Main navigation
สมาธิ
Share:

(๑) เธอทั้งหลายจงมีปัญญารักษาตน มีสติเจริญสมาธิหาประมาณมิได้เถิด เมื่อเธอมีปัญญารักษาตน มีสติ เจริญสมาธิหาประมาณมิได้อยู่ ญาณ ๕ อย่าง ย่อมเกิดขึ้นเฉพาะตน คือ

ญาณย่อมเกิดขึ้นเฉพาะตนว่า

สมาธินี้มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากต่อไป ๑

สมาธินี้เป็นอริยะ ปราศจากอามิส ๑

สมาธินี้อันคนเลวเสพไม่ได้ ๑

สมาธินี้ละเอียด ประณีต ได้ด้วยความสงบระงับ บรรลุได้ด้วยความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น และมิใช่บรรลุได้ด้วยการข่มธรรมที่เป็นข้าศึก ห้ามกิเลสด้วยจิตอันเป็นสสังขาร ๑

ก็เราย่อมมีสติเข้าสมาธินี้ได้ มีสติออกจากสมาธินี้ได้ ๑

ญาณ ๕ อย่างนี้แล ย่อมเกิดขึ้นเฉพาะตน

(๒) สมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญา

เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง

ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงอย่างไร

ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและความดับแห่งรูป
ความเกิดและความดับแห่งเวทนา
ความเกิดและความดับแห่งสัญญา 
ความเกิดและความดับแห่งสังขาร 
ความเกิดและความดับแห่งวิญญาณ

ปัจจัยให้เกิดสมาธิและอานิสงส์ของสมาธิ

(๓) สมาธิมีสุขเป็นที่อิงอาศัย ยถาภูตญาณทัสสนะมีสมาธิเป็นที่อิงอาศัย

(๔) สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

(๕) สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์

(๖) บุคคลผู้มีสุข ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอจิตของเราจงตั้งมั่นเถิด ข้อที่จิตของบุคคลผู้มีสุขตั้งมั่นนี้ เป็นธรรมดา

บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงรู้จงเห็นตามเป็นจริงเถิด ข้อที่บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วรู้เห็นตามเป็นจริงนี้เป็นธรรมดา

(๗)  ก็ธรรมอย่างไรเป็นสมาธิ ธรรมเหล่าใดเป็นนิมิตของสมาธิ ธรรมเหล่าใดเป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ การทำให้สมาธิเจริญเป็นอย่างไร

ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว เป็นสมาธิ

สติปัฏฐาน ๔ เป็นนิมิตของสมาธิ

สัมมัปปธาน ๔ เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ

ความเสพคุ้น ความเจริญ ความทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้นแหละ เป็นการทำให้สมาธิเจริญ

(๘)  สมาธิภาวนาเป็นไปเพื่อคุณ ๔ ประการ

สมาธิภาวนา ๔ ประการ คือสมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วเป็นไปเพื่อ

๑.  เพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันมีอยู่

๒.  เพื่อได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะมีอยู่  

๓.  เพื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่

๔.  เพื่อความสิ้นอาสวะมีอยู่ 

สมาธิภาวนาเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่

บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่

มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข

บรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา ได้มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ 

สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

สมาธิภาวนาเพื่อได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มนสิการอาโลกสัญญา อธิษฐานทิวาสัญญาว่า กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือน กลางคืน มีใจอันสงัด ปราศจากเครื่องรัดรึง อบรมจิตให้มีความสว่างอยู่

สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ 

สมาธิภาวนาเพื่อสติสัมปชัญญะ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
รู้แจ้งเวทนาที่เกิดขึ้น
รู้แจ้งเวทนาที่ตั้งอยู่
รู้แจ้งเวทนาที่ดับไป

รู้แจ้งสัญญาที่เกิดขึ้น
รู้แจ้งสัญญาที่ตั้งอยู่
รู้แจ้งสัญญาที่ดับไป

รู้แจ้งวิตกที่เกิดขึ้น
รู้แจ้งวิตกที่ตั้งอยู่
รู้แจ้งวิตกที่ดับไป

สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ

สมาธิภาวนาเพื่อความสิ้นอาสวะ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีปรกติพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ว่า

รูปเป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้
ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้

เวทนาเป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นดังนี้
ความดับแห่งเวทนาเป็นดังนี้

สัญญาเป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นดังนี้
ความดับแห่งสัญญาเป็นดังนี้

สังขารเป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นดังนี้
ความดับแห่งสังขารเป็นดังนี้

วิญญาณเป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้
ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้

สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ 

(๙) ความที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ (มีอารมณ์เดียว) ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งเนกขัมมะ ชื่อว่าสมาธิ ญาณย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งสมาธินั้น อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไปด้วยญาณนั้น สมถะมีก่อน ญาณมีภายหลัง ด้วยประการฉะนี้ ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายย่อมมีได้ด้วยญาณนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการตัดขาดอาสวะเพราะความบริสุทธิ์แห่งจิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน ชื่อว่าอานันตริกสมาธิญาณ

(๑๐,๑๑)  การเจริญสัมมาสมาธิ

 ก็การเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง

เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนานหรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ฉลาด จะพึงใส่จุรณสีตัวลงในภาชนะสำริดแล้ว พรมด้วยน้ำหมักไว้ ตกเวลาเย็นก้อนจุรณสีตัวซึ่งซึมไปจับติดทั่วทั้งหมด ย่อมไม่กระจายออกฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นแล ทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง

นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐข้อที่ ๑

บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง

เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกที่มีน้ำปั่นป่วน ไม่มีทางไหลมาได้ ทั้งในด้านตะวันออก ด้านใต้ ด้านตะวันตก ด้านเหนือ และฝนก็ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้ว จะพึงทำห้วงน้ำนั้นแหละให้ชุ่มชื่น เอิบอาบ ซาบซึมด้วยน้ำเย็น ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งห้วงน้ำนั้นทั้งหมด ที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นนั่นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติ และสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง

นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๒

มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่สุขอันปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง

เปรียบเหมือนในกออุบล กอบัวหลวง หรือกอบัวขาว ดอกอุบล ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าซึ่งเกิดในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ อันน้ำหล่อเลี้ยง ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มชื่น เอิบอาบ ซาบซึมด้วยน้ำเย็นตลอดยอด ตลอดเหง้า ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งดอกอุบล ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ทั่วทุกส่วนที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง

นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๓

บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง

เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงนั่งคลุมตัวตลอดศีรษะด้วยผ้าขาว ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายทุก ๆ ส่วนของเขาที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้อง ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง

นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๔

นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมถือด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ใคร่ครวญด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ซึ่ง ปัจจเวกขณนิมิตด้วยปัญญา

เปรียบเหมือนคนอื่นพึงเห็นคนอื่น คนยืนพึงเห็นคนนั่ง หรือคนนั่งพึงเห็นคนนอนฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอย่อมถือด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ใคร่ครวญด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ซึ่งปัจจเวกขณนิมิตด้วยปัญญา

นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๕

เมื่อสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ภิกษุจะโน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใด ๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่โดยแน่นอน

เปรียบเหมือนหม้อน้ำตั้งอยู่บนที่รอง เต็มด้วยน้ำเสมอขอบปากพอที่กาจะดื่มได้ บุรุษผู้มีกำลัง พึงเอียงหม้อน้ำนั้นไปรอบ ๆ น้ำก็พึงกระฉอกออกมาได้

เปรียบเหมือนสระน้ำที่ภูมิภาคอันราบเรียบ กว้างสี่เหลี่ยม กั้นด้วยทำนบ เต็มด้วยน้ำเสมอขอบปากพอที่กาจะดื่มได้ บุรุษผู้มีกำลังพึงเปิดทำนบสระนั้นทุก ๆ ด้าน น้ำก็พึงไหลออกมาได้

เปรียบเหมือนรถม้าที่เทียมแล้วจอดอยู่ทางใหญ่ ๔ แยก มีพื้นราบเรียบ มีประตักวางไว้ข้างบน คนฝึกม้าผู้ขยันชำนาญในการฝึกขึ้นขี่รถนั้นแล้ว ถือเชือกด้วยมือซ้าย ถือประตักด้วยมือขวา พึงขับรถให้เดินหน้าบ้าง ให้ถอยหลังบ้าง ได้ตามต้องการ

(๑๑, ๑๖) ผู้มีสมาธิ พึงหวังได้ซึ่งคุณวิเศษ

ภิกษุมีสมาธิอันสงบ มีสมาธิอันประณีต มีสมาธิที่ได้ด้วยความสงบ มีสมาธิที่ถึงความเป็นผู้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง

ถ้าเธอมุ่งหวังอยู่ว่า เราจักแสดงฤทธิ์ได้หลาย ๆ อย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ จักใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่

ถ้าเธอมุ่งหวังอยู่ว่า เราจักฟังเสียงสองชนิด คือ เสียงทิพและเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพโสตอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่

ถ้าเธอมุ่งหวังอยู่ว่า เราจักกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจว่า จิตมีราคะก็จักรู้ว่า จิตมีราคะ ฯลฯ หรือจิตยังไม่หลุดพ้นก็จักรู้ว่า จิตยังไม่หลุดพ้น เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่

ถ้าเธอมุ่งหวังอยู่ว่า เราจักระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ จักระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่

ถ้าเธอมุ่งหวังอยู่ว่า เราจักเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ ฯลฯ จักรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่

ถ้าเธอมุ่งหวังอยู่ว่า เราจักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่

ภิกษุไม่มีสมาธิอันสงบ ไม่มีสมาธิอันประณีต ไม่มีสมาธิที่ได้ด้วยความสงบ ไม่มีสมาธิที่ถึงความเป็นผู้มีอารมณ์เป็นหนึ่งย่อมทำไม่ได้ ไม่เป็นฐานนะที่จะมีได้

(๑๒)  บริขารของสมาธิ ๗ อย่าง คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ)
๒. สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
๔. สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีวิตชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)

(๑๓) ฉลาดในสมาธิ ย่อมยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้

ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ย่อมยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต

ธรรม ๗ ประการ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

เป็นผู้ฉลาดในสมาธิ ๑
ฉลาดในการเข้าสมาธิ ๑
ฉลาดในการตั้งอยู่แห่งสมาธิ ๑
ฉลาดในการออกแห่งสมาธิ ๑
ฉลาดในความพร้อมมูลแห่งสมาธิ ๑
ฉลาดรู้ในอารมณ์แห่งสมาธิ ๑
ฉลาดในอภินิหารแห่งสมาธิ ๑

สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต

(๑๔) ฉลาดในสมาธิ ย่อมทำลายอวิชชาได

ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ พึงทำลายขุนเขาหิมวันต์ได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงอวิชชาอันลามก คือ

เป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิ ๑
เป็นผู้ฉลาดในการตั้งอยู่แห่งสมาธิ ๑
เป็นผู้ฉลาดในการออกแห่งสมาธิ ๑
เป็นผู้ฉลาดในความพร้อมมูลแห่งสมาธิ ๑
เป็นผู้ฉลาดในอารมณ์แห่งสมาธิ ๑
เป็นผู้ฉลาดในอภินิหารแห่งสมาธิ ๑

(๑๕) ธรรมเครื่องทำความเต็มเปี่ยมแห่งกำลังของสมาธิ

ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อบรรลุพลภาพในสมาธิ คือ 

ย่อมเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิ ๑ 
เป็นผู้ฉลาดในการตั้งอยู่แห่งสมาธิ ๑ 
เป็นผู้ฉลาดในการออกแห่งสมาธิ ๑
เป็นผู้กระทำความเอื้อเฟื้อ (ทำสมาธิโดยเคารพ) ๑ 
เป็นผู้กระทำติดต่อ (ทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ) ๑
เป็นผู้กระทำความสบาย (ทำสมาธิด้วยธรรมเป็นที่สบาย) ๑

(๑๗) สมณพราหมณ์ที่มีสมาธิเป็นสาระ มีสมาธิเป็นสามัญญะ เมื่อไม่ได้สมาธินั้น ย่อมเกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายไม่เสื่อม (จากความเป็นอริยะ) หรือ

ผู้เป็นเลิศในสมาธิ

(๑๘) ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้

เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการเข้าสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการเข้าสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และไม่ฉลาดในการเข้าสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และฉลาดในการเข้าในสมาธิ ๑

ใน ๔​ จำพวกนี้ ผู้ได้ฌานที่ ฉลาดในการตั้งจิตมั่น และ ฉลาดในการเข้าสมาธิ นับเป็นผู้เลิศ 

(๑๙) ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้

เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และไม่ฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิ ๑

ใน ๔​ จำพวกนี้ ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นและ ฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิ นับเป็นผู้เลิศ

(๒๐) ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้

เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการออกจากสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการออกจากสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และไม่ฉลาดในการออกจากสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และฉลาดในการออกจากสมาธิ ๑

ใน ๔​ จำพวกนี้ ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นและ ฉลาดในการออกจากสมาธิ นับเป็นผู้เลิศ

(๒๑) ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้

เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในความเป็นผู้ฉลาดในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในความเป็นผู้ฉลาดในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และไม่ฉลาดในความเป็นผู้ฉลาดในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และฉลาดในความเป็นผู้ฉลาดในสมาธิ ๑

ใน ๔​ จำพวกนี้ ผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นและ ฉลาดในความเป็นผู้ฉลาดในสมาธิ นับเป็นผู้เลิศ

(๒๒) ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้

เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในอารมณ์ในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในอารมณ์ในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และไม่ฉลาดในอารมณ์ในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิและฉลาดในอารมณ์ในสมาธิ ๑

ใน ๔​ จำพวกนี้ ผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นและ ฉลาดในอารมณ์ในสมาธิ นับเป็นผู้เลิศ

(๒๓) ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้

เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในโคจรในสมาธิ๑

บางคนฉลาดในโคจรในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และไม่ฉลาดในโคจรในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิและฉลาดในโคจรในสมาธิ ๑

ใน ๔​ จำพวกนี้ ผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นและ ฉลาดในโคจรในสมาธิ นับเป็นผู้เลิศ

(๒๔) ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้

เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการน้อมจิตไปในสมาธิ๑

บางคนฉลาดในการน้อมจิตไปในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และไม่ฉลาดในการน้อมจิตไปในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิและฉลาดในการน้อมจิตไปในสมาธิ ๑

ใน ๔​ จำพวกนี้ ผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นและ ฉลาดในการน้อมจิตไปในสมาธิ นับเป็นผู้เลิศ

(๒๕) ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้

เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่กระทำความเคารพในสมาธิ ๑

บางคนกระทำความเคารพในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และกระทำความเคารพในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และกระทำความเคารพในสมาธิ ๑

ใน ๔​ จำพวกนี้ ผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นและ กระทำความเคารพในสมาธิ นับเป็นผู้เลิศ

(๒๖) ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้

เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่กระทำความเพียรติดต่อในสมาธิ ๑

บางคนกระทำความเพียรติดต่อในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และกระทำความเพียรติดต่อในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และกระทำความเพียรติดต่อในสมาธิ ๑

ใน ๔​ จำพวกนี้ ผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นและ ทำความเพียรเป็นไปติดต่อในสมาธิ นับเป็นผู้เลิศ

(๒๗) ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้

เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่กระทำความสบายในสมาธิ ๑

บางคนกระทำความสบายในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และกระทำความสบายในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และกระทำความสบายในสมาธิ ๑

ใน ๔​ จำพวกนี้ ผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นและ กระทำความสบายในสมาธิ นับเป็นผู้เลิศ

ผู้ได้ฌานที่ ฉลาดในการเข้าสมาธิ และฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิ นับเป็นผู้เลิศ

ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการเข้าสมาธิ และฉลาดในการออกจากสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศ

ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการเข้าสมาธิและฉลาดในความเป็นผู้ฉลาดในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศ

ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการเข้าสมาธิ และฉลาดในอารมณ์ในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศ

ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการเข้าสมาธิ และฉลาดในโคจรในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศ

ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการเข้าสมาธิ และฉลาดในการน้อมจิตไปในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศ

ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการเข้าสมาธิ และกระทำความเคารพในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศ

ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการเข้าสมาธิ และกระทำความเพียรเป็นไปติดต่อในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศ

ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการเข้าสมาธิ และกระทำความสบายในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศ

ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิ และฉลาดในการออกจากสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศ

ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการออกจากสมาธิ และฉลาดในความเป็นผู้ฉลาดในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศ

ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในความเป็นผู้ฉลาดในสมาธิ และฉลาดในอารมณ์สมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศ

ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในอารมณ์ในสมาธิ และฉลาดในโคจรในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศ

ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในโคจรในสมาธิ และฉลาดในการน้อมจิตไปในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศ

ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการน้อมจิตไปในสมาธิ และกระทำความเคารพในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศ

ผู้ได้ฌานที่กระทำความเคารพในสมาธิ และกระทำความเพียรเป็นไปติดต่อในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศ

ผู้ได้ฌานที่กระทำความเพียรเป็นไปติดต่อในสมาธิ และกระทำความสบายในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศ

(๒๘) ผู้ฉลาดในความตั้งไว้ของสมาธิ

ปุถุชนเจริญสมาธิย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการ ๗ เป็นไฉน

ปุถุชนผู้มีตนอันเว้นแล้วย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งอารมณ์ ๑

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งสมถนิมิต ๑

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งปัคคหนิมิต (ความเพียร) ๑

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งความไม่ฟุ้งซ่าน ๑

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งโอภาส (แสงสว่าง) ๑

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งความร่าเริง ๑

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งอุเบกขา ๑

ปุถุชนเจริญสมาธิ ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการ ๗ เหล่านี้

พระเสขะเจริญสมาธิ ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการ ๘ เป็นไฉน

พระเสขะมีตนอันเว้นแล้วย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งอารมณ์ ๑ 

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งสมถนิมิต ๑ 

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งปัคคหนิมิต ๑ 

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งความไม่ฟุ้งซ่าน ๑ 

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งโอภาส ๑ 

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งความร่าเริง ๑ 

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งอุเบกขา ๑ 

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งความเป็นธรรมอย่างเดียว ๑

พระเสขะผู้เจริญสมาธิ ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการ ๘ เหล่านี้

ท่านผู้ปราศจากราคะเจริญสมาธิ ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการ ๑๐ เป็นไฉน

ท่านผู้ปราศจากราคะมีตนอันเว้นแล้วย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งอารมณ์ ๑ 

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งสมถนิมิต ๑ 

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งปัคคหนิมิต (ความเพียร) ๑ 

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งความไม่ฟุ้งซ่าน ๑ 

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งโอภาส ๑ 

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งความร่าเริง ๑ 

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งอุเบกขา ๑

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งความเป็นธรรมอย่างเดียว ๑

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งญาณ ๑

เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งจิต ๑

ท่านผู้ปราศจากราคะเจริญสมาธิ ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการ ๑๐ เหล่านี้ 

(๒๙) สมาธิภาวนามยญาณ (ปัญญาในการสำรวมแล้วตั้งไว้ด้วยดี)

สมาธิ ๕๕

สมาธิอย่างหนึ่ง คือ
เอกัคคตาจิต

สมาธิ ๒ คือ
โลกิยสมาธิ ๑
โลกุตรสมาธิ ๑

สมาธิ ๓ คือ
สมาธิมีวิตกและวิจาร ๑
สมาธิไม่มีวิตก มีแต่วิจาร ๑
สมาธิไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ๑

สมาธิ ๔ คือ
สมาธิมีส่วนเสื่อม ๑
สมาธิเป็นส่วนตั้งอยู่ ๑
สมาธิเป็นส่วนวิเศษ ๑
สมาธิเป็นส่วนชำแรกกิเลส ๑

สมาธิ ๕ คือ
สมาธิมีปีติแผ่ไป ๑
สมาธิมีสุขแผ่ไป ๑
สมาธิมีจิตแผ่ไป ๑
สมาธิมีแสงสว่างแผ่ไป ๑
สมาธิมีการพิจารณาเป็นนิมิต ๑

สมาธิ ๖ คือ
สมาธิคือเอกัคคตาจิต ไม่ฟุ้งซ่านด้วยสามารถ
พุทธานุสสติ ๑
ธรรมานุสสติ ๑
สังฆานุสสติ ๑
สีลานุสสติ ๑
จาคานุสสติ ๑
เทวตานุสสติ ๑

สมาธิ ๗ คือ
ความเป็นผู้ฉลาดในสมาธิ ๑
ความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิ ๑
ความเป็นผู้ฉลาดในการตั้งสมาธิ ๑
ความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาธิ ๑
ความเป็นผู้ฉลาดในความงามแห่งสมาธิ ๑
ความเป็นผู้ฉลาดในโคจรแห่งสมาธิ ๑
ความเป็นผู้ฉลาดในการน้อมไปแห่งสมาธิ ๑

สมาธิ ๘ คือ
สมาธิคือเอกัคคตาจิต ไม่ฟุ้งซ่านด้วยสามารถ
ปฐวีกสิณ (ดิน) ๑
อาโปกสิณ (น้ำ) ๑
เตโชกสิณ (ไฟ)๑
วาโยกสิณ (ลม) ๑
นีลกสิณ (สีเขียว) ๑
ปีตกสิณ (สีเหลือง) ๑
โลหิตกสิณ (สีแดง) ๑
โอทาตกสิณ (สีขาว) ๑

สมาธิ ๙ คือ
รูปาวจรสมาธิส่วนเลว ๑
รูปาวจรสมาธิส่วนปานกลาง ๑
รูปาวจรสมาธิส่วนประณีต ๑
อรูปาวจรส่วนเลว ๑
อรูปาวจรส่วนปานกลาง ๑
อรูปาวจรส่วนประณีต ๑
สุญญตสมาธิ ๑
อนิมิตตสมาธิ ๑
อัปปณิหิตสมาธิ ๑

สมาธิ ๑๐ คือ

สมาธิคือเอกัคคตาจิต ไม่ฟุ้งซ่านด้วยสามารถ

อัทธุมาตกสัญญา (กำหนดหมายในศพขึ้นพอง) ๑

วินีลกสัญญา (กำหนดหมายในศพขึ้นเขียว) ๑

วิปุพพกสัญญา (กำหนดหมายในศพมีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม)๑

วิฉิททกสัญญา (กำหนดหมายในศพที่ขาดท่อน ๆ) ๑

วิกขายิตกสัญญา (กำหนดหมายในศพที่ถูกสัตว์แทะกิน) ๑

วิกขิตตกสัญญา (กำหนดหมายในศพที่กระจัดกระจาย) ๑

หตวิกขายิตกสัญญา (กำหนดหมายในศพที่กระจัดกระจายเพราะถูกฟันด้วยศาสตรา) ๑

โลหิตกสัญญา (กำหนดหมายในศพที่เปื้อนเลือด) ๑

ปุฬุวกสัญญา (กำหนดหมายในศพมีแต่หนอน) ๑

อัฏฐิกสัญญา (กำหนดหมายในศพมีแต่กระดูก) ๑

สภาพในความเป็นสมาธิแห่งสมาธิ ๒๕ ประการ คือ

สมาธิเพราะอรรถว่าอันสัทธินทรีย์เป็นต้นกำหนดถือเอา ๑

เพราะอรรถว่าอินทรีย์เป็นบริวารแห่งกันและกัน ๑

เพราะอรรถว่าสัทธินทรีย์เป็นต้นบริบูรณ์ ๑

เพราะอรรถว่ามีอารมณ์เป็นอันเดียว ๑

เพราะอรรถว่าไม่ฟุ้งซ่าน ๑

เพราะอรรถว่าไม่แส่ไป ๑

เพราะอรรถว่าไม่ขุ่นมัว ๑

เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหว ๑

เพราะอรรถว่าหลุดพ้นจากกิเลส ๑

เพราะความที่จิตตั้งอยู่ด้วยสามารถความตั้งมั่นในความเป็นจิตมีอารมณ์เดียว ๑

เพราะอรรถว่าแสวงหาความสงบ ๑

เพราะอรรถว่าไม่แสวงหาธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบ ๑

เพราะแสวงหาความสงบแล้ว ๑

เพราะไม่แสวงหาธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบแล้ว ๑

เพราะอรรถว่ายึดมั่นความสงบ ๑

เพราะอรรถว่าไม่ยึดมั่นธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบ ๑

เพราะยึดมั่นความสงบแล้ว ๑

เพราะไม่ยึดมั่นธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบแล้ว ๑

เพราะอรรถว่าปฏิบัติสงบ ๑

เพราะอรรถว่าไม่ปฏิบัติไม่สงบ ๑

เพราะปฏิบัติสงบแล้ว ๑

เพราะไม่ปฏิบัติไม่สงบแล้ว ๑

เพราะอรรถว่าเพ่งความสงบ ๑

เพราะอรรถว่าเผาธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบ ๑

เพราะเพ่งความสงบแล้ว ๑

เพราะเผาธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบแล้ว ๑

เพราะอรรถว่าเป็นธรรมสงบ เป็นสภาพเกื้อกูลและนำสุขมาให้ ๑

สภาพในความเป็นสมาธิแห่งสมาธิเหล่านี้รวมเป็น ๒๕

 

 

อ้างอิง:
(๑) สมาธิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๗ หน้า ๒๒
(๒) สมาธิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๒๗ หน้าที่ ๑๓
(๓) อุปนิสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๖๙ หน้า ๒๙
(๔) มหาปรินิพพานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๘๘ หน้า ๘๐
(๕) กิมัตถิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๑ หน้า ๑
(๖) เจตนาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๒๐๙ หน้า
(๗) จูฬเวทัลลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อ ๕๐๘ หน้า ๓๘๙
(๘) สมาธิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๔๑ หน้า ๔๔-๔๕
(๙) อานันตริกสมาธิญาณนิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๘๐
(๑๐) วิภังคสูตร อริยมรรค ๘ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๔๑ หน้า ๙
(๑๑) อังคิกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๘ หน้า
(๑๓) วสสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๓๗
        วสสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๓๘
(๑๔) หิมวันตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๙๕ หน้า ๒๘๖
(๑๕) พลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๔๓ หน้า ๓๘๐
(๑๖) สติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๔๑ หน้า ๓๗๘-๓๗๙
(๑๗) อัสสชิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๒๒๔ หน้า ๑๒๒
(๑๘) สมาธิสมาปัตติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๕๘๕ หน้า ๒๙๙
(๑๙) ฐิติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๕๘๖ หน้า ๒๙๙-๓๐๐
(๒๐) วุฏฐานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๕๘๗ หน้า ๓๐๐
(๒๑) กัลลิตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๕๘๘ หน้า ๓๐๐-๓๐๑
(๒๒) อารัมมณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๕๘๙ หน้า ๓๐๑
(๒๓) โคจรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๕๙๐ หน้า ๓๐๑-๓๐๒
(๒๔) อภินีหารสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๕๙๑ หน้า ๓๐๒
(๒๕) สักกัจจการีสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๕๙๒ หน้า ๓๐๒-๓๐๓
(๒๖) สาตัจจการีสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๕๙๓ หน้า ๓๐๓
(๒๗) สัปปายการีสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๕๙๔-๖๑๑ หน้า ๓๐๓-๓๐๙
(๒๘) ปฏิสัมภิทามรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๙๒-๙๓ และข้อที่ ๔๖๐ หน้า ๑๙๑
(๒๙) ปฏิสัมภิทามรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๙๒-๙๓ หน้า ๓๖-๓๗
 
 

คำต่อไป