Main navigation
ปฐวีธาตุ
Share:

ปฐวีธาตุ หรือ ธาตุดิน เป็น ๑ ใน มหาภูตรูป ๔

(๑) ปฐวีธาตุเป็นไฉน คือ

ปฐวีธาตุภายในกายก็มี ปฐมวีธาตุที่อยู่ภายนอกกายก็มี

ในปฐวีธาตุ ๒ อย่างนั้น ปฐวีธาตุภายใน เป็นไฉน

ปฐวีธาตุที่เป็นไปภายในคือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง เป็นของหยาบ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า

สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อยู่ภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบ นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุที่อยู่ภายใน

ปฐวีธาตุภายนอก เป็นไฉน

ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนรูปข้างนอก ได้แก่ เหล็ก โลหะ ดีบุกขาว ดีบุกดำเงิน แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงินตราทอง แก้วมณีแดง แก้วมณีลาย หญ้า ท่อนไม้ กรวด กระเบื้อง แผ่นดิน แผ่นหิน ภูเขา หรือ ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนรูปข้างนอก แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่าปฐวีธาตุภายนอก

ปฐวีธาตุภายใน ปฐวีธาตุภายนอก ประมวลทั้ง ๒ อย่างนั้นเข้าเป็นหมวดเดียวกัน นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุ


คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกแห่งปฐวีธาตุ

(๒) ผู้ใดย่อมชื่นชมปฐวีธาตุ ผู้นั้นชื่อว่าชื่นชมทุกข์ ผู้ใดชื่นชมทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่หลุดพ้นจากทุกข์

ผู้ใดไม่ชื่นชมปฐวีธาตุ ผู้นั้นชื่อว่าไม่ชื่นชมทุกข์ ผู้ใดไม่ชื่นชมทุกข์ เรากล่าวว่าผู้นั้นหลุดพ้นจากทุกข์

(๓) ความเกิด ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่งปฐวีธาตุ นั่นเป็นความเกิดแห่งทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชรามรณะ

ก็ความดับ ความสงบ ความสูญสิ้นแห่งปฐวีธาตุ นั่นเป็นความดับแห่งทุกข์ เป็นความสงบแห่งโรค เป็นความสูญสิ้นแห่งชรามรณะ

(๔) ถ้าปฐวีธาตุนี้จักมีทุกข์โดยส่วนเดียว อันทุกข์ติดตามถึง อันทุกข์หยั่งลงถึง อันสุขไม่หยั่งลงถึงแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงยินดีในปฐวีธาตุ แต่เพราะปฐวีธาตุ อันสุขติดตามถึง อันสุขหยั่งลงถึง อันทุกข์ไม่หยั่งลงถึง ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงยินดีในปฐวีธาตุ

ปฐวีธาตุนี้จักมีสุขโดยส่วนเดียว อันสุขติดตามถึง อันสุขหยั่งลงถึง อันทุกข์ไม่หยั่งลงถึงแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงเบื่อหน่ายจากปฐวีธาตุ แต่เพราะปฐวีธาตุมีทุกข์ อันทุกข์ติดตามถึง อันทุกข์หยั่งลงถึง อันสุขไม่หยั่งลงถึง ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงเบื่อหน่ายจากปฐวีธาตุ

(๕) สุขโสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยปฐวีธาตุ นี้เป็นความแช่มชื่นแห่งปฐวีธาตุ

ปฐวีธาตุเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งปฐวีธาตุ

การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในปฐวีธาตุ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งปฐวีธาตุ

(๖) ถ้าว่าความแช่มชื่นแห่งปฐวีธาตุไม่ได้มีแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงยินดีในปฐวีธาตุ ก็เพราะความแช่มชื่นแห่งปฐวีธาตุมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงยินดีในปฐวีธาตุ

ถ้าว่าโทษแห่งปฐวีธาตุไม่ได้มีแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ

ถ้าว่าเครื่องสลัดออกแห่งปฐวีธาตุไม่ได้มีแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงสลัด (ตน) ออกจากปฐวีธาตุ ก็เพราะเครื่องสลัดออกแห่งปฐวีธาตุมีอยู่แล ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงสลัด (ตน) ออกจากปฐวีธาตุ


สมถภาวนาเสมอด้วยแผ่นดิน

(๗) เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตของเธอได้

เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้างมูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดิน ฉันนั้น

เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้


วิปัสสนาภาวนาปฐวีธาตุ

รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นภายใน อาศัยตนเป็นของหยาบ มีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน เป็นของหยาบ มีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าปฐวีธาตุเป็นภายใน

ก็ปฐวีธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด ปฐวีธาตุนั้นเป็นปฐวีธาตุเหมือนกัน

บัณฑิตพึงเห็นปฐวีธาตุนั้น นั่นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา

บัณฑิตครั้นเห็นปฐวีธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ ย่อมยังจิตให้คลายกำหนัดในปฐวีธาตุ

สมัยที่ปฐวีธาตุที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะมีได้ ในสมัยนั้น ปฐวีธาตุอันเป็นภายนอกจะเป็นของอันตรธานไป ความที่ปฐวีธาตุอันเป็นไปภายนอกซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยง ปรากฏได้ สิ้นไปเป็นธรรมดา ปรากฏได้ เสื่อมไปเป็นธรรมดา ปรากฏได้ แปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักเกิดขึ้นได้

ก็ไฉนความที่กายอันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่เกิดขึ้นเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถของตัณหามานะและทิฏฐิในปฐวีธาตุ อันเป็นภายในนั้นจะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย

 

 
อ้างอิง :
(๑) ธาตุวิภังค์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๕ ข้อที่ ๑๑๘
(๒) อภินันทนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๑๒-๔๑๓
(๓) อุปปาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๑๔-๔๑๕
(๔) ทุกขสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๑๐-๔๑๑
(๕) ปุพพสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๐๔
(๖) โนเจทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๐๘-๔๐๙
(๗)​ มหาราหุโลวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๑๓ ข้อที่ ๑๔๐
(๘)​ มหาหัตถิปโทปมสูตร วาโยธาตุ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๓๔๕ หน้า ๒๕๐-๒๕๑
  
 
พระสูตรหลักเกี่ยวกับเรื่องธาตุ ธาตุวิภังคสูตร มหาราหุโลวาทสูตร  มหาหัตถิปโทปมสูตร

คำต่อไป