Main navigation
สังฆานุสสติ
Share:

(๑)  สังฆานุสสติ เป็น ๑ ในอนุสสติ ๖

(๒)  บุคคลพึงระลึกถึงพระสงฆ์ว่าพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ผู้ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบ นี้คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า 

เมื่อเธอหมั่นนึกถึงพระสงฆ์อยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

(๓) สมัยใดอริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง

อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระสงฆ์ ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ

อริยสาวกผู้มีกายสงบย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญสังฆานุสสติ

(๔) อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรง เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก คำว่าความอยากนี้ เป็นชื่อของเบจญกามคุณ สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำสังฆานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้

(๕) อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรง เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก คำว่าความอยากนี้ เป็นชื่อของเบจญกามคุณ อริยสาวกนั้น ย่อมมีใจเสมอด้วยอากาศ ไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน โดยประการทั้งปวงอยู่

สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำสังฆานุสสติให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดา

 

อ้างอิง:
(๑)  อนุสสติสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที ๒๘๐ หน้า ๒๖๓
(๒)  อุโปสถสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐  ข้อที่ ๕๑๐ หน้า ๑๙๘
(๓)  มหานามสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที ๒๘๑ หน้า ๒๖๔
(๔)  อนุสสติฏฐานสูตร  พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๙๖ หน้า ๒๘๗-๒๘๘
(๕)  กัจจานสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๙๗ หน้า ๒๘๘-๒๙๐

 

คำต่อไป