Main navigation
สติ
Share:

สติ เป็นไฉน

(๑) สติ ความตามระลึก ความหวนระลึก สติ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ อันใดนี้เรียกว่า สติ

ก็อย่างไรเล่า ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้มีสติ

(๒) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่...
ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่...
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียอย่างนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้มีสติ

ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่เถิด นี้เป็นอนุศาสนีของเราสำหรับเธอทั้งหลาย


พรหมจรรย์มีสติเป็นอธิปไตย

(๓) ก็พรหมจรรย์มีสติเป็นอธิปไตยอย่างไร

สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า

เราจักบำเพ็ญอภิสมาจาริกสิกขาที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือว่า จักอนุเคราะห์อภิสมาจาริกสิกขาอันบริบูรณ์แล้วไว้ด้วยปัญญาในฐานะนั้น ๆ ดังนี้บ้าง

สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า เราจักบำเพ็ญสิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือว่าจักอนุเคราะห์สิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่บริบูรณ์แล้วไว้ ด้วยปัญญาในฐานะนั้น ๆ ดังนี้บ้าง

สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า เราจักพิจารณาธรรมที่เราไม่ได้พิจารณาแล้วด้วยปัญญาในฐานะนั้น  ๆ หรือว่า จักอนุเคราะห์ธรรมที่เราพิจารณาแล้วได้ด้วยปัญญาในฐานะนั้น ๆ ดังนี้บ้าง

สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า เราจักถูกต้องธรรมที่เราไม่ได้ถูกต้องด้วยวิมุตติ หรือว่า จักอนุเคราะห์ธรรมที่เราถูกต้องแล้วด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง

พรหมจรรย์มีสติเป็นอธิปไตยอย่างนี้แล


ลักษณะผู้มีสติ ๔

(๔) ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ

มีสติเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในกาย ๑
มีสติเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลาย ๑
มีสติเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต ๑
มีสติเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย ๑

ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการแม้อื่นอีก คือ

มีสติเพราะเว้นความเป็นผู้ไม่มีสติ ๑
เพราะนำธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความทำสติ ๑
เพราะละธรรมเป็นข้าศึกแก่สติ ๑
เพราะไม่หลงลืมธรรมอันเป็นนิมิตแห่งสติ ๑

ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการแม้อื่นอีก คือ

มีสติเพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยสติ ๑
เพราะความชำนาญด้วยสติ ๑
เพราะความเป็นผู้คล่องแคล่วด้วยสติ ๑
เพราะไม่กลับลงจากสติ ๑

ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการแม้อื่นอีก คือ

มีสติเพราะความเป็นผู้มีสติเสมอ ๑
เพราะความเป็นผู้สงบ ๑
เพราะความเป็นผู้ระงับ ๑
เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของผู้สงบ ๑

มีสติเพราะพุทธานุสสติ
เพราะธัมมานุสสติ
เพราะสังฆานุสสติ
เพราะสีลานุสสติ
เพราะจาคานุสสติ
เพราะเทวดานุสสติ
เพราะอานาปานัสสติ
เพราะมรณานุสสติ
เพราะกายคตาสติ
เพราะอุปสมานุสสติ

สติ ฯลฯ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค นี้เรียกว่าสติ

ภิกษุเป็นผู้เข้าไป เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง เข้าถึงพร้อม ประกอบด้วยสตินี้ ภิกษุนั้นเรียกว่ามีสติ


สติเว้นรอบ

ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ คือ พึงมีสติเดิน พึงมีสติยืน พึงมีสตินั่ง พึงมีสตินอน พึงมีสติก้าวไปข้างหน้า พึงมีสติถอยกลับ พึงมีสติแลดู พึงมีสติเหลียวดู พึงมีสติคู้เข้า พึงมีสติเหยียดออก พึงมีสติทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร พึงมีสติเที่ยวไป พึงมีสติอยู่ คือ เป็นไป เปลี่ยนแปลง รักษา บำรุง เยียวยา ให้เยียวยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ

สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีสติ

(๕) สติของชนเหล่าใดไปแล้วในพระพุทธเจ้า...พระธรรม... พระสงฆ์... ในกาย เป็นนิตย์ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นสาวกของพระโคดม ตื่นอยู่ ตื่นดีแล้วในกาลทุกเมื่อ


สติเป็นสภาวธรรมฝ่ายกุศลสำคัญในหมวด อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และอริยมรรคมีองค์ ๘ (สัมมาสติ)

(๖) สตินทรีย์ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน

ความตามระลึก ความหวนระลึก กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืม 

(๗) สติพละ กำลังคือ สติ เป็นไฉน

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเครื่องรักษาตัวชั้นเยี่ยม ระลึกตามแม้สิ่งที่ทำ แม้คำที่พูดไว้นานได้

(๘) สติเป็นหนึ่งในพละ ๗ อันเป็นธรรมเพื่อความหลุดพ้นแห่งจิต 

พละ ๗ ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน คือ ศรัทธาพละ วิริยพละ หิริพละ โอตตัปปพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ 

ภิกษุผู้มีพละ ๗ ประการนี้ เป็นบัณฑิตย่อมอยู่เป็นสุข เลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย ย่อมเห็นอรรถแห่งธรรมชัดด้วยปัญญา ความหลุดพ้นแห่งจิต (จริมกจิต) คือ ความดับของภิกษุนั้นย่อมมีได้ เหมือนความดับแห่งประทีป ฉะนั้น

(๙) สัมมาสติ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน

สติ ความตามระลึก ความหวนระลึก กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ ความระลึกชอบ สติสัมโพชฌงค์ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมาสติ มีในสมัยนั้น

(๑๐) ภิกษุในศาสนานี้ ผู้ประกอบด้วยความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก ผู้ประกอบด้วยความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ ฯลฯ ผู้ประกอบด้วยความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่ฯลฯ ผู้ประกอบด้วยความเพียร มีสัมสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก นี้เรียกว่า สัมมาสติ 

สติเป็นองค์ธรรมหนึ่งในโพชฌงค์ ๗

(๑๑) สติสัมโพชฌงค์ เป็นไฉน
สติในธรรมภายในมีอยู่ สติในธรรมภายนอกมีอยู่ สติในธรรมภายในแม้ใด สติในธรรมภายในแม้นั้น ก็ชื่อว่า สติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน สติในธรรมภายนอกแม้ใด สติในธรรมภายนอกแม้นั้น ก็ชื่อว่าสติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน 

(๑๒) ภิกษุในศาสนานี้ เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติและปัญญาอันยิ่ง ระลึกได้ ระลึกได้บ่อยๆ ซึ่งกิจที่ทำไว้นานๆ หรือวาจาที่กล่าวไว้นานๆ นี้เรียกว่าสติสัมโพชฌงค์  

(๑๓) สติเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งใจ วิมุติเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งสติ

ธรรมทั้งปวงมีสติเป็นใหญ่

(๑๔) ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล มีมนสิการเป็นแดนเกิด มีผัสสะเป็นสมุทัย มีเวทนาเป็นที่ประชุมลง มีสมาธิเป็นประมุข มีสติเป็นใหญ่ มีปัญญาเป็นยิ่ง มีวิมุตติเป็นแก่น
 
สติเป็นธรรมเครื่องรักษาจิตใจ

(๑๕) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยใจอันรักษาด้วยสติ

(๑๖) ท่านทั้งหลายปรารถนาประโยชน์แก่ตน พึงทำความไม่ประมาทในเบญจกามคุณ และสติให้เป็นเครื่องรักษาจิต

สติเป็นธรรมเครื่องรักษาตน

(๑๗) ...เป็นผู้มีสติประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ย่อมตามระลึกถึงกรรมที่ได้ทำและคำที่ได้พูดแล้วแม้นานได้ เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีทหารยามฉลาดสามารถดี ห้ามไม่ให้คนที่ไม่รู้จักเข้าอนุญาตให้คนที่รู้จักเข้า สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น...อริยสาวกผู้มีสติเปรียบเหมือนทหารยาม ย่อมละอกุศลธรรม... บริหารตนให้บริสุทธิ์เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมอันไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ เป็นผู้มีปัญญา ย่อมละอกุศล... บริหารตนให้บริสุทธิ์

สติเป็นหนึ่งในธรรมเพื่อความเจริญในกุศลธรรม

(๑๘) ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ พึงหวังได้ความเจริญในกุศลธรรมอย่างเดียว ไม่พึงหวังได้ความเสื่อมเลย ตลอดคืนหรือวันที่ผ่านมา คือ  ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความปรารถนามาก ไม่มีความคับแค้นใจ สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ ๑ เป็นผู้มีศรัทธา ๑ เป็นผู้มีศีล ๑ เป็นผู้ปรารภความเพียร ๑ เป็นผู้มีสติ ๑ และเป็นผู้มีปัญญา ๑ 

สติเป็นธรรมเพื่อกระทำความไม่ประมาท

(๑๙) ภิกษุพึงกระทำความไม่ประมาทคือ มีสติเครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตน ในฐานะ ๔ ประการ คือ มีสติเครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตนว่า

จิตของเราอย่ากำหนัดในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ๑
จิตของเราอย่าขัดเคืองในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ๑
จิตของเราอย่าหลงในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ๑
จิตของเราอย่ามัวเมาในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ๑
 
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก

(๒๐) สติเป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก เรากล่าวสติว่า เป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านั้นอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยปัญญา

สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก 

(๒๑) ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก...
 
สติเป็นหนึ่งในอปริหานิยธรรม ๗ ประการเพื่อความเจริญ

(๒๒) อปริหานิยธรรม ๗ ประการ คือ ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้มีศรัทธาอยู่เพียงใด ก็พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น จักเป็นผู้มีหิริ ฯลฯ จักเป็นผู้มีโอตตัปปะ ฯลฯ  จักเป็นพหุสูต ฯลฯ จักปรารภความเพียร ฯลฯ จักเป็นผู้มีสติ ฯลฯ จักเป็นผู้มีปัญญา เพียงใด ภิกษุทั้งหลายก็พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น  

สติเป็นหนึ่งในธรรม ๗ ประการ เพื่อความแจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้

(๒๓) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีศีล ๑ เป็นพหูสูต ๑ เป็นผู้หลีกออกเร้น ๑ ปรารภความเพียร ๑ มีสติ ๑ มีปัญญา ๑ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้ ไม่นานนัก พึงกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่
 
สติเป็นบาทฐานของการเข้าถึงวิมุตติญาณทัสนะ

(๒๔)  เมื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ หิริและโอตตัปปะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสติและสัมปชัญญะ

เมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่ อินทรียสังวรชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ

เมื่ออินทรียสังวรมีอยู่ ศีลชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรียสังวร

เมื่อศีลมีอยู่ สัมมาสมาธิชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล

เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ ยถาภูตญาณทัสนะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสัมมาสมาธิ

เมื่อยถาภูตญาณทัสนะมีอยู่ นิพพิทาวิราคะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยยถาภูตญาณทัสนะ

เมื่อนิพพิทา วิราคะมีอยู่ วิมุตติญาณทัสนะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาวิราคะ

เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์ แม้กะเทาะของต้นไม้นั้นก็ย่อมบริบูรณ์ แม้เปลือก แม้กระพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้นก็ย่อมบริบูรณ์ ฉะนั้น
 
สติเป็นหนึ่งในธรรมในพระนิพพาน

(๒๕) ชนเหล่าใดได้รู้ทั่วถึงบท คือ นิพพานอันไม่แปรผัน เป็นที่บรรเทาฉันทราคะในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง และสิ่งที่ได้ทราบ อันน่ารัก ณ ที่นี้ เป็นผู้มีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นสงบระงับแล้ว มีสติ ข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกได้แล้ว

(๒๖) ภิกษุเห็นโทษในกามทั้งหลายแล้วประพฤติพรหมจรรย์ มีตัณหาปราศไปแล้ว มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นธรรมแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นรู้ซึ่งส่วนทั้งสองแล้วไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลางด้วยปัญญา เรากล่าวสรรเสริญภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ ภิกษุนั้นล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดในโลกนี้เสียได้ 
 

 

 

อ้างอิง:
(๑) สุตตันติกทุกะ ธรรมสังคณีปกรณ์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๔ ข้อที่ ๘๖๕
(๒) สติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๘๐๓ หน้า ๑๙๙
(๓) อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๒๔๕
(๔) อชิตมาณวกปัญหานิทเทส  พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๐ ข้อที่ ๙๘
(๕) คาถาธรรมบท ปกิณณกวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อ ๓๑ หน้า ๓๘
(๗) พลสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อ ๔ หน้า ๔ 
(๘) พลสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อ ๓ หน้า ๓
(๑๓) อุณณาภพราหมณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑  ข้อ ๙๖๙-๙๗๐ หน้า
(๑๔) มูลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓  ข้อ ๑๘๙ หน้า ๒๗๓
(๑๕) อริยวสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อ ๒๐ หน้า ๒๙
(๑๖) โลกกามคุณสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อ ๑๗๓ หน้า ๑๐๐
(๑๗) นครสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อ ๖๔ หน้า ๙๐
(๑๘) รัตติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อ ๓๕๕ หน้า ๓๘๗
(๑๙) อารักขสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑  หน้า ๒๐ ข้อ ๑๑๗
(๒๐) อชิตมาณวกปัญหาที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕  หน้า ๓๙๗ ข้อ ๔๒๕
(๒๑) ปัชโชตสูตรที่ ๑๐ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อ ๒๑๘ หน้า ๕๔
(๒๒) สัทธิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อ ๒๓ หน้า ๒๔
(๒๓) สัตตธรรมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อ ๕๗ หน้า ๗๒
(๒๔) สติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อ ๑๘๗ หน้า ๒๗๑
(๒๕) เหมกมาณวกปัญหาที่ ๘ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อ ๔๓๒ หน้า ๔๐๖
(๒๖) ติสสเมตเตยยมาณวกปัญหาที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕  หน้า ๓๙๘ ข้อ ๔๒๖


 

 

คำต่อไป