ก็ปัญญาสัมปทาเป็นไฉน
(๑) กุลบุตรในโลกนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่าปัญญาสัมปทา
(๒) บุคคลมีใจอันความโลภไม่สม่ำเสมอ คือ อภิชฌาครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำ เมื่อทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำอยู่ ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข
บุคคลมีใจอันพยาบาทครอบงำ...
อันถีนมิทธะครอบงำ...
อันอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ...
อันวิจิกิจฉาครอบงำแล้ว...
ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำ ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข
อริยสาวกนั้นแลรู้ว่า อภิชฌาวิสมโลภะเป็นอุปกิเลสของจิต ย่อมละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็นอุปกิเลสของจิตเสียได้
รู้ว่าพยาบาท... ถีนมิทธะ... อุทธัจจกุกกุจจะ... วิจิกิจฉา... เป็นอุปกิเลสของจิต ย่อมละวิจิกิจฉา ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา อันเป็นอุปกิเลสของจิต
เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่าอภิชฌาวิสมโลภะเป็นอุปกิเลสของจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละเสียได้
เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่าพยาบาท... ถีนมิทธะ ... อุทธัจจกุกกุจจะ... วิจิกิจฉา...
เป็นอุปกิเลสของจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้น ย่อมละเสียได้
อริยสาวกนี้เราเรียกว่า เป็นผู้มีปัญญามาก มีปัญญาหนาแน่น เป็นผู้เห็นทาง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา
(๑) ทีฆชาณุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๔๔ หน้า ๒๒๕
(๒) ปัตตกรรมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๖๑ หน้า ๖๖