พระโสณโกฬิวิสเถระ
ท่านพระโสณโกฬิวิสเถระได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อนสั่งสมบุญในภพนั้น ๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าอโนมทัสสี ท่านเป็นเศรษฐีมีสมบัติมาก ไปฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา มีจิตเลื่อมใส กระทำบริกรรมด้วยปูนขาวเป็นที่เสด็จจงกรมของพระศาสดา ลาดด้วยดอกไม้มีสีต่าง ๆ ให้ผูกเพดานด้วยผ้าย้อมด้วยสีต่าง ๆ ด้านบน และได้สร้างศาลายาวมอบถวายแด่พระศาสดาและภิกษุสงฆ์ ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก
ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระ ท่านเกิดในตระกูลเศรษฐี ในหังสวดีนคร ท่านได้นามว่าสิริวัฑฒะ ท่านเจริญวัยแล้วไปสู่วิหาร กำลังฟังธรรมในสำนักพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศแห่งภิกษุผู้ปรารภความเพียร ตนเองก็ปรารถนาตำแหน่งนั้น จึงบำเพ็ญมหาทานให้เป็นไปตลอด ๗ วัน แล้วตั้งความปรารถนาไว้ และท่านบำเพ็ญกุศลตลอดชีวิต ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก
เมื่อพระทศพลพระนามว่ากัสสปะ ปรินิพพานแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายยังไม่เสด็จอุบัติขึ้น ท่านบังเกิดในเรือนมีตระกูล ในกรุงพาราณสี ได้สร้างบรรณศาลาใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา อุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งโดยเคารพด้วยปัจจัย ๔ ตลอด ๓ เดือน พระปัจเจกพุทธเจ้าออกพรรษาแล้วมีบริขารครบถ้วน กุลบุตรนั้นบำเพ็ญบุญตลอดชีวิต จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก
ในพุทธรูปกาลนี้ ท่านได้ถือปฏิสนธิในเรือนแห่งอุสภเศรษฐี ในจัมปานคร ตั้งแต่ที่ท่านถือปฏิสนธิ กองแห่งโภคะเป็นอันมากเจริญยิ่งแก่เศรษฐี ในวันที่ท่านเกิด ท่านได้เป็นผู้เพียบพร้อมไปด้วยมหาสักการะ เพราะเหตุที่ท่านบริจาคผ้ากัมพลแดงมีค่า ๑๐๐,๐๐๐ แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าในกาลก่อน ท่านมีอัตภาพมีสีดังทองคำและละเอียดอ่อนยิ่งนัก ด้วยเหตุนั้น ชนทั้งหลายจึงขนานนามท่านว่า โสณะ พื้นฝ่ามือและฝ่าเท้าของท่านมีสีดังดอกชะบา ขนทั้งหลายวนเป็นวงดังรูปต่างหูเพชรเกิดที่ฝ่าเท้า สัมผัสอ่อน เหมือนฝ้ายที่ชีแล้วตั้งร้อยครั้ง เมื่อท่านเจริญวัยแล้ว พวกญาติได้พากันสร้างปราสาท ๓ หลังอันสมควรแก่ ๓ ฤดู ให้บำรุงด้วยฟ้อนรำ ท่านเสวยสมบัติใหญ่ในที่นั้น อยู่อาศัยเหมือนเทพกุมาร
ครั้นเมื่อพระศาสดาบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ทรงประกาศธรรมจักร เสด็จเข้าไปอาศัยกรุงราชคฤห์อยู่ ท่านถูกพระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้เข้าเฝ้า ท่านพร้อมด้วยชาวบ้าน ๘๐,๐๐๐ คน ไปยังสำนักพระศาสดา ฟังธรรมแล้ว เกิดศรัทธา จึงขออนุญาตมารดาบิดาบรรพชาอุปสมบทในพระศาสนา
ท่านเรียนกรรมฐานในสำนักพระศาสดา อยู่ในสีตวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการคลุกคลีด้วยหมู่ชน คิดว่า ร่างกายของท่านละเอียดอ่อน ไม่อาจบรรลุสุขได้โดยง่าย ท่านควรจะทำกายให้ลำบากกระทำสมณธรรม แล้วอธิษฐานเฉพาะที่จงกรมเท่านั้น หมั่นประกอบความเพียร แม้ฝ่าเท้าพุพองขึ้นได้มุ่งเพ่งเอาเวทนา กระทำความหมั่น ก็ไม่สามารถให้คุณวิเศษเกิดขึ้นได้ เพราะปรารภความเพียรเกินไป จึงคิดว่าแม้พยายามอย่างนี้ก็ไม่อาจให้มรรคหรือผลเกิดขึ้นได้เพราะการบรรพชา จึงคิดจะสึก บริโภคโภคะและจักบำเพ็ญบุญแทน
พระศาสดาทรงทราบวาระจิตของท่าน จึงเสด็จไปในที่นั้น ทรงโอวาทด้วยพระโอวาทที่เปรียบด้วยพิณ ทรงแสดงวิธีประกอบความเพียรให้สม่ำเสมอ และให้ชำระพระกรรมฐาน ฝ่ายพระโสณเถระได้โอวาท ได้ประกอบความเพียรให้สม่ำเสมอ บำเพ็ญวิปัสสนาดำรงอยู่ในพระอรหัต
ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในโสณโกฬิวิสเถราปทาน ว่าด้วย ผลแห่งการทำที่จงกรมซึ่งทำการฉาบทาด้วยปูนขาวถวายแด่พระพุทธเจ้าอโนมทัสสี และได้มอบถวายศาลารายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้อนุเคราะห์รับไว้ ตรัสพระคาถาและพยากรณ์ว่า
ผู้ใดมีจิตโสมนัสได้ถวายศาลารายแก่ท่าน รถเทียมด้วยม้าพันหนึ่งจักปรากฏแก่ผู้นี้พร้อมด้วยบุญกรรมในเวลาใกล้ตายและจักไปสู่เทวโลกด้วยยานนั้น เทวดาทั้งหลายจักพลอยบันเทิงเมื่อผู้นี้ไปถึงภพ มีวิมานประเสริฐฉาบทาด้วยดินแก้ว ผู้นี้จะรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓ หมื่นกัป จักได้เป็นท้าวเทวราชตลอด ๒๕ กัป และจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิตลอด ๗๗ กัป มีพระนามเดียวกันว่ายโสธร
ผู้นี้ได้เสวยสมบัติทั้งสองแล้ว ก่อสร้างสั่งสมบุญ จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิใน ๒๘ กัป จักมีวิมานอันประเสริฐที่วิสสุกรรมเทพบุตรนิรมิตให้ จักครองบุรีมีเสียง ๑๐ อย่างต่างๆ กัน
ในกัปจะนับประมาณมิได้แต่กัปนี้ ผู้นี้จักได้เป็นพระราชารักษาแผ่นดิน มีฤทธิ์มาก มีพระนามชื่อว่าโอกกากะ เคลื่อนจากกายนั้นแล้วจักไปสู่เทวโลก ในเทวโลกนั้น ได้วิมานอันประเสริฐ เป็นที่รื่นรมย์ใจ
ผู้นี้จักเคลื่อนจากเทวโลกมาสู่ความเป็นมนุษย์ มีชื่อว่าโสณะ จักปรารภความเพียร มีใจแน่วแน่ ตั้งความเพียรในศาสนาของพระศาสดา จักนิพพานในพุทธกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโคดมศากยบุตร จักได้รับการตั้งไว้ในตำแหน่งเลิศ
คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ท่านทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนา ท่านได้ทำเสร็จแล้ว
ครั้นท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว พิจารณาการปฏิบัติของตน จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ด้วยอำนาจอุทานและด้วยอำนาจการพยากรณ์พระอรหัตผลว่า
โสณโกฬิวิสเถรคาถา พระโสณโกฬิวิสเถระพยากรณ์พระอรหัตผลของตน
ผู้ใดเป็นผู้สำเร็จความปรารถนา เป็นผู้สูงสุดในแว่นแคว้นของพระเจ้าอังคะ วันนี้ ผู้นั้นมีนามว่าโสณะ เป็นผู้เยี่ยมในธรรมทั้งหลาย เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์
ภิกษุพึงตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ พึงละสังโยชน์เบื้องบน ๕ และพึงเจริญอินทรีย์ ๕ ให้ยิ่ง ภิกษุผู้ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง ๕ ท่านเรียกว่า ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว
ศีล สมาธิ และปัญญาของภิกษุผู้มีมานะดังไม้อ้ออันยกขึ้นแล้ว ผู้ประมาท ยินดีในอายตนะอันมีในภายนอก ย่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ กิจใดที่ควรทำ ภิกษุเหล่านี้มาละทิ้งกิจอันนั้นเสีย แต่มาทำกิจที่ไม่ควรทำ อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่ภิกษุเหล่านั้น ผู้มีมานะเพียงดังไม้อ้ออันยกขึ้นแล้ว เป็นผู้ประมาท
ส่วนภิกษุเหล่าใดปรารภกายคตาสติด้วยดีเป็นนิตย์ ภิกษุเหล่านั้นกระทำกรรมที่ควรทำเนืองนิตย์ ย่อมไม่เสพกรรมมิใช่กิจ อาสวะของภิกษุเหล่านั้น ผู้มีสติสัมปชัญญะ ย่อมถึงความสิ้นสูญ
เมื่อมีทางตรง พระพุทธเจ้าตรัสบอกไว้แล้ว ขอท่านทั้งหลายจงดำเนินไปเถิด อย่าพากันกลับ จงตักเตือนตนด้วยตนเอง พึงน้อมตนเข้าไปสู่นิพพาน
เมื่อเราปรารภความเพียร พระศาสดาผู้มีจักษุยอดเยี่ยมในโลก ได้ทรงแสดงธรรมอุปมาด้วยสายพิณสอนเรา เราฟังพระดำรัสของพระองค์แล้วยินดีอยู่ในพระศาสนา ยังสมถภาวนาให้เกิดขึ้น เพื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุด
เราบรรลุวิชชา ๓ แล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว จิตของเราผู้น้อมไปในเนกขัมมะ ในความวิเวกแห่งจิต ในความไม่เบียดเบียน ในความสิ้นไปแห่งอุปาทาน ในความสิ้นตัณหาและความไม่หลงใหลแห่งใจ ย่อมหลุดพ้นโดยชอบ
เพราะเห็นความเกิดขึ้นแห่งอายตนะ การสั่งสมย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้หลุดพ้นแล้วโดยชอบ มีจิตรักสงบ เสร็จกิจแล้ว กิจอื่นที่จะพึงทำอีกไม่มี
ภูเขาศิลาล้วนเป็นแท่งทึบ ย่อมไม่สะเทือนด้วยลม ฉันใด รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ทั้งสิ้น ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ย่อมไม่ทำจิตของบุคคล ผู้คงที่ให้หวั่นไหวได้ ฉันนั้น
จิตของผู้คงที่นั้น เป็นจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่เกาะเกี่ยวด้วยอารมณ์อะไร ๆ เพราะผู้คงที่นั้นพิจารณาเห็นความเสื่อมไปแห่งอารมณ์นั้น
อ่าน โสณโกฬิวิสเถรคาถา
อ่าน โสณโกฬิวิสเถราปทาน