พระมาลุงกยปุตตเถระ
พระมาลุงกยปุตตเถระ ผู้ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าอันมีในปางก่อนทั้งหลาย สั่งสมบุญไว้ในภพนั้น ๆ ในพุทธุปบาทนี้ ได้เกิดเป็นบุตรนักดูเงินของพระเจ้าโกศลในกรุงศาวัตถี เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยในการสลัดออกจากกิเลส จะละฆราวาชออกบวชเป็นปริพาชก เมื่อได้ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ได้ความศรัทธา จึงบวชในพระศาสนา บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็ได้ได้อภิญญา ๖
พระเถระได้แสดงธรรมแก่เหล่าญาติด้วยคาถา ๖ คาถานี้ว่า
ตัณหาย่อมเจริญแก่สัตว์ผู้ประพฤติประมาท เหมือนเถาย่านทราย เจริญอยู่ในป่า
บุคคลผู้ตกอยู่ในอำนาจของตัณหา ย่อมเร่ร่อนไปในภพน้อยภพใหญ่ เหมือนวานรปรารถนาผลไม้ เร่ร่อนไปในป่า
ตัณหาอันชั่วช้า ซ่านไปในโลก ครอบงำบุคคลใด ความโศกทั้งหลาย ย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น เหมือนหญ้าคมบางที่ฝนตกเชยแล้ว
ส่วนผู้ใดครอบงำตัณหาอันชั่วช้านี้ซึ่งยากที่จะล่วงไปได้ในโลก ความโศกทั้งหลายย่อมตกไปจากบุคคลนั้น เหมือนหยาดน้ำตกไปจากใบบัว
เพราะฉะนั้น เราขอเตือนท่านทั้งหลาย ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย ผู้มาประชุมกันอยู่ในสมาคมนี้
สมัยหนึ่ง พระมาลุงกยปุตตเถระ ได้ทูลขอพระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่ท่าน พระศาสดา จึงทรงแสดงธรรมโดยย่อว่า
รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่เธอยังไม่ได้สัมผัส ไม่เคยได้สัมผัส เธอจะไม่มีความพอใจ ความใคร่ และความรักในผัสสะนั้น ๆ
ก็บรรดาธรรมทั้งหลายที่เธอได้เห็น ได้ฟัง ได้ทราบ และได้รู้แจ้ง จักเป็นเพียงแต่เห็นในรูปที่ได้เห็น จักเป็นแต่เพียงได้ฟังในเสียงที่ได้ฟัง จักเป็นแต่เพียงได้ทราบในอารมณ์ที่ได้ทราบ จักเป็นแต่เพียงได้รู้แจ้งในธรรมที่ได้รู้แจ้ง
เพราะเหตุนั้น เธอก็จะไม่มีด้วยสิ่งนั้น เพราะเหตุนั้นที่เธอไม่มีในสิ่งนั้น เธอก็จะไม่มีสิ่งนั้น เพราะเหตุที่เธอไม่มีสิ่งนั้น เธอก็จะไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกหน้า ไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี่แหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์
เมื่อจะประกาศความที่ธรรมนั้นเป็นธรรมที่ตนเรียนดีแล้ว จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
เมื่อบุคคลได้เห็นรูป ได้ฟังเสียง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้ถูกต้องผัสสะ ได้รู้ธรรมารมณ์แล้ว มัวใส่ใจถึงรูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมมารมณ์นั้นว่าเป็นนิมิตที่น่ารัก สติก็หลงลืม
เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้นั้นย่อมมีจิตกำหนัดเพลิดเพลินอยู่ ทั้งยึดมั่นรูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ ธรรมารมณ์นั้นด้วย เวทนามิใช่น้อยซึ่งมีรูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมมารมณ์เป็นแดนเกิด ย่อมเจริญมากขึ้นแก่ผู้นั้น
อภิชฌาและวิหิงสา ย่อมเบียดเบียนจิตของผู้นั้นให้เดือดร้อน ความทุกข์ย่อมเป็นไปแก่ผู้นั้น ผู้มัวคำนึงถึงรูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมมารมณ์อยู่อย่างนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ห่างไกลพระนิพพาน
อ่าน มาลุงกยปุตตเถรคาถา สุภาษิตสอนให้ละตัณหา
อ่าน มาลุงกยปุตตเถรคาถา คาถาสุภาษิตของพระมาลุงกยเถระ