Main navigation
อุปาทาน
Share:

(๑) อุปาทาน คือความยึดมั่น ถือมั่น เป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยใน ปฏิจจสมุปบาท

เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ

(๒) ก็อุปาทาน เหตุเกิดแห่งอุปาทาน ความดับอุปาทาน และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอุปาทาน เป็นไฉน?

ได้แก่ อุปาทาน ๔ คือ กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม) ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิ คือ ความเห็น) สีลัพพัตตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลพรต) อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา)

เหตุเกิดแห่งอุปาทาน ย่อมมีเพราะตัณหาเป็นเหตุให้เกิด ความดับอุปาทานย่อมมีเพราะตัณหาดับ

อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ ความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ความตั้งใจชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอุปาทาน

เมื่อใดบุคคลรู้ชัดซึ่งอุปาทาน เหตุเกิดแห่งอุปาทาน ความดับอุปาทาน และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอุปาทานอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัย และมานานุสัย โดยประการทั้งปวง ละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ย่อมกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันเทียว

แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.

 

อ้างอิง:  
(๑) วิภังคสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๕, ๙ หน้า ๒, ๓
(๒) สัมมาทิฏฐิสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๒๐ หน้า ๖๗

คำต่อไป