๙๗-๔๙๘
(๕)  นิพเพธิกสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ [๓๓๔] หน้า ๓๖๕-๓๖๖

คำต่อไป