Main navigation
สติปัฏฐาน ๔
Share:

(๑) หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ

๔ ประการ เป็นไฉน

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็น กายในกายภายใน บ้าง
พิจารณาเห็น กายในกายภายนอก บ้าง
พิจารณาเห็น กายในกายทั้งภายในทั้งภายนอก บ้าง

พิจารณา เห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกาย บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือความเสื่อมในกาย บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกาย บ้าง

สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็น เวทนาในเวทนาภายใน บ้าง
พิจารณาเห็น เวทนาในเวทนาภายนอก บ้าง
พิจารณาเห็น เวทนาในเวทนาทั้งภายในทั้งภายนอก บ้าง

พิจารณา เห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในเวทนา บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือความเสื่อมในเวทนา บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในเวทนา บ้าง

สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า เวทนามีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็น จิตในจิตภายใน บ้าง
พิจารณาเห็น จิตในจิตภายนอก บ้าง
พิจารณาเห็น จิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอก บ้าง

พิจารณา เห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในจิต บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือความเสื่อมในจิต บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในจิต บ้าง

สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า จิตมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็น ธรรมในธรรมภายใน บ้าง
พิจารณาเห็น ธรรมในธรรมภายนอก บ้าง
พิจารณาเห็น ธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอก บ้าง

พิจารณา เห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรม บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรม บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรม บ้าง

สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก

ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้อย่างนี้ ตลอด ๗ ปี เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑

๗ ปี ยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด ๖ ปี... ๕ ปี... ๔ ปี... ๓ ปี ... ๒ ปี... ๑ ปี... ครึ่งเดือน... เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑

ครึ่งเดือนยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด ๗ วัน เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑


พุทธวิธีเจริญสติปัฏฐานนัยที่ ๒

(๒) เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ย่อมเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายได้ เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต เป็นเครื่องทอนปัญญาให้ถอยกำลังได้แล้ว

พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯลฯ
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่

มีความเพียรมีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

อริยสาวกผูกใจไว้แล้วกับสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อแก้ไขปกติที่ยังผูกพันอยู่กับเรือน แก้ไขความสับสนที่ยังผูกพันอยู่กับเรือน แก้ไขความกระวนกระวาย ความลำบากใจและความเร่าร้อนใจที่ผูกพันอยู่กับเรือน เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน

เป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ แต่อย่าตรึกวิตกที่เกี่ยวข้องกับกาย

จงเป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ แต่อย่าตรึกวิตกที่เกี่ยวข้องกับเวทนา

จงเป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ แต่อย่าตรึกวิตกที่เกี่ยวข้องกับจิต

จงเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ แต่อย่าตรึกวิตกที่เกี่ยวข้องกับธรรม

ย่อมเข้าทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่

ย่อมเป็นผู้วางเฉย เพราะหน่ายปีติมีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน...

ย่อมเข้าจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีสติ บริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อนโยน ควรแก่การงานตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว

ย่อมน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก

ย่อมน้อมจิตไปเพื่อญาณเครื่องรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมเช่นนี้

ย่อมน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ที่ดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับทุกข์

รู้ชัดตามเป็นจริงว่าเหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ที่ดับอาสวะ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับอาสวะ

เมื่อเธอรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ชัดว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ภิกษุนั้นเป็นผู้อดทน คือ มีปรกติอดกลั้นต่อความหนาว ความร้อน ความหิว และความกระหาย ต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน ต่อ ทำนอง คำพูดที่กล่าวร้าย ใส่ร้าย ต่อเวทนาประจำสรีระที่เกิดขึ้นแล้ว อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ ไม่ใช่ความสำราญ ไม่เป็นที่ชอบใจพอจะสังหารชีวิตได้ เธอเป็นผู้กำจัดราคะ โทสะ โมหะทั้งปวงได้ หมดกิเลสเพียงดังน้ำฝาดแล้ว เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักขิณาทาน ควรแก่การกระทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลกอย่างหาแห่งอื่นเปรียบมิได้


(๓) พุทธวิธีเจริญสติปัฏฐาน นัยที่ ๓

ภิกษุเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไร

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกองธาตุดินโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นของเที่ยง พิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นสุข พิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นอัตตา ย่อมเบื่อหน่าย ไม่ยินดี ย่อมคลายกำหนัด ไม่กำหนัด ย่อมดับ ไม่ให้เกิด ย่อมสละคืน ไม่ถือมั่น

เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้
เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ย่อมละสุขสัญญาได้
เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ย่อมละอัตตสัญญาได้
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมละความยินดีได้
เมื่อคลายกำหนัด ย่อมละความกำหนัดได้
เมื่อดับ ย่อมละสมุทัยได้
เมื่อสละคืน ย่อมละความยึดถือได้

ภิกษุพิจารณาเห็นกายด้วยอาการ ๗ นี้

กายปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนั้นด้วยสติและญาณนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกการพิจารณาเห็นกายในกายว่า สติปัฏฐานภาวนา

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกองอาโปธาตุ กองเตโชธาตุ กองวาโยธาตุ กองผม กองขน กองผิว กองหนัง กองเนื้อ กองเอ็น กองกระดูก กองเยื่อในกระดูก โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นของเที่ยง พิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นสุข พิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นอัตตา ย่อมเบื่อหน่าย ไม่ยินดี ย่อมคลายกำหนัด ไม่กำหนัด ย่อมดับ ไม่ให้เกิด ย่อมสละคืน ไม่ถือมั่น

เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้
เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ย่อมละสุขสัญญาได้
เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ย่อมละอัตตสัญญาได้
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมละความยินดีได้
เมื่อคลายกำหนัด ย่อมละความกำหนัดได้
เมื่อดับ ย่อมละสมุทัยได้
เมื่อสละคืน ย่อมละความยึดถือได้

ภิกษุพิจารณาเห็นกายด้วยอาการ ๗ นี้

กายปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนั้นด้วยสติและญาณนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงเรียกการพิจารณาเห็นกายในกายว่า สติปัฏฐานภาวนา

ภิกษุมีปรกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่อย่างไร

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฯลฯ โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นของเที่ยง พิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นสุข พิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นอัตตา ย่อมเบื่อหน่าย ไม่ยินดี ย่อมคลายกำหนัด ไม่กำหนัด ย่อมดับ ไม่ให้เกิด ย่อมสละคืน ไม่ถือมั่น

เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้
เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ย่อมละสุขสัญญาได้
เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ย่อมละอัตตสัญญาได้
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมละความยินดีได้
เมื่อคลายกำหนัด ย่อมละความกำหนัดได้
เมื่อดับ ย่อมละสมุทัยได้
เมื่อสละคืน ย่อมละความถือมั่นได้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาด้วยอาการ ๗ นี้

เวทนาปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนานั้นด้วยสติและญาณนั้น

เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงเรียกการพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายว่า สติปัฏฐานภาวนา

ภิกษุมีปรกติพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไร

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นจิตมีราคะ โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นของเที่ยง พิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นสุข พิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นอัตตา ย่อมเบื่อหน่าย ไม่ยินดี ย่อมคลายกำหนัด ไม่กำหนัด ย่อมดับ ไม่ให้เกิด ย่อมสละคืน ไม่ถือมั่น

เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้
เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ย่อมละสุขสัญญาได้
เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ย่อมละอัตตสัญญาได้
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมละความยินดีได้
เมื่อคลายกำหนัด ย่อมละความกำหนัดได้
เมื่อดับ ย่อมละสมุทัยได้
เมื่อสละคืน ย่อมละความถือมั่นได้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตด้วยอาการ ๗ นี้

จิตปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตนั้นด้วยสติและญาณนั้น

เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงเรียกการพิจารณาเห็นจิตในจิตว่า สติปัฏฐานภาวนา

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นจิตอันปราศจากราคะ จิตมีโทสะ จิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ จิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต จิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่น จิตหลุดพ้น จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นของเที่ยง พิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นสุข พิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นอัตตา ย่อมเบื่อหน่าย ไม่ยินดี ย่อมคลายกำหนัด ไม่กำหนัด ย่อมดับ ไม่ให้เกิด ย่อมสละคืน ไม่ถือมั่น

เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้
เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ย่อมละสุขสัญญาได้
เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ย่อมละอัตตสัญญาได้
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมละความยินดีได้
เมื่อคลายกำหนัด ย่อมละความกำหนัดได้
เมื่อดับ ย่อมละสมุทัยได้
เมื่อสละคืน ย่อมละความถือมั่นได้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตด้วยอาการ ๗ นี้

จิตปรากฏ ไม่ใช่สติสติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตนั้นด้วยสติและญาณนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงเรียกการพิจารณาเห็นจิตในจิตว่า สติปัฏฐานภาวนา

ภิกษุมีปรกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่อย่างไร

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เว้นกาย เวทนา จิตเสียแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลายที่เหลือจากนั้นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นของเที่ยง พิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นสุข ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นอัตตา ย่อมเบื่อหน่าย ไม่ยินดี ย่อมคลายกำหนัด ไม่กำหนัด ย่อมดับ ไม่ให้เกิด ย่อมสละคืน ไม่ถือมั่น

เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้
เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ย่อมละสุขสัญญาได้
เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ย่อมละอัตตสัญญาได้
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมละความยินดีได้
เมื่อคลายกำหนัด ย่อมละความกำหนัดได้
เมื่อดับ ย่อมละสมุทัยได้
เมื่อสละคืน ย่อมละความถือมั่นได้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลายด้วยอาการ ๗ นี้

ธรรมทั้งหลายปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้นด้วยสติและญาณนั้น

เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงเรียกการพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายว่า สติปัฏฐานภาวนา


เจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อการบรรลุธรรม

(๔) สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่ปรารภแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า ไม่ปรารภอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าปรารภอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

(๕) สติปัฏฐาน ๔ อันชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งเบื่อแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่าเบื่ออริยมรรคที่จะให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ สติปัฏฐาน ๔ อันชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภแล้ว ชนเหล่านั้น ชื่อว่าปรารภอริยมรรคที่จะให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

(๖) เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์ชนเหล่าใด และชนเหล่าใดพึงสำคัญถ้อยคำที่ควรฟัง ชนเหล่านั้นจะเป็นมิตร อมาตย์ ญาติหรือสาโลหิตก็ตาม เธอทั้งหลายพึงชักชวน ชักนำ ให้ตั้งอยู่ในการเจริญสติปัฏฐาน ๔

(๗) เมื่อจะกล่าวว่ากองกุศล จะกล่าวให้ถูก ต้องกล่าวถึงสติปัฏฐาน ๔ เพราะว่ากองกุศลทั้งสิ้น ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔

(๘) เธออาศัยศีลดำรงอยู่ในศีลแล้ว พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔

(๙) เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อกำหนดรู้เวทนา ๓ เหล่านี้คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา

(๑๐) สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นตัณหา

(๑๑) สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว

(๑๒) สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่ง จากที่มิใช่ฝั่ง

(๑๓) เธอทั้งหลายควรเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละอาสวะ ๓ เหล่านี้คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ

(๑๔) ภิกษุทั้งที่เป็นเสขะและอเสขะพึงเข้าถึงธรรมคือสติปัฏฐาน ๔ อยู่

(๑๕) ภิกษุทั้งหลายที่เป็นผู้มาใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ เธอทั้งหลายพึงให้สมาทาน พึงให้ตั้งอยู่ พึงให้ดำรงมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน ๔

เธอทั้งหลายจงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อรู้กายตามความเป็นจริง

จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่... เพื่อรู้เวทนาตามความเป็นจริง

จงพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่... เพื่อรู้จิตตามความเป็นจริง

จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อรู้ธรรมตามความเป็นจริง

แม้ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัต ปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม

ก็ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อกำหนดรู้กาย

ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่... เพื่อกำหนดรู้เวทนา

ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่... เพื่อกำหนดรู้จิต

ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อกำหนดรู้ธรรม

แม้ภิกษุทั้งหลายที่เป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว มีประโยชน์ตนถึงแล้วโดยลำดับ สิ้นสังโยชน์ที่จะนำไปสู่ภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ

ก็ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว พรากจากกายแล้ว

ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่... พรากจากเวทนาแล้ว

ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่... พรากจากจิตแล้ว

ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว พรากจากธรรมแล้ว

(๑๖) บุคคลจะชื่อว่าเป็นพระเสขะ เพราะเจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้เป็นส่วน

(๑๗) บุคคลที่จะชื่อว่าเป็นพระอเสขะ เพราะเจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้บริบูรณ์

(๑๘) ภิกษุอรหันตขีณาสพมีจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ อยู่มาก

(๑๙) แม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ เมื่อกระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ ก็เป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องสูง ๕ เหล่านี้ คือ รูปราคะ ๑ อรูปราคะ ๑ มานะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อวิชชา ๑

(๒๐) ข้อที่ภิกษุผู้เจริญ ผู้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ จักลาสิกขาออกมา ยินดีด้วยโภคะ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เพราะจิตที่น้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวกตลอดกาลนาน จักหวนสึก มิใช่ฐานะที่จะมีได้
 

อานิสงส์ในการเจริญสติปัฏฐาน

(๒๑) วิหารธรรม คือ มีจิตตั้งมั่นอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ ทุกขเวทนาในสรีรกายที่บังเกิดขึ้นจึงไม่ครอบงำจิต

(๒๒) เพราะท่านพระอนุรุทธะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ จึงได้รู้ธรรมอันเลว โดยความเป็นธรรมเลว รู้ธรรมปานกลาง โดยความเป็นธรรมปานกลาง รู้ธรรมอันประณีต โดยความเป็นธรรมอันประณีต

(๒๓) เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ ท่านพระอนุรุทธะจึงรู้ฐานะโดยความเป็นฐานะ และอฐานะโดยความเป็นอฐานะ ตามความเป็นจริง

(๒๔) รู้วิบากของการกระทำกรรมทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุ ตามความเป็นจริง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔

(๒๕) รู้จักปฏิปทาอันให้ถึงประโยชน์ทั้งปวงตามความเป็นจริง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔

(๒๖) รู้ธาตุเป็นอเนกและโลกธาตุต่างๆ ตาม ความเป็นจริง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔

(๒๗) รู้อธิมุติอันเป็นต่างๆ กัน ของสัตว์ทั้งหลาย ตามความเป็นจริง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔

(๒๘) รู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่น ตามความเป็นจริง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔

(๒๙) รู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว ความออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ ตามความเป็นจริง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔

(๓๐) บรรลุภาวะแห่งมหาอภิญญา ระลึกได้ตลอดพันกัลป์ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔

(๓๑) แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔

(๓๒) ได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพโสตอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔

(๓๓) กำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่า จิตมีราคะ ฯลฯ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่า จิตหลุดพ้น เพราะได้เจริญได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔

(๓๔) ระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการพร้อมทั้งอุทเทศ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔

(๓๕) เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติกำลังอุปบัติ ฯลฯ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ เพราะ ได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔

(๓๖) กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔

(๓๗) ภิกษุนั้นถ้าหวังอยู่ว่า ขอเราพึงเป็นผู้มีความสำคัญว่า ปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่เถิด ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญกว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลนั้นอยู่

ถ้าหวังอยู่ว่า ขอเราพึงเป็นผู้มีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลอยู่เถิด ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่

ถ้าหวังอยู่ว่า ขอเราพึงเป็นผู้มีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลอยู่เถิด ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญว่า ปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่

ถ้าหวังอยู่ว่า ขอเราพึงเป็นผู้มีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่เถิด ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ถ้าหวังอยู่ว่า ขอเราพึงเป็นผู้เว้นขาดสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลทั้งสองนั้น แล้วมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่เถิด ก็ย่อมเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะในสิ่งทั้งสองนั้นอยู่


ความเกิดและความดับของสติปัฏฐาน

เราจักแสดงความเกิดและความดับแห่งสติปัฏฐาน ๔ เธอทั้งหลายจงฟัง

ความเกิดแห่งกายย่อมมี เพราะความเกิดแห่งอาหาร ความดับแห่งกายย่อมมี เพราะความดับแห่งอาหาร

ความเกิดแห่งเวทนาย่อมมี เพราะความเกิดแห่งผัสสะ ความดับแห่งเวทนาย่อมมี เพราะความดับแห่งผัสสะ

ความเกิดแห่งจิตย่อมมี เพราะความเกิดแห่งนามรูป ความดับแห่งจิตย่อมมี เพราะความดับแห่งนามรูป

ความเกิดแห่งธรรมย่อมมี เพราะความเกิดแห่งมนสิการ ความดับแห่งธรรมย่อมมีเพราะความดับแห่งมนสิการ

 

 

อ้างอิง:
(๑) มหาสติปัฏฐานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๓๒, ๓๐๐
(๒) ทันตภูมิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๓๙๖-๔๐๒ หน้า ๒๑๑
(๓) สติปัฏฐานกถา ปัญญาวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๗๒๗-๗๓๐
(๔) วิรัทธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๘๐๑
(๕) สมัตตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๗๘๓-๗๘๔
(๖) มิตตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๘๓๔
(๗) กุสลราสิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๘๒๖
(๘) ปาฏิโมกขสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๘๒๙
(๙) เวทนาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๘๓๖
(๑๐) ตัณหักขยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๗๘
(๑๑) วิราคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๘๐๐
(๑๒) ภาวนาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๘๐๒
(๑๓) อาสวสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๘๓๘
(๑๔) กัณฏกีสูตรที่ ๑ และ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๗๒-๑๒๗๕
(๑๕) โกสลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๖๙๑-๖๙๔ หน้า ๑๖๕-๑๖๖
(๑๖) ปเทสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๗๘๑-๗๘๒
(๑๗) รโหคตวรรคที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๖๓
(๑๘) อัมพปาลิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๘๑-๑๒๘๒
(๑๙) สติปัฏฐานสังยุต พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๘๓๙-๘๔๒
(๒๐) สลฬาคารสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๗๙-๑๒๘๐
(๒๑) คิลานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๘๓-๑๒๘๔
(๒๒) สุตนุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๗๑
(๒๓) ฐานาฐานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๙๐ หน้า ๓๑๒
(๒๔) วิปากสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๙๑ หน้า ๓๑๒
(๒๕) สัพพัตถคามินีปฏิปทาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๙๒ หน้า ๓๑๒
(๒๖) นานาธาตุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๙๓ หน้า ๓๑๓
(๒๗) อธิมุตติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๙๔ หน้า ๓๑๓
(๒๘) อินทริยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๙๕ หน้า ๓๑๓
(๒๙) สังกิเลสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๙๖ หน้า ๓๑๓
(๓๐) สุตนุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๗๐-๑๒๗๑
      กัณฏกีสูตรที่ ๓ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๗๖-๑๒๗๗
      สหัสสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๘๖ หน้า ๓๑๑
(๓๑) อิทธิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๘๗ หน้า ๓๑๒
(๓๒) ทิพโสตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๘๘ หน้า ๓๑๒
(๓๓) เจโตปริจจสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๘๙ หน้า ๓๑๒
(๓๔) วิชชาสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๙๗ หน้า ๓๑๔
(๓๕) วิชชาสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๙๘ หน้า ๓๑๔
(๓๖) วิชชาสูตรที่ ๓ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๙๙ หน้า ๓๑๔
(๓๗) รโหคตสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๕๘-๑๒๖๒
(๓๘) สมุทยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๘๑๙


 

คำต่อไป