Main navigation
ปฐมฌาณ
Share:

(๑)  ปฐมฌาน หรือฌาณ ๑ เป็นหนึ่งในรูปฌาณ ๔  ปรากฏเมื่อบุคคลสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม มีวิตก วิจาร ปีติ สุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่

มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

ละองค์ (นิวรณ์) ๕ คือ

ฉันทะ
พยาบาท
ถีนมิทธะ (ความง่วงเหงาหาวนอน)
อุทธัจจกุกกุจจะ
และวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)

(๒)  ธรรมในปฐมฌาน คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข จิตเตกัคคตา ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์ วิริยะ สติ อุเบกขา มนสิการ กำหนดได้ตามลำดับบท

(๓) เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละแล้วในตน

ย่อมเกิดปราโมทย์
เมื่อปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปิติ
เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ
เมื่อกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุข เกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง แม้ข้อนี้เป็นสมาธิประการหนึ่ง

(๘) เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ

(๔)  แต่ธรรมคือปฐมฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลา ในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในอัตภาพนี้ ในวินัยของพระอริยะ

(๕)  ปฐมฌานนี้ มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งอันเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา ดังนี้ เธอตั้งอยู่ในธรรม คือ สมถะและวิปัสสนานั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะความยินดีเพลิดเพลินในธรรม คือ สมถะและวิปัสสนานั้น เพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เธอย่อมเป็นโอปปาติกะ จะปรินิพพานในที่นั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้น เป็นธรรมดา

ปฐมฌาณเป็นธรรมอันหนึ่งในการละอาสวะ ที่เมื่อภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร  มีตนส่งไปอยู่ จิตที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้น อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นย่อมถึงความสิ้นไป ย่อมบรรลุถึงธรรมที่ปลอดโปร่งจากกิเลสเป็นเครื่องประกอบไว้ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าที่ยังไม่บรรลุ

(๖) ภิกษุไม่ละธรรมเหล่านี้ ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อบรรลุปฐมฌาน คือ 

กามฉันทะ ๑ 
พยาบาท ๑
ถีนมิทธะ ๑ 
อุทธัจจกุกกุจจะ ๑ 
วิจิกิจฉา ๑ 
เธอย่อมไม่เห็นโทษในกามทั้งหลายด้วยปัญญาโดยชอบ ตามความเป็นจริง ๑ 
กามวิตก ๑
พยาบาทวิตก ๑
วิหิงสาวิตก ๑
กามสัญญา ๑
พยาบาทสัญญา ๑
วิหิงสาสัญญา ๑

ภิกษุละธรรมเหล่านี้ ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อบรรลุ ปฐมฌาน คือ 

กามฉันทะ ๑ 
พยาบาท ๑ 
ถีนมิทธะ ๑
อุทธัจจ กุกกุจจะ ๑ 
วิจิกิจฉา ๑
เธอย่อมเห็นโทษในกามทั้งหลายด้วยปัญญาโดยชอบ ตามความเป็นจริง ๑ 
กามวิตก ๑
พยาบาทวิตก ๑
วิหิงสาวิตก ๑
กามสัญญา ๑
พยาบาทสัญญา ๑
วิหิงสาสัญญา ๑

(๗)  เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุปฐมฌาน ย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะแห่งปฐมฌานโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ไม่มีสุข เป็นอาพาธ เป็นของผู้อื่น เป็นของชำรุด ว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น

ครั้นแล้ว เธอย่อมโน้มจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า นั่นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน เธอตั้งอยู่ในปฐมฌานนั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เธอย่อมเป็นอุปปาติกะจักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้น ๆ
 

 

อ้างอิง
(๑)  มหาเวทัลลสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๔๙๙ หน้า ๓๘๒
(๒)  อนุปทสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๑๕๕ หน้า ๙๑
(๓)  สุภสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่ม ๙ ข้อที่ ๓๒๕ หน้า ๒๙๖
(๔)  สัลเลขสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๐๒ หน้า ๕๒
(๕)  อัฏฐกนาครสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๒๐ หน้า ๑๔-๑๕ 
(๖)  ฌานสูตรที่ ๑  ฌาณสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๔๔-๓๔๕ หน้า ๓๘๐-๓๘๑
(๗) ฌาณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๔๐ หน้า ๓๔๑-๓๔๒
(๘) กายคตาสติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๓๐๓ หน้า ๑๖๕

คำต่อไป