Main navigation
ปฏิจจสมุปบาท
Share:

(๑) ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมลึกซึ้งสุดประมาณและปรากฏเป็นของลึก เพราะไม่รู้จริง เพราะไม่แทงตลอดซึ่งธรรมอันนี้ หมู่สัตว์จึงเกิดเป็นผู้ยุ่งประดุจด้ายของช่างหูก เกิดเป็นปมประหนึ่งกระจุกด้าย เป็นผู้เกิดมาเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง จึงไม่พ้นอุบาย ทุคติ วินิบาต สงสาร

(๓) เมื่อปัจจัยนี้มีอยู่ ผลนี้ย่อมมี เพราะการบังเกิดขึ้นแห่งปัจจัยนี้ ผลนี้จึงบังเกิดขึ้น

เมื่อปัจจัยนี้ไม่มีอยู่ ผลนี้ย่อมไม่มี เพราะการดับแห่งปัจจัยนี้ ผลนี้จึงดับ ข้อนี้คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

อนึ่ง เพราะอวิชชานั่นแหละดับโดยไม่เหลือด้วยมรรค คือ วิราคะ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้


(๔) ก็ปฏิจจสมุปบาทเป็นไฉน

เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ  พระตถาคตทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่เสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุอันนั้น คือ ธัมมฐิติ (ความตั้งอยู่ตามธรรมดา) ธัมมนิยาม (ความแน่นอนของธรรมดา) อิทัปปัจจัย (มูลเหตุอันแน่นอน) ก็ยังดำรงอยู่

พระตถาคตย่อมตรัสรู้ทั่วถึงซึ่งธาตุอันนั้น ครั้นแล้ว ย่อมตรัสบอก ทรงแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนกกระทำให้ตื้น และตรัสว่า

ท่านทั้งหลายจงดู

เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร ความจริงแท้ ความไม่คลาดเคลื่อน ความไม่เป็นอย่างอื่น มูลเหตุอันแน่นอนในธาตุอันนั้น ดังพรรณนามาฉะนี้ เราเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท
 

(๓) ก็ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปปันนธรรม) เป็นไฉน

ชราและมรณะเป็นของไม่เที่ยง อันปัจจัยประชุมแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา

ชาติ... ภพ... อุปาทาน... ตัณหา... เวทนา... ผัสสะ... สฬายตนะ... นามรูป... วิญญาณ... สังขาร... อวิชชา เป็นของไม่เที่ยง อันปัจจัยประชุมแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา

เหล่านี้เรียกว่าธรรมอาศัยกันเกิดขึ้น

เมื่อใดแล อริยสาวกเห็นด้วยดีซึ่งปฏิจจสมุปบาทนี้ และธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นเหล่านี้ ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นจักแล่นเข้าถึงที่สุดเบื้องต้นว่า

ในอดีตกาลเราได้เป็นหรือหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไรหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอย่างไรหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไร แล้วได้มาเป็นอะไรหนอ

หรือว่าจักแล่นเข้าถึงที่สุดเบื้องปลายว่า

ในอนาคตกาลเราจักเป็นหรือหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไรหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอย่างไรหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไร แล้วจึงจักเป็นอะไรหนอ

หรือว่าจักยังมีความสงสัยในปัจจุบันกาลเป็นภายใน ณ บัดนี้ว่า

เราเป็นอยู่หรือหนอ หรือไม่เป็นอยู่หนอ เราเป็นอะไรอยู่หนอ เราเป็นอย่างไรอยู่หนอสัตว์นี้มาแต่ไหนหนอ เขาจักไปในที่ไหน

ดังนี้ ข้อนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้

เพราะเหตุไร

เพราะว่าอริยสาวกเห็นด้วยดีแล้วซึ่งปฏิจจสมุปบาท และธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นเหล่านี้ ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง

(๕) อริยสาวกผู้ได้สดับมิได้มีความสงสัยอย่างนี้ว่า

เมื่ออะไรมี อะไรจึงมี
เพราะอะไรเกิดขึ้น อะไรจึงเกิดขึ้น

เมื่ออะไรมี นามรูปจึงมี
เมื่ออะไรมี สฬายตนะจึงมี
เมื่ออะไรมี ผัสสะจึงมี
เมื่ออะไรมี เวทนาจึงมี
เมื่ออะไรมี ตัณหาจึงมี
เมื่ออะไรมี อุปาทานจึงมี
เมื่ออะไรมี ภพจึงมี
เมื่ออะไรมี ชาติจึงมี
เมื่ออะไรมี ชราและมรณะจึงมี

โดยที่แท้ อริยสาวกผู้ได้สดับย่อมมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า

เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

เมื่อวิญญาณมี นามรูปจึงมี
เมื่อนามรูปมี สฬายตนะจึงมี
เมื่อสฬายตนะมี ผัสสะจึงมี
เมื่อผัสสะมี เวทนาจึงมี
เมื่อเวทนามี ตัณหาจึงมี
เมื่อตัณหามี อุปาทานจึงมี
เมื่ออุปาทานมี ภพจึงมี
เมื่อภพมี ชาติจึงมี
เมื่อชาติมี ชราและมรณะจึงมี

อริยสาวกนั้นย่อมรู้ประจักษ์อย่างนี้ว่า โลกนี้ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้

อริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมไม่มีความสงสัยอย่างนี้ว่า

เมื่ออะไรไม่มี อะไรจึงไม่มี
เพราะอะไรดับ อะไรจึงดับ

เมื่ออะไรไม่มี นามรูปจึงไม่มี
เมื่ออะไรไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี
เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่มี
เมื่ออะไรไม่มี เวทนาจึงไม่มี
เมื่ออะไรไม่มี ตัณหาจึงไม่มี
เมื่ออะไรไม่มี อุปาทานจึงไม่มี
เมื่ออะไรไม่มี ภพจึงไม่มี
เมื่ออะไรไม่มี ชาติจึงไม่มี
เมื่ออะไรไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี

โดยที่แท้ อริยสาวกผู้ได้สดับย่อมมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า

เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี
เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ

เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี
เมื่อนามรูปไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี
เมื่อสฬายตนะไม่มี ผัสสะจึงไม่มี
เมื่อผัสสะไม่มี เวทนาจึงไม่มี
เมื่อเวทนาไม่มี ตัณหาจึงไม่มี
เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานจึงไม่มี
เมื่ออุปาทานไม่มี ภพจึงไม่มี
เมื่อภพไม่มี ชาติจึงไม่มี
เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี

อริยสาวกนั้นย่อมรู้ประจักษ์อย่างนี้ว่า โลกนี้ย่อมดับอย่างนี้

ในกาลใดแล อริยสาวกรู้ทั่วถึงเหตุเกิดและความดับไปแห่งโลกตามเป็นจริงอย่างนี้ ในกาลนั้น อริยสาวกนี้ เราเรียกว่าเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทิฐิบ้าง เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทัศนะบ้าง เป็นผู้มาถึงสัทธรรมนี้บ้าง เห็นสัทธรรมนี้บ้าง เป็นผู้ประกอบด้วยญาณอันเป็นเสขะบ้าง เป็นผู้ประกอบด้วยวิชชาอันเป็นเสขะบ้าง เป็นผู้บรรลุกระแสแห่งธรรมบ้าง เป็นพระอริยะมีปัญญาเครื่องชำแรกกิเลสบ้าง ว่าอยู่ชิดประตูอมตนิพพานบ้าง


ภิกษุฉลาดในปฏิจจสมุปบาทด้วยเหตุเท่าไร

(๖) ภิกษุผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท ด้วยเหตุเท่าไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า

เมื่อเหตุนี้มี ผลนี้จึงมี
เพราะเหตุนี้เกิดขึ้น ผลนี้จึงเกิดขึ้น

เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้จึงไม่มี
เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

อย่างนี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้

แต่เพราะอวิชชานั่นแลดับด้วยวิราคะ ไม่มีส่วนเหลือจึงดับสังขารได้
เพราะสังขารดับ จึงดับวิญญาณได้
เพราะวิญญาณดับ จึงดับนามรูปได้
เพราะนามรูปดับ จึงดับสฬายตนะได้
เพราะสฬายตนะดับ จึงดับผัสสะได้
เพราะผัสสะดับ จึงดับเวทนาได้
เพราะเวทนาดับ จึงดับตัณหาได้
เพราะตัณหาดับ จึงดับอุปาทานได้
เพราะอุปาทานดับ จึงดับภพได้
เพราะภพดับ จึงดับชาติได้
เพราะชาติดับ จึงดับชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสอุปายาสได้

อย่างนี้เป็นความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้

ด้วยเหตุเท่านี้ จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท

(๑) ชรามรณะ

เมื่อเธอถูกถามว่า ชรามรณะ มีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี

ถ้าเขาถามว่าชรามรณะมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีชาติเป็นปัจจัย

ก็ถ้าชาติมิได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือ มิได้มีเพื่อความเป็นเทพแห่งพวกเทพ เพื่อความเป็นคนธรรพ์แห่งพวกคนธรรพ์ เพื่อความเป็นยักษ์แห่งพวกยักษ์ เพื่อความเป็นภูตแห่งพวกภูต เพื่อความเป็นมนุษย์แห่งพวกมนุษย์ เพื่อความเป็นสัตว์สี่เท้าแห่งพวกสัตว์สี่เท้า เพื่อความเป็นปักษีแห่งพวกปักษี เพื่อความเป็นสัตว์เลื้อยคลานแห่งพวกสัตว์เลื้อยคลาน

ก็ถ้าชาติมิได้มีเพื่อความเป็นอย่างนั้น ๆ แห่งสัตว์พวกนั้น ๆ เมื่อชาติไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะชาติดับไป ชราและมรณะจะพึงปรากฏไม่ได้

เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งชรามรณะก็คือชาตินั่นเอง

ชาติ

เมื่อเธอถูกถามว่าชาติมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี

ถ้าเขาถามว่า ชาติมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีภพเป็นปัจจัย

ก็ถ้าภพมิได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เมื่อภพไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะภพดับไป ชาติจะพึงปรากฏไม่ได้

เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งชาติก็คือภพนั่นเอง

ภพ

เมื่อเธอถูกถามว่า ภพมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี

ถ้าเขาถามว่า ภพมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีอุปาทานเป็นปัจจัย

ก็ถ้าอุปาทานมิได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน เมื่ออุปาทานไม่มี โดยประการทั้งปวง เพราะอุปาทานดับไป ภพจะพึงปรากฏไม่ได้

เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งภพก็คืออุปาทานนั่นเอง

อุปาทาน

เมื่อเธอถูกถามว่า อุปาทานมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี

ถ้าเขาถามว่า อุปาทานมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีตัณหาเป็นปัจจัย

ก็ถ้าตัณหามิได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะตัณหาดับไป อุปาทานจะพึงปรากฏไม่ได้

เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งอุปาทานก็คือตัณหานั่นเอง

ตัณหา

เมื่อเธอถูกถามว่า ตัณหามีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี

ถ้าเขาถามว่า ตัณหามีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีเวทนาเป็นปัจจัย

ก็ถ้าเวทนามิได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือ เวทนาที่เกิดเพราะจักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส (จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา) เมื่อเวทนาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะเวทนาดับไป ตัณหาจะพึงปรากฏไม่ได้

เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งตัณหาก็คือเวทนานั่นเอง

เวทนา

เมื่อเธอถูกถามว่า เวทนามีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี

ถ้าเขาถามว่า เวทนามีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีผัสสะเป็นปัจจัย

ก็ถ้าเวทนามิได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือ เวทนาที่เกิดเพราะจักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส (จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา) เมื่อเวทนาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะเวทนาดับไป ตัณหาจะพึงปรากฏไม่ได้

เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งตัณหาก็คือเวทนานั่นเอง

ผัสสะ

เมื่อเธอถูกถามว่า ผัสสะมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี

ถ้าเขาถามว่า ผัสสะมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีนามรูปเป็นปัจจัย

เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ

การบัญญัตินามกายต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุเทศนั้น ๆ ไม่มี การสัมผัสเพียงแต่ชื่อในรูปกายจะพึงปรากฏไม่ได้

การบัญญัติรูปกาย ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้น ๆ ไม่มี การสัมผัสโดยการกระทบ จะพึงปรากฏในนามกายไม่ได้

การบัญญัตินามก็ดี รูปกายก็ดี ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้น ๆ ไม่มี การสัมผัสเพียงแต่ชื่อก็ดี การสัมผัสโดยการกระทบก็ดี จะพึงปรากฏไม่ได้

การบัญญัตินามรูปต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้นๆ ไม่มี ผัสสะจะพึงปรากฏไม่ได้

เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งผัสสะก็คือนามรูปนั่นเอง

วิญญาณ-นามรูป นามรูป-วิญญาณ

เมื่อเธอถูกถามว่า นามรูปมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี

ถ้าเขาถามว่า นามรูปมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีวิญญาณเป็นปัจจัย

เมื่อเธอถูกถามว่า วิญญาณมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มี

ถ้าเขาถามว่าวิญญาณมีอะไรเป็นปัจจัย เธอพึงตอบว่า มีนามรูปเป็นปัจจัย

เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่านาม

มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูป

นามและรูปดังพรรณนามาฉะนี้ เรียกว่านามรูป

ก็วิญญาณจักไม่หยั่งลงในท้องแห่งมารดา นามรูปจักขาดในท้องแห่งมารดา

ก็ถ้าวิญญาณหยั่งลงในท้องแห่งมารดาแล้วจักล่วงเลยไป นามรูปจักบังเกิดเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่ได้

ก็ถ้าวิญญาณ ของกุมารก็ดี ของกุมาริกาก็ดี ผู้ยังเยาว์วัยอยู่จักขาดความสืบต่อ นามรูปจักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ไม่ได้

เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งนามรูปก็คือวิญญาณนั่นเอง

ก็ถ้าวิญญาณจักไม่ได้อาศัยในนามรูปแล้ว ความเกิดขึ้นแห่งชาติชรามรณะและกองทุกข์ พึงปรากฏต่อไปไม่ได้

เพราะเหตุนั้นแหละ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งวิญญาณก็คือนามรูปนั่นเอง

ด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้แหละ วิญญาณและนามรูปจึงยังเกิด แก่ ตาย จุติ หรืออุปบัติ ทางแห่งชื่อ ทางแห่งนิรุติ ทางแห่งบัญญัติ ทางที่กำหนดรู้ด้วยปัญญาและวัฏฏสังสาร ย่อมเป็นไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ความเป็นอย่างนี้ ย่อมมีเพื่อบัญญัติ คือนามรูปกับวิญญาณ

(๒) ไม้อ้อ ๒ กำ พึงตั้งอยู่ได้เพราะต่างอาศัยซึ่งกันและกันฉันใด เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป

ถ้าไม้อ้อ ๒ กำนั้น พึงเอาออกเสียกำหนึ่ง อีกกำหนึ่งก็ล้มไป ถ้าดึงอีก กำหนึ่งออก อีกกำหนึ่งก็ล้มไป ฉันใด เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ

(๑) เพราะนามรูปเป็นปัจจัยดังนี้แล จึงเกิดวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงเกิดผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ
เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดชรามรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการฉะนี้


ธรรมที่พระพุทธเจ้าวิปัสสีทรงพิจารณาตรัสรู้

(๗) พระวิปัสสีโพธิสัตว์ผู้เสด็จหลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้ทรงพระปริวิตกเช่นนี้ว่า

โลกนี้ถึงความยาก ย่อมเกิด แก่ ตาย และเวียนตาย เวียนเกิด เออก็แหละ บุคคลไม่รู้ชัดถึงอุบายเครื่องพ้นทุกข์ คือ ชราและมรณะนี้ การพ้นทุกข์ คือ ชราและมรณะนี้ จักปรากฏได้เมื่อไรเล่า

ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีโพธิสัตว์ได้ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ชราและมรณะจึงมี ชราและมรณะมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า

เมื่อชาติมีอยู่ ชราและมรณะจึงมี ชราและมรณะมี เพราะชาติเป็นปัจจัย

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ชาติจึงมี ชาติมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อภพมีอยู่ ชาติจึงมี ชาติมี เพราะภพเป็นปัจจัย

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ภพจึงมี ภพมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่ออุปาทานมีอยู่ ภพจึงมี ภพมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ อุปาทานจึงมี อุปาทานมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า

เมื่อตัณหามีอยู่ อุปาทานจึงมี อุปาทานมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ตัณหาจึงมี ตัณหามี เพราะอะไรเป็นปัจจัย

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า

เมื่อเวทนามีอยู่ ตัณหาจึงมี ตัณหามี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ เวทนาจึงมี เวทนามี เพราะอะไรเป็นปัจจัย

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า

เมื่อผัสสะมีอยู่ เวทนาจึงมี เวทนามี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ผัสสะจึงมี ผัสสะมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า

เมื่อสฬายตนะมีอยู่ ผัสสะจึงมี ผัสสะมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ สฬายตนะจึงมี สฬายตนะมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า

เมื่อนามรูปมีอยู่ สฬายตนะจึงมี สฬายตนะมีเพราะนามรูป เป็นปัจจัย

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ นามรูปจึงมี นามรูปมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า

เมื่อวิญญาณมีอยู่ นามรูปจึงมี นามรูปมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรมีอยู่หนอ วิญญาณจึงมี วิญญาณมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า

เมื่อนามรูปมีอยู่ วิญญาณจึงมี วิญญาณมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

วิญญาณนี้ย่อมกลับเวียนมาแต่นามรูป หาใช่อย่างอื่นไม่ โดยความเป็นไปเพียงเท่านี้ สัตว์โลกพึงเกิดบ้าง พึงแก่บ้าง พึงตายบ้าง พึงจุติบ้าง พึงอุปบัติบ้าง ความเป็นไปนั้นคือ วิญญาณมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย นามรูปมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย

สฬายตนะมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย
ผัสสะมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย
เวทนามี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย
ตัณหามี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย
อุปาทานมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย
ภพมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
ชาติมี เพราะภพเป็นปัจจัย
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสย่อมมีพร้อมเพราะชาติเป็นปัจจัย

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้

จักษุ ญาณ ปรีชา ความรู้แจ้งชัด แสงสว่างว่า สมุทัย ๆ (เหตุเกิดขึ้นพร้อม ๆ ) ดังนี้ ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ ในธรรมทั้งหลายที่พระองค์มิได้สดับมาแล้วในกาลก่อนเลย

ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีโพธิสัตว์ ได้ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ ชราและมรณะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ชราและมรณะจึงดับ

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า

เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณะย่อมไม่มี เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ ชาติจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ชาติจึงดับ

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อภพไม่มี ชาติย่อมไม่มี เพราะภพดับ ชาติจึงดับ

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ ภพจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ภพจึงดับ

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า

เมื่ออุปาทานไม่มี ภพย่อมไม่มี เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ อุปาทานจึงไม่มี เพราะอะไรดับ อุปาทานจึงดับ

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า

เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานย่อมไม่มี เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ ตัณหาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ตัณหาจึงดับ

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า

เมื่อเวทนาไม่มี ตัณหาย่อมไม่มี เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ เวทนาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ เวทนาจึงดับ

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า

เมื่อผัสสะไม่มี เวทนาย่อมไม่มี เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ ผัสสะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ผัสสะจึงดับ

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า

เมื่อสฬายตนะไม่มี ผัสสะย่อมไม่มี เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ สฬายตนะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ สฬายตนะจึงดับ

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า

เมื่อนามรูปไม่มี สฬายตนะย่อมไม่มี เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ นามรูปจึงไม่มี เพราะอะไรดับ นามรูปจึงดับ

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า

เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปย่อมไม่มี เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ วิญญาณจึงไม่มี เพราะอะไรดับ วิญญาณจึงดับ

ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า

เมื่อนามรูปไม่มี วิญญาณย่อมไม่มี เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ

ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย

ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า

หนทางเพื่อความตรัสรู้นี้เราได้บรรลุแล้วแล คือ

เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับโดยไม่เหลือ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้

จักษุ ญาณ ปรีชา ความรู้แจ้งชัด แสงสว่างว่า นิโรธ ๆ (ความดับ ๆ) ดังนี้ ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ ในธรรมทั้งหลายที่พระองค์มิได้สดับมาแล้วในกาลก่อนเลย

ครั้นสมัยอื่น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า

ดังนี้รูป
ดังนี้เหตุเกิดแห่งรูป
ดังนี้ความดับแห่งรูป

ดังนี้เวทนา
ดังนี้เหตุเกิดแห่งเวทนา
ดังนี้ความดับแห่งเวทนา

ดังนี้สัญญา
ดังนี้เหตุเกิดแห่งสัญญา
ดังนี้ความดับแห่งสัญญา

ดังนี้สังขาร
ดังนี้เหตุเกิดแห่งสังขาร
ดังนี้ความดับแห่งสังขาร

ดังนี้วิญญาณ
ดังนี้เหตุเกิดแห่งวิญญาณ
ดังนี้ความดับแห่งวิญญาณ

เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ไม่นานนัก จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่นแล


ธรรมที่พระโคตมพุทธเจ้าทรงมนสิการเมื่อแรกตรัสรู้

(๘) เมื่อแรกตรัสรู้ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชราในอุรุเวลาประเทศ พระผู้มีพระภาคประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ตลอด ๗ วัน และทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทเป็นอนุโลมและปฏิโลม ตลอดปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยามแห่งราตรี 

ปฏิจจสมุปบาทอนุโลม

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

กองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมเกิด ด้วยประการฉะนี้

ปฏิจจสมุปบาทปฏิโลม

อนึ่ง เพราะอวิชชานั่นแหละดับโดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สังขาร จึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ

กองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้

พุทธอุทานคาถาที่ ๑ ปฐมยาม

เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่

เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ

พุทธอุทานคาถาที่ ๒ มัชฌิมยาม

เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่

เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ความสิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย

พุทธอุทานคาถาที่ ๓ ปัจฉิมยาม

เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่

เมื่อนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนาเสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัยทำอากาศให้สว่าง ฉะนั้น


ธรรมาธิบายทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ

(๙) ทุกขสมุทัยอริยสัจเป็นไฉน คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส กองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการอย่างนี้

นี้เรียกว่าทุกขสมุทัยอริยสัจ

ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน

เพราะอวิชชาดับโดยสำรอกไม่เหลือ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงดับ กองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมดับด้วยอาการอย่างนี้

นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ


ธรรมาธิบายเหตุเกิดและความดับแห่งขันธ์ ๕ เหตุเกิดและความดับแห่งกองทุกข์

(๑๐) เมื่อบุคคลเพลิดเพลิน พร่ำถึง ดื่มด่ำอยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความยินดีก็ย่อมเกิดขึ้น

เมื่อความยินดีในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้น นั่นเป็นอุปาทาน
เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวล มีด้วยประการอย่างนี้

นี่เป็นความเกิดแห่งรูป นี่เป็นความเกิดแห่งเวทนา นี่เป็นความเกิดแห่งสัญญา นี่เป็นความเกิดแห่งสังขาร นี่เป็นความเกิดแห่งวิญญาณ

เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำถึง ไม่ดื่มด่ำอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความยินดีในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมดับไป

เพราะความยินดีนั้นดับไป อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

นี้เป็นความดับแห่งรูป นี้เป็นความดับแห่งเวทนา นี้เป็นความดับแห่งสัญญา นี้เป็นความดับแห่งสังขาร นี้เป็นความดับแห่งวิญญาณ

(๑๑) อริยสาวกผู้สดับ ย่อมใส่ใจโดยแยบคายด้วยดีถึง ปฏิจจสมุปบาทธรรมในร่างกายและจิต ว่า

เพราะเหตุดังนี้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เมื่อสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี
เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา และมรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

อนึ่ง เพราะอวิชชาดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

อริยสาวกผู้ได้สดับ มาพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในรูป ย่อมหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมหน่ายแม้ในวิญญาณ

เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ย่อมทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี


(๑๒) ธรรมาธิบายความเกิดและความดับแห่งโลก

ก็ความเกิดแห่งโลกเป็นไฉน

ความเกิดแห่งโลกนั้น คือ

อาศัยจักษุและรูป เกิดจักขุวิญญาณ
รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ...

อาศัยหูและเสียง เกิดโสตวิญญาณ
รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ...

อาศัยจมูกและกลิ่น เกิดฆานวิญญาณ
รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ...

อาศัยลิ้นและรส เกิดชิวหาวิญญาณ
รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ...

อาศัยกายและโผฏฐัพพะ เกิดกายวิญญาณ
รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ...

อาศัยใจและธรรมารมณ์ เกิดมโนวิญญาณ
รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ...

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะทุกข์ โทมนัส และอุปายาสนี้เป็นความเกิดแห่งโลก

ก็ความดับแห่งโลกเป็นไฉน

ความดับแห่งโลกนั้น คือ

อาศัยจักษุและรูป เกิดจักขุวิญญาณ
รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ...

อาศัยจักษุและรูป เกิดจักขุวิญญาณ
รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ...

อาศัยหูและเสียง เกิดโสตวิญญาณ
รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ...

อาศัยจมูกและกลิ่น เกิดฆานวิญญาณ
รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ...

อาศัยลิ้นและรส เกิดชิวหาวิญญาณ
รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ...

อาศัยกายและโผฏฐัพพะ เกิดกายวิญญาณ
รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ...

อาศัยใจและธรรมารมณ์ เกิดมโนวิญญาณ
รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ...

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา
เพราะตัณหานั้นแลดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

นี้เป็นความดับแห่งโลก


(๑๓) ธรรมาธิบายเหตุแห่งสุขและทุกข์

สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเป็นผู้กล่าวกรรม ย่อมบัญญัติว่า สุขและทุกข์ตนทำเอง

สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเป็นผู้กล่าวกรรม ย่อมบัญญัติว่า สุขและทุกข์ผู้อื่นทำให้

สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเป็นผู้กล่าวกรรม ย่อมบัญญัติว่า สุขและทุกข์ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย

สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมย่อมบัญญัติว่า สุขและทุกข์เกิดเอง เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำ

ในวาทะทั้ง ๔ นี้ พระผู้มีพระภาคกล่าวไว้อย่างไร บอกไว้อย่างไร ข้าพเจ้าทั้งหลายพยากรณ์อย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามที่ท่านพระโคดมกล่าวแล้ว จะไม่กล่าวตู่ท่านพระโคดมด้วยคำไม่จริง และพึงพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ก็จะไม่พึงถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้

พระผู้มีพระภาคทรงกล่าวว่า สุขและทุกข์เป็นของอาศัยเหตุเกิดขึ้น

สุขและทุกข์อาศัยอะไรเกิดขึ้น

สุขและทุกข์อาศัยผัสสะเกิดขึ้น บุคคลผู้กล่าวดังนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามที่เรากล่าวแล้ว ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไร ๆ

ในวาทะทั้ง ๔ นั้น ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่าตนทำเอง ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยสุขและทุกข์ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้

แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ผู้อื่นทำให้ ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยสุขและทุกข์ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้

แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยสุขและทุกข์ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้

แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า เกิดเอง เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยสุขและทุกข์ ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะที่จะมีได้

เมื่อกายมีอยู่ สุขและทุกข์อันเป็นภายใน ย่อมบังเกิดขึ้นเพราะความจงใจทางกายเป็นเหตุ

เมื่อวาจามีอยู่ สุขและทุกข์อันเป็นภายใน ย่อมบังเกิดขึ้นเพราะความจงใจทางวาจาเป็นเหตุ

เมื่อใจมีอยู่ สุขและทุกข์อันเป็นภายใน ย่อมบังเกิดขึ้นเพราะความจงใจทางใจเป็นเหตุ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยนั่นแหละ บุคคลย่อมปรุงแต่งกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายใน เกิดขึ้นด้วยตนเองบ้าง

บุคคลย่อมปรุงแต่งกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น เพราะผู้อื่นบ้าง

บุคคลรู้สึกตัว ย่อมปรุงแต่งกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นบ้าง

บุคคลไม่รู้สึกตัว ย่อมปรุงแต่งกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นบ้าง

อวิชชาแทรกอยู่แล้วในธรรมเหล่านี้

ก็เพราะอวิชชาดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ กายซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น จึงไม่มี วาจาซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น จึงไม่มี ใจซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น จึงไม่มี

เขต (ความจงใจเป็นเหตุงอกงาม) ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น จึงไม่มี

วัตถุ (ความจงใจอันเป็นที่ประดิษฐาน) ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น จึงไม่มี

อายตนะ (ความจงใจอันเป็นปัจจัย) ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น จึงไม่มี

อธิกรณ์ (ความจงใจอันเป็นเหตุ) ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น จึงไม่มี


ธรรมาธิบายเหตุให้เสวยเวทนา

(๑๔) กายนี้ของคนพาลและบัณฑิต ผู้อันอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ประกอบด้วยตัณหา เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ กายนี้ด้วย นามรูปในภายนอกด้วย ย่อมมีด้วยประการดังนี้

เพราะอาศัยกายและนามรูปทั้งสองนี้ จึงเกิดผัสสะ สฬายตนะ ซึ่งทั้งสองอย่างนั้นหรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องคนพาลและบัณฑิต เป็นเหตุให้เสวยสุขและทุกข์

(๑๕) เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนา จึงเกิดสุขเวทนาขึ้น

เพราะผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนานั้นดับไป สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนานั้นจึงดับ จึงสงบไป

เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนา จึงเกิดทุกขเวทนาขึ้น

เพราะผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนานั้นดับไป ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนานั้นจึงดับ จึงสงบไป

เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งเวทนาที่มิใช่ทุกข์ มิใช่สุขจึงเกิดอทุกขมสุขเวทนาขึ้น เพราะผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นดับไป อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นจึงดับ จึงสงบไป

อริยสาวกผู้ได้สดับ มาพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในรูป ย่อมหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมหน่ายแม้ในวิญญาณ

เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ย่อมทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

(๑๖) เมื่อบุคคลถืออยู่ว่า นั่นผู้กระทำ นั่นผู้เสวย (ทุกข์) เราจะกล่าวว่า ทุกข์ตนกระทำเอง ดังนี้ อันนี้เป็น สัสสตทิฐิ ไป

เมื่อบุคคลถูกเวทนาทิ่มแทง (รู้) อยู่ว่าผู้กระทำคนหนึ่ง ผู้เสวยเป็นอีกคนหนึ่ง เราจะกล่าวว่า ทุกข์ผู้อื่นกระทำให้ดังนี้ อันนี้เป็น อุจเฉททิฐิ ไป

(๑๗) เมื่อบุคคลถืออยู่ว่านั่นเวทนา นั่นผู้เสวย (เวทนา) ดังนี้ แต่เราไม่กล่าวอย่างนี้ว่า สุขและทุกข์ตนกระทำเอง

เมื่อบุคคลถูกเวทนาทิ่มแทง (รู้) อยู่ว่าเวทนาอย่างหนึ่ง ผู้เสวย (เวทนา) เป็นอีกคนหนึ่ง ดังนี้

แต่เราไม่กล่าวอย่างนี้ว่า สุขและทุกข์ผู้อื่นกระทำให้

(๑๖,๑๗) ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสอง (ตนทำเอง ผู้อื่นทำให้) นั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ... ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้


ธรรมาธิบายเหตุให้เสวยวิบากกรรม

(๑๘) ก็เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉน คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม

(๑๙) คนนั้นทำเหตุ คนนั้นเสวยผลหรือหนอ

โวหารนี้ว่า คนนั้นทำเหตุ คนนั้นเสวยผล เป็นส่วนสุดที่หนึ่ง

ก็คนอื่นทำเหตุ คนอื่นเสวยผลหรือ

โวหารนี้ว่า คนอื่นทำเหตุ คนอื่นเสวยผลเป็นส่วนสุดที่สอง

ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลางไม่เข้าใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นดังนี้ว่า

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

ก็เพราะอวิชชาดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้


ธรรมาธิบายสภาพมีอยู่ เป็นอยู่เช่นนั้นเอง ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของใคร (ทิฏฐิ-อัตตา)

(๒๐) สิ่งทั้งปวงมีอยู่หรือหนอ

สิ่งทั้งปวงมีอยู่ เป็นส่วนสุดที่หนึ่ง

ก็สิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่หรือหนอ

โวหารนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่ เป็นส่วนสุดที่สอง

ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นดังนี้ว่า

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ฯลฯ

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ก็เพราะอวิชชาดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้


(๒๑) สิ่งทั้งปวงมีอยู่หรือหนอ

ข้อที่ว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่นี้ เป็นทิฐิว่าด้วยความสืบต่อแห่งโลกที่หนึ่ง

ก็สิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่หรือ

ข้อที่ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่นี้ เป็นทิฐิว่าด้วยความสืบต่อแห่งโลกที่สอง

สิ่งทั้งปวงมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันหรือ

สิ่งทั้งปวงมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันนี้ เป็นทิฐิว่าด้วยความสืบต่อแห่งโลกที่สาม

ก็สิ่งทั้งปวงมีสภาพต่างกันหรือ

ข้อที่ว่า สิ่งทั้งปวงมีสภาพต่างกันนี้ เป็นทิฐิว่าด้วยความสืบต่อแห่งโลกที่สี่

ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นดังนี้ว่า

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

ก็เพราะอวิชชาดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้


(๒๒) กายนี้ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย ทั้งไม่ใช่ของผู้อื่น กรรมเก่านี้พึงเห็นว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจ เป็นที่ตั้งของเวทนา

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในเรื่องกายนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคาย ซึ่งปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างดีว่า

เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี
เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ ด้วยประการดังนี้ คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

ก็เพราะอวิชชาดับโดยสำรอกไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้


(๒๓) เมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสะดุ้งกลัวและอุปาทานย่อมเกิดขึ้น ใจก็ถอยกลับอย่างนี้ว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น อะไรเล่าเป็นตนของเรา

โลกนี้โดยมากอาศัยส่วน ๒ อย่าง คือ ความมี ๑ ความไม่มี ๑

ก็เมื่อบุคคลเห็นเหตุเกิดแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอยู่ ความไม่มีในโลกย่อมไม่มี

เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลก ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอยู่ ความมีในโลกย่อมไม่มี  

โลกนี้โดยมากยังพัวพันด้วยอุบายเป็นเหตุถือมั่นและความยึดมั่น แต่อริยสาวกย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ ซึ่งอุบายเป็นเหตุถือมั่น มีความยึดมั่นด้วยความตั้งจิตไว้เป็นอนุสัยว่า อัตตาของเรา ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า ทุกข์นั่นแหละ เมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับย่อมดับ อริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลยด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล จึงชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ

ส่วนสุดที่ ๑ นี้ว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ ส่วนสุดที่ ๒ นี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้


(๒๔) สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นปัจจัย เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้ว จะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้ข้อนั้น ก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้ว จะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า โลกมีที่สุด และหาที่สุดมิได้มิได้ บัญญัติว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ ด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้ข้อนั้น ก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้ว จะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิดิ้นได้ ไม่ตายตัว เมื่อถูกถามปัญหาในข้อนั้น ๆ ย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ ไม่ตายตัว ด้วยเหตุ ๕ ประการ แม้ข้อนั้น ก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้ว จะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ บัญญัติอัตตาและโลกว่าเกิดขึ้นลอยๆ ด้วยเหตุ ๒ ประการ แม้ข้อนั้น ก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้ว จะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอดีต มีความเห็นตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์ส่วนอดีต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ ๑๘ ประการ แม้ข้อนั้น ก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้ว จะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา บัญญัติว่าอัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา ด้วยเหตุ ๑๖ ประการ แม้ข้อนั้นก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้ว จะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา บัญญัติว่าอัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา ด้วยเหตุ ๘ ประการ แม้ข้อนั้นก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้ว จะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ บัญญัติว่าอัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ด้วยเหตุ ๘ ประการ แม้ข้อนั้นก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย

สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า ขาดสูญ บัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิด ของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ ด้วยเหตุ ๗ ประการ แม้ข้อนั้น ก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้ว จะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า นิพพานในปัจจุบัน บัญญัติว่านิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ ด้วยเหตุ ๕ ประการ แม้ข้อนั้นก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้ว จะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต มีความเห็นตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ ๔๔ ประการ แม้ข้อนั้น ก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้ว จะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอดีตก็ดี กำหนดขันธ์ส่วนอนาคตก็ดี กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคตก็ดี มีความเห็นตามขันธ์ทั้งส่วนอดีต ทั้งส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ ๖๒ ประการ แม้ข้อนั้น ก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้ว จะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกถูกต้องแล้วด้วยผัสสายตนะทั้ง ๖ ย่อมเสวยเวทนา

เพราะเวทนาของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา

เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน

เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ

เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ

เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิด ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส

เมื่อใด ภิกษุรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งความเกิด ความดับ คุณและโทษแห่งผัสสายตนะทั้ง ๖ กับทั้งอุบายเป็นเครื่องออกไปจากผัสสายตนะเหล่านั้น เมื่อนั้น ภิกษุนี้ย่อมรู้ชัดยิ่งกว่าสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมด


(๒๕) เมื่อถามว่า ชรามรณะเป็นไฉน และชรามรณะนี้เป็นของใคร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ตั้งปัญหายังไม่ถูก ผู้ใดพึงกล่าวว่า ชรามรณะเป็นไฉน และชรามรณะนี้เป็นของใคร หรือพึงกล่าวว่าชรามรณะเป็นอย่างอื่น และชรามรณะนี้เป็นของผู้อื่น คำทั้งสองของผู้นั้นมีเนื้อความอย่างเดียวกัน ต่างแต่พยัญชนะเท่านั้น

เมื่อมีทิฐิว่า ชีพก็อันนั้น ความอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมไม่มี

หรือว่าเมื่อมีทิฐิว่า ชีพอย่างหนึ่งสรีระอย่างหนึ่ง ความอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมไม่มี

ตถาคตย่อมแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่ข้องแวะส่วนสุดทั้งสองนั้นดังนี้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ ฯ

ชาติเป็นไฉนและชาตินี้เป็นของใคร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ตั้งปัญหายังไม่ถูก ผู้ใดพึงกล่าวว่า ชาติเป็นไฉน และชาตินี้เป็นของใคร หรือพึงกล่าวว่า ชาติเป็นอย่างอื่น และชาตินี้เป็นของผู้อื่น คำทั้งสองของผู้นั้น มีเนื้อความอย่างเดียวกัน ต่างแต่พยัญชนะเท่านั้น

เมื่อมีทิฐิว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้นความอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมไม่มี

หรือว่าเมื่อมีทิฐิว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ความอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมไม่มี

ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่ข้องแวะส่วนสุดทั้งสองนั้น ดังนี้ว่า เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ ฯ

ภพเป็นไฉนและภพนี้เป็นของใคร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ตั้งปัญหายังไม่ถูก ผู้ใดพึงกล่าวว่า ภพเป็นไฉน และภพนี้เป็นของใคร หรือพึงกล่าวว่า ภพเป็นอย่างอื่น และภพนี้เป็นของผู้อื่น คำทั้งสองของผู้นั้น มีเนื้อความอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น

เมื่อมีทิฐิว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้นความอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมไม่มี

หรือเมื่อมีทิฐิว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ความอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมไม่มี

ตถาคตย่อมแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่ข้องแวะส่วนสุดทั้งสองนั้น ดังนี้ว่า

เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ...
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน...
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา...
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา...
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ...
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ...
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป...
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ...

สังขารเป็นไฉนและสังขารนี้เป็นของใคร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ตั้งปัญหายังไม่ถูก ผู้ใดพึงกล่าวว่า สังขารเป็นไฉน และสังขารนี้เป็นของใคร หรือพึงกล่าวว่า สังขารเป็นอย่างอื่น และสังขารนี้เป็นของผู้อื่น คำทั้งสองของผู้นั้น มีเนื้อความอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น

เมื่อมีทิฐิว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ความอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมไม่มี

หรือเมื่อมีทิฐิว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ความอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมไม่มี

ตถาคตย่อมแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่ข้องแวะส่วนสุดทั้งสองนั้น เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ฯ

ทิฐิไม่ว่าชนิดใดชนิดหนึ่งที่เป็นข้าศึก อันบุคคลเสพผิด ส่ายหาไปว่า

ชราและมรณะเป็นไฉน และชรามรณะนี้เป็นของใคร หรือว่าชรามรณะเป็นอย่างอื่น และชรามรณะเป็นของผู้อื่น

ชาติเป็นไฉน และชาตินี้เป็นของใคร หรือว่าชาติเป็นอย่างอื่น และชาตินี้เป็นของผู้อื่น

ภพเป็นไฉน และภพนี้เป็นของใคร หรือว่าภพเป็นอย่างอื่น และภพนี้เป็นของผู้อื่น

อุปาทานเป็นไฉน และอุปาทานรนี้เป็นของใคร หรือว่าอุปาทานเป็นอย่างอื่น และอุปาทานนี้เป็นของผู้อื่น

ตัณหาเป็นไฉน และตัณหานี้เป็นของใคร หรือว่าตัณหาเป็นอย่างอื่น และตัณหานี้เป็นของผู้อื่น

เวทนาเป็นไฉน และเวทนานี้เป็นของใคร หรือว่าเวทนาเป็นอย่างอื่น และเวทนานี้เป็นของผู้อื่น

ผัสสะเป็นไฉน และผัสสะนี้เป็นของใคร หรือว่าผัสสะเป็นอย่างอื่น และผัสสะนี้เป็นของผู้อื่น

สฬายตนะเป็นไฉน และสฬายตนะเนี้เป็นของใคร หรือว่าสฬายตนะเเป็นอย่างอื่น และสฬายตนะนี้เป็นของผู้อื่น

นามรูปเป็นไฉน และนามรูปนี้เป็นของใคร หรือว่านามรูปเป็นอย่างอื่น และนามรูปนี้เป็นของผู้อื่น

วิญญาณเป็นไฉน และวิญญาณนี้เป็นของใคร หรือว่าวิญญาณเป็นอย่างอื่น และวิญญาณนี้เป็นของผู้อื่น

สังขารเป็นไฉน และสังขารนี้เป็นของใคร หรือว่าสังขารเป็นอย่างอื่น และสังขารนี้เป็นของผู้อื่น

ว่าชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง

ทิฐิเหล่านั้นทั้งสิ้น อันอริยสาวกนั้นละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะอวิชชาดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ ฯลฯ


(๓) ธรรมาธิบายสภาพความไม่มีผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ

ชราและมรณะ (ความเสื่อมและความสลาย)

ตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตนทำเองทั้งผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ก็ไม่ใช่ แต่ว่าเพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ

ชาติ

ตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตนทำเอง ทั้งผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ชาติบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ก็ไม่ใช่ แต่เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ

ภพ

ตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตนทำเอง ทั้งผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ภพบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ก็ไม่ใช่ แต่เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ

อุปาทาน

ตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตนทำเอง ทั้งผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ อุปาทานบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ก็ไม่ใช่ แต่เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน

ตัณหา

ตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตนทำเอง ทั้งผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ตัณหาบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ก็ไม่ใช่ แต่เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา

เวทนา

ตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตนทำเอง ทั้งผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ เวทนาบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ก็ไม่ใช่ แต่เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา

ผัสสะ

ตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตนทำเอง ทั้งผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ผัสสะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ก็ไม่ใช่ แต่เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ

สฬายตนะ

ตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตนทำเอง ทั้งผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ สฬายตนะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ก็ไม่ใช่ แต่เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ

ก็สฬายตนะเป็นไฉน อายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เรียกว่าสฬายตนะ

นามรูป

ตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตนทำเองทั้งผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ นามรูปบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ ก็ไม่ใช่ แต่เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป

วิญญาณ

ตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตนทำเองทั้งผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ วิญญาณบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ ก็ไม่ใช่ แต่เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ


ธรรมาธิบายเหตุปัจจัยการเสวยวิบากกรรมในปัจจุบันและอนาคต

(๒๖) ในกรรมภพก่อน ความหลงเป็นอวิชชา กรรมที่ประมวลมาเป็นสังขาร ความพอใจเป็นตัณหา ความเข้าถึงเป็นอุปาทาน ความคิดอ่านเป็นภพ ธรรม ๕ ประการในกรรมภพก่อนเหล่านี้เป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิในอุปปัตติภพ (ภพปัจจุบัน)  นี้

ปฏิสนธิเป็นวิญญาณ ความก้าวลงเป็นนามรูป ประสาท (ภาวะที่ผ่องใสใจ) เป็นอายตนะ ส่วนที่ถูกต้องเป็นผัสสะ ความเสวยอารมณ์เป็นเวทนาในอุปปัตติภพนี้ ธรรม ๕ ประการในอุปปัตติภพนี้เหล่านี้ เป็นปัจจัยแห่งกรรมที่ทำไว้ในปุเรภพ (ภพก่อน)

ความหลงเป็นอวิชชา กรรมที่ประมวลมาเป็นสังขาร ความพอใจเป็นตัณหา ความเข้าถึงเป็นอุปาทาน ความคิดอ่านเป็นภพ (ย่อมมี) เพราะอายตนะทั้งหลายในภพนี้สุดรอบ ธรรม ๕ ประการในกรรมภพนี้เหล่านี้ เป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิในอนาคต

ปฏิสนธิในอนาคตเป็นวิญญาณ ความก้าวลงเป็นนามรูป ประสาทเป็นอายตนะ ส่วนที่ถูกต้องเป็นผัสสะ ความเสวยอารมณ์เป็นเวทนา ธรรม ๕ ประการในอุปปัตติภพในอนาคตเหล่านี้ เป็นปัจจัยแห่งกรรมที่ทำไว้ในภพนี้

พระโยคาวจร ย่อมรู้ ย่อมเห็น ย่อมทราบชัด ย่อมแทงตลอด ซึ่งปฏิจจสมุปบาทมีสังเขป ๔ กาล ๓ ปฏิสนธิ ๓ เหล่านี้ โดยอาการ ๒๐ ด้วยประการดังนี้

(๒๗) ขยายความ

สังเขป ๔ หมายถึงธรรม ๔ กลุ่ม ได้แก่

(๑) อดีตเหตุ คือ อวิชชาและสังขาร เรียกว่า เหตุสังเขป

(๒) ปัจจุบันผล คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ และเวทนา เรียกว่า ผลสังเขป

(๓) ปัจจุบันเหตุ คือ ตัณหา อุปาทาน และภพ เรียกว่า เหตุสังเขป

(๔) อนาคตผล คือชาติ ชรา มรณะ และโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เรียกว่า ผลสังเขป (ขุ.ป.อ. ๑/๔๗/๒๖๑)

กาล ๓ หมายถึงธรรมที่เป็นไปในกาล ๓ กาล ได้แก่

(๑) อดีตกาล คือ อวิชชาและสังขาร

(๒) ปัจจุบันกาล คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน และภพ

(๓) อนาคตกาล คือ ชาติ ชรา มรณะ และโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส (ขุ.ป.อ. ๑/๔๗/๒๖๑)

สนธิ ๓ หมายถึงขั้วต่อระหว่างสังเขป ๔ มี ๓ ขั้วต่อ ได้แก่

(๑) ขั้วต่อระหว่างอดีตเหตุกับปัจจุบันผล เรียกว่าเหตุผลสนธิ

(๒) ขั้วต่อระหว่างปัจจุบันผลกับปัจจุบันเหตุ เรียกว่าผลเหตุสนธิ

(๓) ขั้วต่อระหว่างปัจจุบันเหตุกับอนาคตผล เรียกว่า เหตุผลสนธิ (ขุ.ป.อ. ๑/๔๗/๒๖ ๑)

อาการ ๒๐ หมายถึงองค์ประกอบแต่ละอย่างดุจกำของล้อที่ต้องกระจายให้เต็มตามช่องแห่งสังเขป ๔ อาการ ๒๐ ประการนี้ จำแนกตามส่วนที่เป็นเหตุและส่วนที่เป็นผลได้ดังนี้ คือ

อดีตเหตุ ๕ ได้แก่ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน และภพ

ปัจจุบันผล ๕ ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ และเวทนา

ปัจจุบันเหตุ ๕ ได้แก่ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน และภพ

อนาคตผล ๕ ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ และเวทนา (ขุ.ป.อ. ๑/๔๗/๒๖๑)

 

 

 

 

อ้างอิง:
(๑) มหานิทานสูตร  พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๕๗-๖๔ หน้า ๕๐-๖๑
(๒) นฬกลาปิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๑๖  ข้อที่ ๒๖๔-๒๖๖ หน้า ๑๐๙-๑๑๑
(๓) ปัจจัยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ข้อที่ ๖๐-๖๓ หน้า ๒๒-๒๔
(๔) ทศพลสูตรที่๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ข้อที่ ๖๔ หน้า ๒๕
(๕) อริยสาวกสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ข้อที่ ๑๗๘-๑๘๒ หน้า ๗๖-๗๗
(๖) พหุธาตุกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ข้อที่ ๒๔๔ หน้า ๑๓๕-๑๓๖
(๗) มหาปทานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ข้อที่ ๓๘-๔๑ หน้า ๒๕-๒๙
(๘) โพธิกถา ปฏิจจสมุปบาทมนสิการ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑-๓ หน้า ๑-๕
(๙) ติตถสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๐๑ หน้า
(๑๐) สมาธิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๒๗-๒๙ หน้า ๑๓-๑๔
(๑๑) อัสสุตวตาสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๑๖  ข้อที่ ๒๓๓-๒๓๔ หน้า ๙๔
(๑๒) โลกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๑๘  ข้อที่ ๑๕๖-๑๕๗ หน้า ๘๙-๙๐
(๑๓) ภูมิชสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ข้อที่ ๗๙-๘๔ หน้า ๓๔-๓๗
     อัญญติตถิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๗๑-๗๘ หน้า ๓๐-๓๔
(๑๔) พาลปัณฑิตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๕๗ หน้า ๒๑
(๑๕) อัสสุตวตาสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๑๖  ข้อที่ ๒๓๗ หน้า ๙๕-๙๖
(๑๖) อเจลกัสสปสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๕๐ หน้า ๑๘
(๑๗) ติมพรุกขสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๕๕ หน้า ๒๐
(๑๘) นิพเพธิกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๓๔ หน้า ๓๖๘
(๑๙) อัญญตรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๑๗๐ หน้า ๗๔
(๒๐) ชาณุโสณิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๑๗๓ หน้า ๗๕
(๒๑) โลกายติกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๑๗๖ หน้า ๗๕-๗๖
(๒๒) นตุมหากํสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๔๓-๑๔๔ หน้า ๖๒-๖๓
(๒๓) ฉันนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๒๓๔ หน้า ๑๒๙
(๒๔) พรหมชาลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๖๔-๙๐ หน้า ๔๐-๔๓
(๒๕) อวิชชาปัจจยสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖  ข้อที่ ๑๒๘-๑๓๖ หน้า ๕๘-๖๓
วิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๕, ๑๘ หน้า ๒, ๔
(๒๖) ธัมมัฏฐิติญาณนิทเทส ญาณกถา ปฏิสัมภิทามรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๑  ข้อที่ ๙๘
(๒๗) โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๗๔
  
 
 

คำต่อไป