Main navigation
สักกายะ
Share:

(๓)  ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายะ

อุปาทานขันธ์ ๕ คือรูปูปาทานขันธ์ ๑ เวทนูปาทานขันธ์ ๑ สัญญูปาทานขันธ์ ๑ สังขารูปาทานขันธ์ ๑ วิญญาณูปาทานขันธ์ ๑ อุปาทาน ขันธ์ ๕ นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายะ

(๑) สักกายทิฏฐิ เป็นหนึ่งในสังโยชน์ ๓ ที่โสดาปัตติมรรคประหาร

สักกายทิฏฐิ เป็นไฉน

ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไร้การศึกษา ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้ฝึกฝนในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้เห็นสัตบุรุษไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกฝนในธรรมของสัตบุรุษ

ย่อมเห็นรูปเป็นตน หรือเห็นตนมีรูป เห็นรูปในตน เห็นตนในรูป

ย่อมเห็นเวทนาเป็นตน หรือเห็นตนมีเวทนา เห็นเวทนาในตน เห็นตนในเวทนา

ย่อมเห็นสัญญาเป็นตน หรือเห็นตนมีสัญญา เห็นสัญญาในตน เห็นตนในสัญญา

ย่อมเห็นสังขารเป็นตน หรือเห็นตนมีสังขาร เห็นสังขารในตน เห็นตนในสังขาร

ย่อมเห็นวิญญาณเป็นตน หรือเห็นตนมีวิญญาณ เห็นวิญญาณในตน เห็นตนในวิญญาณ

นี้เรียกว่า สักกายทิฏฐิ

(๓)  ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายสมุทัย

ตัณหาอันทำให้เกิดในภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดยินดี  เพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหานี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายสมุทัย

ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธ

ความดับด้วยความคลายกำหนัดไม่มีเหลือ ความสละ ความสละคืน ความปล่อย ความไม่พัวพันด้วยตัณหานั้น นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธ. 

ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา

อริยะมรรคมีองค์ ๘ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑  วาจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑ ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑ นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา

(๒) ปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงสักกายสมุทัย - การตามเห็นอันจะยังสัตว์ให้ถึงทุกขสมุทัย (ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์)

ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีรูป ๑ ย่อมเห็นรูปในตน ๑ ย่อมเห็นตนในรูป ๑

ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีเวทนา ๑ ย่อมเห็นเวทนาในตน ๑ ย่อมเห็นตนในเวทนา ๑ 

ย่อมเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีสัญญา ๑ ย่อมเห็นสัญญาในตน ๑ ย่อมเห็นตนในสัญญา ๑ 

ย่อมเห็นสังขารโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีสังขาร ๑ ย่อมเห็นสังขารในตน ๑ ย่อมเห็นตนในสังขาร ๑

ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑ ย่อมเห็นวิญญาณในตน ๑ ย่อมเห็นตนในวิญญาณ

ปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงสักกายนิโรธ - การพิจารณาเห็นอันจะยังสัตว์ให้ถึงทุกขนิโรธ

ย่อมไม่ตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนมีรูป ๑ ย่อมไม่เห็นรูปในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในรูป ๑

ไม่ตามเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่ตามเห็นตนมีเวทนา ๑ ย่อมไม่ตามเห็นเวทนาในตน ๑ ย่อมไม่ตามเห็นตนในเวทนา ๑

ไม่ตามเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่ตามเห็นตนมีสัญญา ๑ ย่อมไม่ตามเห็นสัญญาในตน ๑ ย่อมไม่ตามเห็นตนในสัญญา ๑

ไม่ตามเห็นสังขารโดยความเป็นตน๑ ย่อมไม่ตามเห็นตนมีสังขาร ๑ ย่อมไม่ตามเห็นสังขารในตน ๑ ย่อมไม่ตามเห็นตนในสังขาร ๑

ไม่ตามเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ ไม่ตามเห็นตนมีวิญญาณ ๑ ไม่ตามเห็นวิญญาณในตน ๑ ไม่ตามเห็นตนในวิญญาณ ๑

(๔)  ภิกษุผู้ยินดีสักกายะ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชอบการงาน ยินดีการงาน ขวนขวายความชอบการงาน ชอบการคุย... ชอบความหลับ... ชอบความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ... ชอบความคลุกคลีด้วยคฤหัสถ์... ชอบธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ยินดีธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ขวนขวายความชอบธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ภิกษุย่อมสำเร็จการอยู่ โดยประการที่เมื่อเธอสำเร็จการอยู่ ตายแล้วย่อมเดือดร้อนอย่างนี้ ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้ยินดีสักกายะ ไม่ละสักกายะเพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ


 

อ้างอิง: 
(๑) ปิฏฐิทุกะ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๔ ข้อที่ ๘๑๐-๘๑๑ หน้า ๒๘๓
(๒) ปฏิปทาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๑๗ ข้อที่ ๘๙ -๙๐ หน้า ๔๓-๔๔
(๓) จูฬเวทัลลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อ ๕๐๙ หน้า ๓๘๙ และ สักกายสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อ ๒๘๕-๒๘๘ หน้า ๑๕๑
(๔) อนุตัปปิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๘๖ หน้า ๒๗๒-๒๗๓

คำต่อไป