Main navigation
อิทธิบาท ๔
Share:

อิทธิบาท ๔ คือ องค์ธรรมเพื่อความสำเร็จ

(๑) ก็อิทธิบาทเป็นไฉน

มรรคาอันใด ปฏิปทาอันใด ย่อมเป็นไปเพื่อได้ฤทธิ์ เพื่อได้เฉพาะซึ่งฤทธิ์ นี้เรียกว่า อิทธิบาท

ก็อิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน 

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร ประกอบด้วยวิริยสมาธิและปธานสังขาร ประกอบด้วยจิตตสมาธิและปธานสังขาร ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิและปธานสังขาร นี้เรียกว่า อิทธิบาทภาวนา

ก็ปฏิปทาที่จะให้ถึงอิทธิบาทภาวนาเป็นไฉน

อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘  คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายาะ สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ปฏิปทาที่จะให้ถึงอิทธิบาทภาวนา

(๒) เมื่อบุคคลได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔  ย่อมมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ พระโมคคัลานะ มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากเพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔

อิทธิบาท ๔ เป็นไฉน

ภิกษุโมคคัลลานะย่อมเจริญอิทธิบาท ประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร ดังนี้ว่า ฉันทะของเรา จักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก และเธอมีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น  เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่

ประกอบด้วยวิริยสมาธิและปธานสังขาร ดังนี้ว่า วิริยะของเรา จักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก และเธอมีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่

ประกอบด้วยจิตตสมาธิและปธานสังขาร ดังนี้ว่า จิตตะของเรา จักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก และเธอมีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่

ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิและปธานสังขาร ดังนี้ว่า วิมังสาของเรา จักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก และเธอมีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ 

ผลที่พึงได้จากการได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔

เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้ ภิกษุโมคคัลลานะย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้  ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้  เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้ ภิกษุโมคคัลลานะย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง

(๓) วิธีเจริญอิทธิบาท ๔

ก็ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นไฉน

ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ประกอบด้วยความเกียจคร้าน สัมปยุตด้วยความเกียจคร้าน นี้เรียกว่า ฉันทะที่ย่อหย่อนเกินไป

ก็ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ต้องประคองเกินไปเป็นไฉน

ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ประกอบด้วยอุทธัจจะ สัมปยุตด้วยอุทธัจจะ นี้เรียกว่า ฉันทะที่ต้องประคองเกินไป

ก็ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่หดหู่ในภายในเป็นไฉน

ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ประกอบด้วยถีนมิทธะ สัมปยุตด้วยถีนมิทธะ นี้เรียกว่า ฉันทะที่หดหู่ในภายใน

ก็ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ฟุ้งซ่านไปในภายนอกเป็นไฉน

ฉันทะที่ฟุ้งซ่านไป พล่านไป ปรารภกามคุณ ๕ ในภายนอก นี้เรียกว่า ฉันทะที่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก

ภิกษุมีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น อย่างไร

ความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้า อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ยึดไว้ดีแล้ว กระทำไว้ในใจดีแล้ว ทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา ภิกษุชื่อว่า มีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น อย่างนี้แล

ก็ภิกษุมีความสำคัญอยู่ว่า เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น อย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณากายนี้ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องล่างแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่า ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ภิกษุชื่อว่า มีความสำคัญอยู่ว่า เบื้อง ล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น อย่างนี้แล

ก็ภิกษุมีความสำคัญอยู่ว่า กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น อย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิ และปธานสังขารในกลางวันด้วยอาการเหล่าใด ด้วยเพศเหล่าใด ด้วยนิมิตเหล่าใด เธอย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารในกลางคืน ด้วยอาการเหล่านั้น ด้วยเพศเหล่านั้น ด้วยนิมิตเหล่านั้น

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารในกลางคืนด้วยอาการเหล่าใด ด้วยเพศเหล่าใด ด้วยนิมิตเหล่าใด เธอย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารในกลางวัน ด้วยอาการเหล่านั้น ด้วยเพศเหล่านั้น ด้วยนิมิตเหล่านั้น

ภิกษุมีความสำคัญอยู่ว่า กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น อย่างนี้แล 

ก็ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ อย่างไร

อาโลกสัญญา (ความสำคัญว่าแสงสว่าง) อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยึดไว้ดีแล้ว ความสำคัญว่า กลางวัน ตั้งมั่นดีแล้ว ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่อย่างนี้แล

(๔) อิทธิบาทกับปธานสังขาร

อิทธิบาทประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร

ถ้าภิกษุอาศัยฉันทะแล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า ฉันทสมาธิ

เธอยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศล ธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อ ความไพบูลย์ เพื่อความเจริญบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้เรียกว่า ปธานสังขาร

ฉันทะนี้ด้วย ฉันทสมาธินี้ด้วย และปธานสังขารเหล่านี้ด้วย ดังพรรณนามานี้ นี้เรียกว่า อิทธิบาทประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร

อิทธิบาทประกอบด้วยวิริยสมาธิและปธานสังขาร

ถ้าภิกษุอาศัยวิริยะแล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า วิริยสมาธิ\

เธอยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศล ธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อ ความไพบูลย์ เพื่อความเจริญบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้เรียกว่า ปธานสังขาร

วิริยะนี้ด้วย วิริยสมาธินี้ด้วย และปธานสังขารเหล่านี้ด้วย ดังพรรณนามานี้ นี้เรียกว่า อิทธิบาทประกอบด้วยวิริยสมาธิและปธานสังขาร

อิทธิบาทประกอบด้วยจิตสมาธิและปธานสังขาร

ถ้าภิกษุอาศัยจิตแล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า จิตตสมาธิ

เธอยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศล ธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อ ความไพบูลย์ เพื่อความเจริญบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้เรียกว่า ปธานสังขาร

จิตตสมาธินี้ด้วย และปธานสังขารเหล่านี้ด้วย ดังพรรณนามานี้ นี้เรียกว่า อิทธิบาทประกอบด้วยจิตตสมาธิและปธานสังขาร

อิทธิบาทประกอบด้วยวิมังสาสมาธิและปธานสังขาร

ถ้าภิกษุอาศัยวิมังสาแล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า วิมังสาสมาธิ

เธอยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศล ธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อ ความไพบูลย์ เพื่อความเจริญบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้เรียกว่า ปธานสังขาร

วิมังสานี้ด้วย วิมังสาสมาธินี้ด้วย และปธานสังขารเหล่านี้ด้วย ดังพรรณนามานี้ นี้เรียกว่า อิทธิบาทประกอบด้วยวิมังสาสมาธิและปธานสังขาร

การเจริญอิทธิบาท ๔ ทำให้อายุยืน

(๕)  อิทธิบาท ๔ ประการ ท่านผู้ใดผู้หนึ่งได้เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน ให้เป็นที่ตั้ง มั่นคงแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ท่านผู้นั้นหวังอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัปหนึ่งหรือเกินกว่ากัป

(๖)  ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เจริญอิทธิบาทประกอบด้วยฉันทะสมาธิปธานสังขาร วิริยะสมาธิปธานสังขาร จิตตสมาธิปธานสังขาร วิมังสาสมาธิปธานสังขาร เพราะเจริญอิทธิบาท ๔ เหล่านี้ เพราะกระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้ เมื่อปรารถนาก็พึงตั้งอยู่ได้ถึงกัป ๑ หรือเกินกว่ากัป ๑

เป็นผู้มีฤทธิ์มากเพราะเจริญอิทธิบาท ๔

(๗) ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน ยังส่วนแห่งฤทธิ์ให้สำเร็จแล้ว สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้น ยังส่วนแห่งฤทธิ์ให้สำเร็จได้ ก็เพราะเจริญ กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔

(๘) ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน ยังฤทธิ์ให้สำเร็จบริบูรณ์แล้ว สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้น ยังฤทธิ์ให้สำเร็จได้บริบูรณ์ ก็เพราะเจริญ กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ อันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร ประกอบด้วยวิริยสมาธิและปธานสังขาร ประกอบด้วยจิตตสมาธิและปธานสังขาร ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิและปธานสังขาร

(๙) สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้น เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เพราะเป็นผู้เจริญ กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔

(๑๐) สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน  แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้  ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้  เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้น แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่างเช่นนั้น เพราะเป็นผู้เจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔

ได้เจโตวิมุติและปัญญาวิมุติเพราะเจริญอิทธิบาท ๔

(๑๑) ภิกษุกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เพราะเป็นผู้เจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ อิทธิบาท คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิและปธานสังขาร จิตตสมาธิและปธานสังขาร วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร

เจริญอิทธิบาทเพื่อความเบื่อหน่าย มรรค ผล นิพพาน

(๑๒) อิทธิบาท ๔ เหล่านี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อความสงบ เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิและปธานสังขาร จิตตสมาธิและปธานสังขาร วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร

(๑๓) อิทธิบาท ๔ เหล่านี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เป็นอริยะ นำออกจากทุกข์ ย่อมนำผู้บำเพ็ญอิทธิบาทนั้นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิและปธานสังขาร จิตตสมาธิและปธานสังขาร วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร

(๑๔) อิทธิบาท ๔ อันชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งเบื่อแล้ว ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่า เบื่ออริยมรรคเครื่องให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

อิทธิบาท ๔ อันชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปรารภแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่า ปรารภอริยมรรคเครื่องให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

(๑๕) อิทธิบาท ๔ เหล่านี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่ง จากที่มิใช่ฝั่ง

(๑๖)  เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้แล ภิกษุพึงหวังผลได้ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีความ ถือมั่นเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี

(๑๗) เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้แล ภิกษุพึงหวังได้ผลานิสงส์ ๗ ประการ คือ

จะได้ชมอรหัตผลในปัจจุบันก่อน ๑
ถ้าไม่ได้ชมอรหัตผลในปัจจุบันก่อน จะได้ชมเวลาใกล้ตาย ๑

ถ้าในปัจจุบันไม่ได้ชม ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้ชมไซร้ เพราะสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป จะได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี ๑
ผู้อุปหัจจปรินิพพายี ๑
ผู้อสังขารปรินิพพายี ๑
ผู้สสังขารปรินิพพายี ๑
ผู้อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ๑
 

 

อ้างอิง:
(๑) เทสนาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๑๗๕-๑๑๗๘ หน้า ๒๘๗
(๒)  โมคคัลลานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๑๕๙-๑๑๖๑ หน้า ๒๘๒-๒๘๓
(๓)  วิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๑๘๐-๑๒๐๒ หน้า ๒๘๘-๒๙๐
(๔)  ฉันทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๑๕๐-๑๑๕๓ หน้า ๒๘๐-๒๘๑
(๕)  อายุสมโอสัชชนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๒๗ หน้า ๑๑๙
(๖)  จักกวัตติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ ข้อที่ ๕๐ หน้า ๕๘
(๗) ปเทสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๑๑๒ หน้า ๒๖๙-๒๗๐
(๘)  สัมมัตตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๑๑๔ หน้า ๒๗๐
(๙) สมณพราหมณ์สูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๑๗๐ หน้า ๒๘๕
(๑๐)  สมณพราหมณ์สูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๑๗๒ หน้า ๒๘๕-๒๘๖
(๑๑)  อภิญญาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๑๗๔ หน้า ๒๘๖
(๑๒) นิพพุตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๑๑๑ หน้า ๒๖๙
(๑๓) อริยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๑๑๐ หน้า ๒๖๙
(๑๔) วิรัทธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๑๐๙ หน้า ๒๖๘
(๑๕) อปารสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๑๐๘ หน้า ๒๖๘
(๑๖) ผลสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๑๗-๑๒๑๘ หน้า ๒๙๔-๒๙๕
(๑๗) ผลสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๑๙-๑๒๒๐ หน้า ๒๙๕

คำต่อไป