Main navigation
อปริหานิยธรรม
Share:

ธรรมเพื่อความเจริญ ไม่เสื่อม ของอุบาสก

(๑) อปริหานิยธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ

ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน ๑
ความเป็นผู้ไม่ชอบคุย ๑
ความเป็นผู้ไม่ชอบหลับ ๑
ความเป็นผู้ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๑
ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑
ความเป็นผู้มีมิตรดี ๑

ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน ไม่เสื่อมแล้วจากกุศลธรรมเพราะธรรม ๖ ประการนี้แล


(๒) ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่อุบาสก คือ

อุบาสกไม่ขาดการเยี่ยมเยียนภิกษุ ๑

ไม่ละเลยการฟังธรรม ๑

ศึกษาในอธิศีล ๑

มากด้วยความเลื่อมใสในภิกษุทั้งที่เป็นเถระ ทั้งเป็นผู้ใหม่ ทั้งปานกลาง ๑

ไม่ตั้งจิตติเตียน ไม่คอยเพ่งโทษฟังธรรม ๑

ไม่แสวงหาเขตบุญภายนอก ๑

กระทำสักการะก่อนในเขตบุญในศาสนานี้ ๑

ธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่อุบาสก


(๓) อปริหานิยธรรม ๗ คือ

ชาววัชชีจักหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์เพียงใด ชาววัชชีพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

ชาววัชชีเมื่อประชุมก็จักพร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และจักพร้อมเพรียงช่วยกันทำกิจที่ควรทำเพียงใด ชาววัชชีพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

ชาววัชชีจักไม่บัญญัติสิ่งที่ยังไม่บัญญัติ จักไม่ถอนสิ่งที่ท่านบัญญัติไว้แล้ว ประพฤติมั่นอยู่ในธรรมของชาววัชชีครั้งโบราณ ตามที่ท่านบัญญัติไว้เพียงใด ชาววัชชีพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

ชาววัชชีจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาท่านวัชชีผู้ใหญ่ทั้งหลาย และจักสำคัญถ้อยคำแห่งท่านเหล่านั้นว่าเป็นถ้อยคำอันตนพึงเชื่อฟังเพียงใด ชาววัชชีพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

ชาววัชชีจักไม่ข่มขืนบังคับปกครองหญิงในสกุลเพียงใด ชาววัชชีพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย เพียงนั้น

ชาววัชชียังคงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจติยสถานของชาววัชชี ทั้งภายในและภายนอก และไม่ลบล้างพลีกรรมอันชอบธรรม ซึ่งเคยให้ เคยทำแก่เจติยสถานเหล่านั้นเพียงใด ชาววัชชีพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

ชาววัชชีจักถวายความอารักขา ความคุ้มครอง ป้องกันโดยชอบธรรมในพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นอย่างดี ด้วยหวังว่า ไฉนพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังไม่มาพึงมาสู่แว่นแคว้น และที่มาแล้ว พึงอยู่เป็นสุขเพียงใด ชาววัชชีพึงหวังความเจริญได้แน่นอน  ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ จักตั้งอยู่ในชาววัชชี และชาววัชชียังปรากฏอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้เพียงใด ชาววัชชีพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

ชาววัชชีประกอบด้วยอปริหานิยธรรมแม้แต่ละอย่าง ก็พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย จะกล่าวไยถึงชาววัชชีผู้ประกอบด้วยอปริหานิยธรรม ๗ ประการเล่า ชาววัชชีอันพระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหีบุตร ไม่พึงทำการต่อยุทธด้วยได้ เว้นเสียจากการเกลี้ยกล่อม เว้นเสียจากการยุยงให้แตกกัน


ธรรมเพื่อความเจริญของภิกษุ

(๔) อปริหานิยธรรม ๗ ของภิกษุ คือ

ภิกษุทั้งหลายหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เพียงใด พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

ภิกษุทั้งหลายเมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิก จักพร้อมเพรียงช่วยกันทำกิจที่สงฆ์พึงทำเพียงใด พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

ภิกษุทั้งหลายจักไม่บัญญัติสิ่งที่ยังไม่ได้บัญญัติ จักไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติแล้ว จักประพฤติมั่นในสิกขาบทตามที่บัญญัติไว้แล้ว เพียงใด พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

ภิกษุทั้งหลายยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ท่านผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู บวชมานาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และจักสำคัญถ้อยคำแห่งท่านเหล่านั้นว่า เป็นถ้อยคำอันตนพึงเชื่อฟังเพียงใด พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย เพียงนั้น

ภิกษุทั้งหลายไม่ตกอยู่ในอำนาจตัณหาที่เกิดขึ้นแล้ว อันเป็นเหตุให้เกิดในภพต่อไปเพียงใด พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

ภิกษุทั้งหลายจักพอใจอยู่ในเสนาสนะป่าเพียงใด พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

ภิกษุทั้งหลายจักเข้าไปตั้งความระลึกถึงเฉพาะตนได้ว่า ไฉนหนอ เพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลเป็นที่รักที่ยังไม่มา ขอจงมา และที่มาแล้วพึงอยู่เป็นสุขเพียงใด พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ จักตั้งอยู่ในภิกษุทั้งหลาย และภิกษุทั้งหลายจักปรากฏในอปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้เพียงใด ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น


(๕) อปริหานิยธรรม ๗ ประการ อีกหมวดหนึ่ง คือ

ภิกษุทั้งหลายจักไม่ยินดีการงาน จักไม่ขวนขวายความยินดีการงานเพียงใด ภิกษุทั้งหลายก็พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

ภิกษุทั้งหลายจักไม่ยินดีการคุย ฯลฯ

จักไม่ยินดีความหลับ ฯลฯ

จักไม่ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ฯลฯ

จักไม่เป็นผู้มีความปรารถนาลามก จักไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาลามก ฯลฯ

จักไม่คบมิตรชั่ว จักไม่มีสหายชั่ว จักไม่มีเพื่อนชั่ว ฯลฯ

จักไม่ถึงความท้อถอยเสียในระหว่างที่บรรลุคุณวิเศษเพียงเล็กน้อยเพียงใด ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ จักตั้งอยู่ในภิกษุทั้งหลาย และภิกษุทั้งหลายจักปรากฏอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ เพียงใด ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย


(๖) อปริหานิยธรรม ๗ ประการ อีกหมวดหนึ่ง คือ

ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้มีศรัทธาอยู่เพียงใด ภิกษุทั้งหลายก็พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้มีหิริ ฯลฯ

จักเป็นผู้มีโอตตัปปะ ฯลฯ

จักเป็นพหุสูต ฯลฯ

จักปรารภความเพียร ฯลฯ

จักเป็นผู้มีสติ ฯลฯ

จักเป็นผู้มีปัญญาเพียงใด

ภิกษุทั้งหลายก็พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ จักตั้งอยู่ในภิกษุทั้งหลาย และภิกษุทั้งหลายจักปรากฏอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ เพียงใด ภิกษุทั้งหลายก็พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น


(๗) อปริหานิยธรรม ๗ อีกหมวดหนึ่ง คือ

ภิกษุทั้งหลายจักเจริญสติสัมโพชฌงค์อยู่เพียงใด ภิกษุทั้งหลายก็พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

ภิกษุทั้งหลายจักเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ฯลฯ

จักเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ฯลฯ

จักเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ

จักเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ฯลฯ

จักเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ฯลฯ

จักเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อยู่เพียงใด ภิกษุทั้งหลายก็พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ จักตั้งอยู่ในภิกษุทั้งหลาย และภิกษุทั้งหลายจักปรากฏอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ เพียงใด ภิกษุทั้งหลายก็พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น


(๘) อปริหานิยธรรม ๗ อีกหมวดหนึ่ง คือ

ภิกษุทั้งหลายจักเจริญอนิจจสัญญาอยู่เพียงใด ภิกษุทั้งหลายก็พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น

ภิกษุทั้งหลายจักเจริญอนัตตสัญญา ฯลฯ

จักเจริญอสุภสัญญา ฯลฯ 

จักเจริญอาทีนวสัญญา ฯลฯ

จักเจริญปหานสัญญา ฯลฯ

จักเจริญวิราคสัญญา ฯลฯ

จักเจริญนิโรธสัญญาอยู่ เพียงใด ภิกษุทั้งหลายก็พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย เพียงนั้น

อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ จักตั้งอยู่ในภิกษุทั้งหลาย และภิกษุทั้งหลายจักปรากฏอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ เพียงใด ภิกษุทั้งหลายก็พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น


(๙) อปริหานิยธรรม ๗ อีกหมวดหนึ่ง คือ

ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน ๑

ความเป็นผู้ไม่ชอบคุย ๑

ความเป็นผู้ไม่ชอบหลับ ๑

ความเป็นผู้ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๑

ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑

ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ๑

กิจที่สงฆ์จะพึงทำมีอยู่ในสงฆ์ ภิกษุสำเหนียกในกิจนั้นอย่างนี้ว่า ก็พระเถระผู้รัตตัญญู บวชมานาน เป็นผู้รับภาระ มีอยู่ในสงฆ์ ท่านเหล่านั้นจะรับผิดชอบด้วยกิจนั้น ดังนี้ ไม่ต้องขวนขวายด้วยตนเอง ๑

ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้เสขะ


(๑๐) ธรรม ๗ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ คือ

ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ๑

ความเป็นผู้เคารพในธรรม ๑

ความเป็นผู้เคารพในสงฆ์ ๑

ความเป็นผู้เคารพในสิกขา ๑

ความเป็นผู้เคารพในสมาธิ ๑
ความเป็นผู้เคารพในความไม่ประมาท ๑

ความเป็นผู้เคารพในปฏิสันถาร ๑

ธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ


(๑๑) อปริหานิยธรรม ๖ อีกหมวดหนึ่ง คือ

พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งกายกรรม ประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายทั้งในที่แจ้งและที่ลับอยู่เพียงใด พึงหวังได้
ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายทั้งในที่แจ้งและที่ลับอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่ง
ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งมโนกรรม ประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับอยู่เพียงใด พึงหวังได้
ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

พวกภิกษุจักเป็นผู้แบ่งปันลาภอันเป็นธรรม ที่ได้มาโดยธรรม โดยที่สุดแม้มาตรว่าอาหารอันนับเนื่องในบาตร คือเฉลี่ยกันบริโภคกับเพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลทั้งหลายอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

พวกภิกษุจักมีศีลเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ในศีลอันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญแล้ว อันตัณหาทิฐิไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

พวกภิกษุจักเป็นผู้มีทิฐิเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ในทิฐิอันประเสริฐนำออกไปจากทุกข์ นำผู้
ปฏิบัติตามเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

อปริหานิยธรรมทั้ง ๖ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และหมู่ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรมทั้ง ๖ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น


(๑๒) ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อเสื่อมรอบ ชื่อว่าย่อมประพฤติใกล้นิพพานทีเดียว คือ

ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ๑
เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑
เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ๑
เป็นผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งมีความเพียรเครื่องตื่นอยู่ ๑

ภิกษุผู้ดำรงอยู่ในศีล สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ และย่อมประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเพียรเครื่องตื่นอยู่ ภิกษุผู้มีปรกติพากเพียรอยู่อย่างนี้ ไม่เกียจคร้านตลอดวันและคืน บำเพ็ญกุศลธรรมเพื่อถึงความเกษมจากโยคะ ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท หรือมีปรกติเห็นภัยในความประมาทเป็นผู้ไม่ควรเพื่อความเสื่อม ชื่อว่าประพฤติใกล้นิพพานทีเดียว

 

 

อ้างอิง:
(๑) อปริหานิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๙๓ หน้า ๒๘๕
(๒) หานิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๗
(๓) สารันททสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๙
(๔) ภิกขุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๑
(๕) กรรมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๒
(๖) สัทธิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๓
(๗) โพธิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๔
(๘) สัญญาสูตร ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๕
(๙) เสขสูตร ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๖
(๑๐) อัปมาทสูตร ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๙
(๑๑) มหาปรินิพพานสูตร ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๗๕
(๑๒) อปริหานิยสูตร ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๓๗
 
 
 

คำต่อไป