Main navigation
สัพพโลเกอนภิรตสัญญา
Share:

(๑) สัพพโลเกอนภิรตสัญญา คือ การละอุบายและอุปาทาน ไม่ถือมั่น  

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละอุบายและอุปาทานในโลก อันเป็นเหตุตั้งมั่น ถือมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิต ย่อมงดเว้น ไม่ถือมั่น นี้เรียกว่าสัพพโลเกอนภิรตสัญญา

(๒) สัพพโลเกอนภิรตสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มาก ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร

เมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยสัพพโลเกอนภิรตสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากความวิจิตรแห่งโลก ไม่ยื่นไปรับความวิจิตรแห่งโลก อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ เปรียบเหมือนขนไก่หรือเส้นเอ็นที่เขาใส่ลงในไฟ ย่อมหดงอเข้าหากัน ไม่คลี่ออก ฉะนั้น

ถ้าเมื่อภิกษุมีใจไม่อบรมแล้วด้วยสัพพโลเกอนภิรตสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมไหลไปในความวิจิตรแห่งโลก ไม่ยื่นไปรับความวิจิตรแห่งโลก หรือความเป็นของไม่ปฏิกูลตั้งอยู่ไซร้ ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า สัพพโลเกอนภิรตสัญญาอันเราไม่เจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเราก็ไม่มี ผลแห่งภาวนาของเราไม่ถึงที่ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึงในสัพพโลเกอนภิรตสัญญานั้น

เมื่อภิกษุมีใจอบรมแล้วด้วยสัพพโลเกอนภิรตสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับ จากจากความวิจิตรแห่งโลก ไม่ยื่นไปรับความวิจิตรแห่งโลก อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้ ภิกษุพึงทราบดังนี้ว่า สัพพโลเกอนภิรตสัญญาเราเจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเรามีอยู่ ผลแห่งภาวนาของเราถึงที่แล้ว เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้รู้ทั่วถึงในสัพพโลเกอนภิรตสัญญานั้น

ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า สัพพโลเกอนภิรตสัญญาอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้

 
อ้างอิง:
(๑) อาพาธสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๖๐ หน้า ๑๐๑
(๒) สัญญาสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๔๖ หน้า ๔๗

 

คำต่อไป