Main navigation
โสดาบัน
Share:

โสดาบัน คือ อริยบุคคล บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์ ๓ ชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล บุคคลใดละสังโยชน์ ๓ ได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นโสดาบัน มีอันไม่ไปเกิดในอบายเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง จะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า

อริยบุคคลระดับโสดาบันยังสามารถแบ่งออกเป็น 3 จำพวกคือ เอกพีชี โกลังโกละ และสัตตักขัตุปรมะ

(๒)  เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ ๓ นี้ คือ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
อนุสัย ๒ นี้ คือ ทิฐิอนุสัย วิจิกิจฉาอนุสัย ย่อมสิ้นไปด้วยโสดาปัตติมรรค

อริยะ - โสดาบัน

(๓)  โสตาปัตติยังคะ (องค์ธรรมเครื่องบรรลุโสดา) คือ

-  สัปปุริสสังเสวะ การคบสัตบุรุษ 
-  สัทธรรมสวนะ คือ ฟังคำสั่งสอนของท่าน
-  โยนิโสมนสิการ คือ กระทำไว้ในใจโดยอุบายที่ชอบ
-  ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ คือ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

โสดาบัน คือ ผู้ซึ่งประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘

(๔) องค์แห่งพระโสดาบัน ๔ อย่าง              

๑. เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้นในพระพุทธเจ้าว่าพระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นนายสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม ฯ

๒. เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้นในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ฯ

๓. เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้นในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบ คือ คู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นั่นคือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรรับของบูชา เป็นผู้ควรรับของต้อนรับ เป็นผู้ควรรับของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นบุญเขตของชาวโลก ไม่มีเขตอื่นยิ่งกว่า

๔. ประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิ ไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ

(๕)  ผู้ใดรู้เห็นธรรมเหล่านี้อย่างนี้ เรากล่าวผู้นี้ว่า เป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า

อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา 

อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา 

วิญญาณ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา

สัมผัส คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา

เวทนา คือ จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา

สัญญา คือ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธรรมสัญญาไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา

เจตนา คือ รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธรรมสัญเจตนา ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา

ตัณหา คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหาโผฏธัพพตัณหา ธรรมตัณหา ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา

ธาตุ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุไม่เที่ยงไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา

ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา

(๖)  เพราะเหตุที่พระอริยสาวกย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง นี้เรียกว่า พระอริยสาวกผู้โสดาบัน มีอันไม่ตก ต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมีอันจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า

(๗) อานิสงส์ในการกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ๖ ประการนี้ คือ

บุคคลย่อมเป็นผู้แน่นอนในพระสัทธรรม ๑
ย่อมเป็นผู้มีความไม่เสื่อมเป็นธรรมดา ๑
เขาผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์แล้วย่อมไม่มีทุกข์ ๑
เป็นผู้ประกอบด้วยอสาธารณญาณ ๑
เขาเห็นเหตุแล้วด้วยดี ๑
และเห็นธรรมที่เกิดขึ้นแต่เหตุด้วยดี ๑

อานิสงส์ในการกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ๖ ประการนี้แล

 

 

อ้างอิง:
(๑) เอกกนิทเทส พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ ๓๖ ข้อที่ ๔๗-๔๙ หน้า ๑๑๑
(๒) ยุคนัทธวรรค ยุคนัทธกถา พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๕๓๕ หน้า ๒๔๗
(๓) สาริปุตตสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๔๒๗-๑๔๓๓ หน้า ๓๔๘-๓๔๙
(๔) สังคีติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ ข้อที่ ๒๔๑ หน้า ๑๘๔
(๕) โอกกันตสังยุต พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๔๖๙-๔๗๘ หน้า ๒๔๖-๒๕๐
(๖) โสตาปันนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๒๙๖ หน้า ๑๕๓
(๗) อานิสังสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๖๘ หน้า ๓๙๔
 
 

คำต่อไป