(๑) ก็กายคตาสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
1. มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว - หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น - หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น
สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก - ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก - ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
เมื่อภิกษุไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติฯ
2. รู้ชัดการทรงกาย
ภิกษุเดินอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังเดิน
หรือยืนอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังยืน
หรือนั่งอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังนั่ง
หรือนอนอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังนอน
หรือเธอทรงกายโดยอาการใดๆ อยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังทรงกายโดยอาการนั้นๆ
เมื่อภิกษุไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริ พล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ
3. รู้สึกตัวในทุกอริยาบท
ภิกษุย่อมเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอยกลับ
ในเวลาแลดู และเหลียวดู
ในเวลางอแขนและเหยียดแขน
ในเวลาทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร
ในเวลา ฉัน ดื่มเคี้ยว และลิ้ม
ในเวลาถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
ในเวลา เดิน ยืน นั่ง นอนหลับ ตื่น พูด และนิ่ง
เมื่อภิกษุไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ
4. พิจารณาความไม่สะอาดของร่างกาย (ปฏิกูล)
ภิกษุย่อมพิจารณากายนี้ ข้างบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป ข้างล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้
เมื่อภิกษุไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ
5. พิจารณากายโดยธาตุ
ภิกษุย่อมพิจารณากายนี้ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่โดยธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
เมื่อภิกษุไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ
6. พิจารณากายโดยความเป็นศพ 9 ขั้น
ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้าตายได้วันหนึ่ง หรือสองวัน หรือสามวัน ที่ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้ม จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้าอันฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขบ้านกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขป่ากัดกินอยู่บ้าง สัตว์เล็กสัตว์น้อยต่าง ๆ ชนิดฟอนกินอยู่บ้าง จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า ยังคุมเป็นรูปร่างอยู่ด้วยกระดูก มีทั้งเนื้อและเลือด เส้นเอ็นผูกรัดไว้ จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า ยังคุมเป็นรูปร่างด้วยกระดูก ไม่มีเนื้อ มีแต่เลือดเปรอะเปื้อนอยู่ เส้นเอ็นยังผูกรัดไว้ จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า ยังคุมเป็นรูปร่างด้วยกระดูก ปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว แต่เส้นเอ็นยังผูกรัดอยู่ จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เป็นท่อนกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นเครื่องผูกรัดแล้ว กระจัดกระจายไปทั่วทิศต่าง ๆ คือ กระดูกมืออยู่ทางหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่ทางหนึ่ง กระดูกหน้าขาอยู่ทางหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่ทางหนึ่ง กระดูกสันหลังอยู่ทางหนึ่ง กระดูกซี่โครงอยู่ทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแขนอยู่ทางหนึ่ง กระดูกไหล่อยู่ทางหนึ่ง กระดูกคออยู่ทางหนึ่ง กระดูกคางอยู่ทางหนึ่ง กระดูกฟันอยู่ทางหนึ่ง กะโหลกศีรษะอยู่ทางหนึ่งยังคุมเป็นรูปร่างอยู่ด้วยกระดูก มีทั้งเนื้อและเลือด เส้นเอ็นผูกรัดไว้ จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เป็นแต่กระดูก สีขาวเปรียบดังสีสังข์ จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เป็นท่อนกระดูก เรี่ยราดเป็นกอง ๆ มีอายุเกินปีหนึ่ง จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เป็นแต่กระดูก ผุเป็นจุณ จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
เมื่อภิกษุไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ
7. เข้าปฐมฌาณ แล้วยังกายให้คลุกเคล้า ซ่าบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก
ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอยังกายให้คลุกเคล้า บริบูรณ์ ซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไรๆ แห่งกายทุกส่วนที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง
เมื่อภิกษุไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ
8. เข้าทุติยฌาณ แล้วยังกายให้คลุกเคล้า ซ่าบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ
ภิกษุเข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอยังกายให้คลุกเคล้า บริบูรณ์ ซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไรๆ แห่งกายทุกส่วนที่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง
เมื่อภิกษุไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ
9. เข้าตติยฌาณ แล้วยังกายให้คลุกเคล้า ซาบซ่านด้วยสุขปราศจากปีติ
ภิกษุเป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย ย่อมเข้าตติยฌาน เธอยังกายให้คลุกเคล้า บริบูรณ์ ซาบซ่านด้วยสุขปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไร ๆ แห่งกายทุกส่วนที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง
เมื่อภิกษุไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ
10. เข้าจตุตฌาณ แล้วเอาใจอันบริสุทธิ์แผ่ไปทั่วกาย
ภิกษุเข้าจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เธอเอาใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องแผ่ไปทั่วกาย ไม่มีเอกเทศไรๆ แห่งกายทุกส่วนที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง
เมื่อภิกษุไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ
ภิกษุเจริญกายคตาสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ชื่อว่าเจริญและทำให้มาก ซึ่งกุศลธรรมส่วนวิชชาอย่างใดอย่างหนึ่งอันรวมอยู่ในภายในด้วย
ภิกษุไม่เจริญ ไม่ทำให้มากซึ่งกายคตาสติแล้ว มารย่อมได้ช่อง ย่อมได้อารมณ์
อานิสงส์ ๑๐ ประการ ของกายคตาสติ อันเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นพื้นที่ตั้งแล้ว ให้ดำรงอยู่เนือง ๆ แล้ว
๑. อดกลั้นต่อความไม่ยินดีและความยินดีได้ ไม่ถูกความไม่ยินดีครอบงำ ย่อมครอบงำความไม่ยินดีที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ด้วย
๒. อดกลั้นต่อภัยและความหวาดกลัวได้ ไม่ถูกภัยและความหวาดกลัวครอบงำ ย่อมครอบงำภัยและความหวาดกลัว ที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ด้วย
๓. อดทน คือเป็นผู้มีปรกติอดกลั้นต่อความหนาว ความร้อน ความหิวความกระหาย ต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และ สัตว์เสือกคลาน ต่อทำนองคำพูดที่กล่าวร้าย ใส่ร้าย ต่อเวทนาประจำสรีระที่เกิดขึ้นแล้ว อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ ไม่ใช่ความสำราญ ไม่เป็นที่ชอบใจ พอจะสังหารชีวิตได้
๔. เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันเกิดมีในมหัคคตจิต เครื่องอยู่สบายในปัจจุบันตามความปรารถนา ไม่ยาก ไม่ลำบาก
๕. ย่อมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอเนกประการ
๖. ย่อมฟังเสียงทั้งสอง คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่ไกลและที่ใกล้ได้ด้วยทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์
๗. ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น และบุคคลอื่นได้ ด้วยใจ
๘. ย่อมระลึกถึงขันธ์ ที่อยู่อาศัยในชาติก่อนได้เป็นอเนกประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ
๙. ย่อมมองเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ทราบชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ษย์ ย่อมทราบชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม เช่นนี้
๑๐. ย่อมเข้าถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบันอยู่
อานิสงส์ของการเจริญกายคตาสติ
(๒) กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว กุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปในส่วนวิชชา ย่อมหยั่งลงในภายในของภิกษุนั้น เปรียบเหมือนมหาสมุทรอันผู้ใดผู้หนึ่งถูกต้องด้วยใจแล้ว แม่น้ำน้อยสายใดสายหนึ่งซึ่งไหลไปสู่สมุทร ย่อมหยั่งลงในภายในของผู้นั้น ฉะนั้น
ธรรมข้อหนึ่งซึ่งบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อความสังเวชใหญ่ เป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่ เป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะใหญ่ เป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ เป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ เป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งซึ่งผล คือวิชชาและวิมุตติ ธรรมข้อหนึ่ง คือ กายคตาสติ
แม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตกวิจารก็สงบธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชาแม้ทั้งสิ้น ก็ถึงความเจริญบริบูรณ์
อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้นได้เลย และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละเสียได้
กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง
ย่อมละอวิชชาเสียได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น ย่อมละอัสมิมานะเสียได้ อนุสัยย่อมถึงความเพิกถอน ย่อมละสังโยชน์เสียได้
ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกฉานแห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน
ย่อมมีการแทงตลอดธาตุมากหลาย ย่อมมีการแทงตลอดธาตุต่างๆ ย่อมมีความแตกฉานในธาตุมากหลาย
ย่อมเป็นไปเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง
ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา เพื่อความเจริญแห่งปัญญา เพื่อความไพบูลย์แห่งปัญญา เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาใหญ่ เพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาไพบูลย์ เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาสามารถยิ่ง เพื่อความเป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง เพื่อความเป็นผู้มากด้วยปัญญา เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาว่องไว เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเร็ว เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาร่าเริง ความเป็นผู้มีปัญญาแล่น เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาคม เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส
ธรรมข้อหนึ่ง คือ กายคตาสติ
ชนเหล่าใดไม่บริโภคกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมไม่บริโภคอมตะ
ชนเหล่าใดบริโภคกายคตาสติชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมบริโภคอมตะ
กายคตาสติของชนเหล่าใดเสื่อมแล้ว อมตะของชนเหล่านั้นชื่อว่าเสื่อมแล้ว
กายคตาสติของชนเหล่าใดไม่เสื่อมแล้ว อมตะของชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่เสื่อมแล้ว
ชนเหล่าใดประมาทกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่าประมาทอมตะ
ชนเหล่าใดไม่ประมาทกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่ประมาทอมตะ
กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่เจริญแล้วอมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่เจริญแล้ว
กายคตาสติอันชนเหล่าใดเจริญแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นเจริญแล้ว
กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่ทำให้มากแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่ทำให้มากแล้ว
กายคตาสติอันชนเหล่าใดทำให้มากแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นทำให้มากแล้ว
กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่รู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่รู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง
กายคตาสติอันชนเหล่าใดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง
กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่กำหนดรู้แล้วอมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่กำหนดรู้แล้ว
กายคตาสติอันชนเหล่าใดกำหนดรู้แล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นกำหนดรู้แล้ว
กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่ทำให้แจ้งแล้วอมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่ทำให้แจ้งแล้ว
กายคตาสติอันชนเหล่าใดทำให้แจ้งแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นทำให้แจ้งแล้ว