Main navigation
การแสวงหา
Share:

การแสวงหาที่ประเสริฐและไม่ประเสริฐ

การแสวงหามีสองอย่าง คือ การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐอย่างหนึ่ง การแสวงหาที่ประเสริฐอย่างหนึ่ง

การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐเป็นไฉน

คนบางคนในโลกนี้ ตนเองเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีชาติเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

เป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีชราเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

เป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

เป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

เป็นผู้มีความโศกเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีความโศกเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

เป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

สิ่งมีชาติ ชรา ความเจ็บไข้ มรณะ ความโศก สังกิเลส เป็นธรรมดา ได้แก่ บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่า สิ่งมีชาติเป็นธรรมดา สิ่งมีชาติเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้องในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มีชาติ ชรา ความเจ็บไข้ มรณะ ความโศก สังกิเลส เป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีชาติ ชรา ความเจ็บไข้ มรณะ ความโศก สังกิเลส เป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

นี้คือการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ

การแสวงหาที่ประเสริฐเป็นไฉน

คนบางคนในโลกนี้ ตนเองเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพานที่ไม่เกิด หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ

โดยตนเองเป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีชราเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพานที่ไม่แก่ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ

โดยตนเองเป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน หาพยาธิมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ

โดยตนเองเป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่ตาย หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามีได้ เกษมจากโยคะ

โดยตนเองเป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีโศกเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพาน ที่หาโศกมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ

โดยตนเองเป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่เศร้าหมอง หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ

นี้คือการแสวงหาที่ประเสริฐ

การแสวงหา ๓ ประการนี้ คือ

การแสวงหากาม ๑
การแสวงหาภพ ๑
การแสวงหาพรหมจรรย์ ๑

(๒) สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้มีจิตตั้งมั่น ผู้รู้ทั่ว มีสติ ย่อมรู้ชัดซึ่งการแสวงหาทั้งหลาย เหตุเกิดแห่งการแสวงหาทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ดับแห่งการแสวงหาทั้งหลาย และมรรคอันให้ถึงความสิ้นไปแห่งการแสวงหาทั้งหลาย

ภิกษุหายหิวแล้ว ดับรอบแล้ว เพราะความสิ้นไปแห่งการแสวงหาทั้งหลาย

(๓) การแสวงหากาม การแสวงหาภพ กับการแสวงหาพรหมจรรย์ การยึดมั่นว่าจริงดังนี้ เป็นที่ตั้งแห่งทิฐิที่เกิดขึ้น

การแสวงหาทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งทิฐิ พระอรหันต์ผู้ไม่ยินดีแล้วด้วยความยินดีทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีความหวัง ไม่มีความสงสัย เพราะความสิ้นไปแห่งการแสวงหาทั้งหลาย

(๔) สัมมัปปธาน ๔ อันภิกษุพึงเจริญ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อความละซึ่งการแสวงหา ๓ อย่างนี้

(๕) ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ เพื่อความรู้ยิ่งซึ่งการแสวงหา ๓ อย่างนี้

ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด เพื่อความรู้ยิ่งซึ่งการแสวงหา ๓ อย่างนี้

ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อันหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด เพื่อความรู้ยิ่งซึ่งการแสวงหา ๓ อย่างนี้

ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อันน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน เพื่อความรู้ยิ่งซึ่งการแสวงหา ๓ อย่างนี้

(๖) ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เพื่อกำหนดรู้ซึ่งการแสวงหา ๓ อย่างนี้ ฯลฯ

ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ เพื่อความสิ้นไปแห่งการแสวงหา ๓ อย่างนี้ ฯลฯ

ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ เพื่อละการแสวงหา ๓ อย่างนี้ ฯลฯ

(๗) ก็ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาอันสละได้แล้วด้วยดีอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละการแสวงหากามได้แล้ว เป็นผู้ละการแสวงหาภพได้แล้ว เป็นผู้สงบระงับการแสวงหาพรหมจรรย์ได้แล้ว ภิกษุเป็น
ผู้มีการแสวงหาอันสละได้แล้วด้วยดีอย่างนี้แล

 


อ้างอิง:
(๑) การแสวง ๒ อย่าง พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๓๑๓-๓๑๕
(๒) เอสนาสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๒๓๒ หน้า ๒๐๐-๒๐๑
(๓) เอสนาสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๒๓๓ หน้า ๒๐๑
(๔) สัมมัปปธานสังยุต พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๐๙๖
(๕) เอสนาสูตรที่ ๑-๔ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๒๙๙, ๓๐๑, ๓๐๓, ๓๐๕ 
(๖) เอสนาสูตรที่ ๕-๘  พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๓๐๗, ๓๑๐, ๓๑๒
(๗) อริยวสสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๒๐
      ปฏิลีนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๓๘
      อริยวาส ๑๐ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ ข้อที่ ๓๖๑
 
 

คำต่อไป